เลิกปลูกข้าวโพดที่น่าน อยู่ได้ไหม? มีรายได้จากผักอินทรีย์กว่า 5 หมื่นบาท/เดือน

ในพื้นที่ขายปลีก 1,200 บาท/วัน ขายส่งหน่วยงาน 20,000 บาท/เดือน ส่ง Lemon Farm  ตามมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS 8,000-10,000 บาท/เดือน (ถ้ามีแตงโมรายได้จะมากขึ้น) คนน่านผลิตอาหารดี เป็นเป้าหมายสำคัญ

ก่อนจะเริ่มอ่านเนื้อหาต่อไป ขอนำคำถาม ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ถามก่อนว่า “ห่วงโซ่ ของสินค้าเกษตรประเภทใดแข็งแรงมากที่สุด? เพราะเหตุใด?”

“จะมีอะไรที่แข็งแรงเท่าห่วงโซ่ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เอาของมาให้ก่อน ยังไม่ต้องจ่ายเงิน เมื่อได้ผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่ต้องหาตลาด มีคนมารับซื้อถึงที่ ปัญหาป่าน่านและการเกษตรเคมีเข้มข้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเมืองน่าน น่านติด Top 5 นำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใช้ในพื้นที่มากที่สุด โดยต้นทุนเกษตรกรปลูกข้าวโพด 6.70 สตางค์ ปี 2560 ขายได้สูงสุด 5 บาทต่อกิโลกรัมต่ำสุด 3 บาทต่อกิโลกรัม”

ดร.ธัญศิภรณ์ ตั้งคำถามต่อเนื่องว่า ถ้าจะให้เกษตรกรเปลี่ยนจะเริ่มต้นอย่างไร ให้เกษตรทำอะไร และเมื่อทำแล้วหากทำไม่สุด สุดท้ายก็จะเกิดล้นตลาด !

เปลี่ยนเพราะกลัวสารเคมีตกค้าง

ถามตัวเราเองก่อนเลยว่า “กลัวเรื่องสารเคมีตกค้างแล้วอยู่ในร่างกายเราเองไหม?” ส่วนใหญ่ตอบว่ากลัว แต่เพื่อให้มีเงินมาเลี้ยงชีพ ส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี ส่งหนี้สินธนาคาร ก็ต้องทำ และยิ่งมีการจัดการห่วงโซ่และการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แข็งแรงดังที่ ดร.ธัญศิราภรณ์กล่าวข้างต้นแล้ว โอกาสทีจะเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก

ทว่า ทั้งเกษตรกรทั้งสาม ตัดสินใจหันหลังให้กับรายได้ที่จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

กฤต อินต๊ะนาม มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดอยู่แถมเขาของต.เมืองจัง อ.ภูเวียง น่าน พาขึ้นไปดูพื้นที่ของตัวเองแล้วบอกว่า

“ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด ทำมาเกือบ 30 ปี เมื่อปี 2559 ญาติ และคนที่ทำข้าวโพดมาด้วยกัน ล้มหายตายไปเยอะ เพราะสารเคมีจากการทำข้าวโพดใช้เยอะมากใช้ถึง 5 ครั้ง กว่าจะได้เก็บผลผลิต ต้นทุนสูง เราไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เมื่อ ดร.ธัญศิภรณ์ มาให้ข้อมูลเรื่องเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักเราก็ไม่รู้ทำอย่างไร  ถูกส่งให้ไปเรียนรู้ที่สุพรรณบุรี กลับมาผมเปลี่ยนทันที เลิกการปลูกข้าวโพด ปรับพื้นที่เพียง 1 ไร่ ปลูกพืชผัก เรียนรู้จากพลับพลึง ในเวลาต่อมามีรายได้จากผักวันละ 800 บาท เพียงพอต่อรายจ่ายในครอบครัวซึ่งรวมถึงค่าเส่งลูกเรียน ตอนนี้สิ่งที่เราซื้ออย่างเดียวคือหมู เพราะในพื้นที่ ผักอยู่ที่นี่ ปลาก็ไมี ไก่ก็มี ไข่ก็มี สุขภาพดีขึ้น”

กลางพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งได้คืนพื้นที่ป่าให้กับทางการไปแล้ว กฤตนำชมพื้นที่ไร่ปลูกพืชผักประมาณ 1 ไร่ ซึ่งเป็นความพยายามในการเปลี่ยนดินที่เสียแล้วจัดการแบ่งทางน้ำธรรมชาติ และน้ำเสียจากการปลูกข้าวโพด ให้สามารถเพาะปลูกได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่กฤตปรับเปลี่ยนด้วยสูตรตัวเองนานนับปี รายได้หลักมาจาก ผักท้องถิ่น “มะนอย” คือมะเขือเหลี่ยม และผักอื่นๆ ขายผ่านทางช่องทาง โซเชียลมีเดีย คือ Line และ Facebook ส่วน “ฟักทองญี่ปุ่น” พันธุ์ของอาจารย์ท่านหนึ่งในน่าน ที่ปลูกในไร่ของกฤตได้แล้ว กำลังจะอยู่ในระบบ PGS เพื่อเตรียมส่งขายที่เลมอน ฟาร์มต่อไป ส่วนหนี้สินที่ยังมีอยู่จากการปลูกข้าวโพดราว 5 แสนบาทกับธกส. ได้รับการเปลี่ยนโครงสร้างหนี้เมื่อลงมือเลิกปลูกข้าวโพด เปลี่ยนพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก

ธนนท์ ณ น่าน เมื่อได้เป็นบัณฑิตรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแห่งปี 2557 ก็กลับบ้าน เพราะอยากเป็นเกษตรกร แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานด้านนี้ ก็ตาม เพราะพ่อแม่เป็นข้าราชการ เมื่อจะลงมือเป็นเกษตรกรก็ไม่พ้นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามความนิยมในพื้นที่

“ผมลงทุน 20,000 บาท ใช้สารเคมีมาก และเราคุมอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างอยู่ในระบบ เมื่อผลผลิตข้าวโพดชุดนั้นเรียบร้อย ผมมีรายได้กลับมา 20,000 บาท เลยตัดสินใจเลิกทำข้าวโพด แล้วมาสนใจเกษตรอินทรีย์ ก็มาเจอพี่พลับพลึง จึงได้เข้ามาเรียนรู้เป็นลูกศิษย์ และเลือกปลูกเลม่อนในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งที่ต้องเป็นเลม่อนเพราะรู้สึกว่าเท่ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำเกษตอินทรีย์ ”

พลับพลึง ที่กล่าวถึงคือชื่อที่เรียกติดปากของคนในพื้นที่ ซึ่งก็คือ ศุภลักษณ์ สุวรรณ เจ้าของไร่บ้านไผ่งาม อ.เวียงสา จ.น่าน จากเดิมที่ทำเมล็ดพันธุ์ อยู่กับสารเคมีทุกวัน 24 ชั่วโมง พัก 4 ชั่วโมง เธอยอมรับว่า การเป็นลูกจ้างที่บริษัทแห่งนี้รายได้ดีมาก โบนัสปีละ 4 ครั้ง โอทีชั่วโมงละ 150 บาท เงินเดือนต่างหาก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือสุขภาพทั้งของตัวเองและเกือบเสียลูกไป หลังจากตั้งครรภ์แล้วอาเจียนเป็นเลือด

ที่ไร่บ้านไผ่งามของศุภลักษณ์ ได้เริ่มต้นจากการเช่าพื้นที่เล็กๆ ที่ปล่อยรกร้าง จนกระทั่งเข้าสู่ระบบ PGS เป็นความอดทนค่อนข้างมากในการทำเกษตรอินทรีย์ โดย 2 ปีแรกพื้นที่ ผลผลิตเป็นครู แต่ 2 ปีหลัง ศุภลักษณ์เป็นครู ดูแลวัชพืชได้เอง เพราะเมล็ดพันธุ์ได้เอง ทำปุ๋ยอินทรีย์ได้เองซึ่งเหมาะกับพื้นที่ เมื่อพืชพันุธ์เติบโต ได้ซื้อพื้นที่ดังกล่าวและขยายพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ตามระบบPGS ที่ฝ่ายส่งเสริมของเลมอน ฟาร์ม มาช่วยให้คำแนะนำดูแล จึงสามารถกำหนดวันปลูก วันเก็บเป็นรอบๆ ไม่ว่าจะเป็นผักสลัดต่างๆ เรด โอค กรีน โอค คะน้าสายพันธุ์ญี่ปุ่น ถั่วลันเจา แตงล้าน มะเขือทศพันธุ์อีเป่อ ด้วยความตั้งใจอดทนเปลี่ยนแปลง ของครอบครัว สุวรรณ ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้เปิดรับผู้สนใจมาดูงานอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ซึ่งครอบครัวจะให้การต้อนรับพร้อมกับลูกศิษย์คือธนนท์ ซึ่งนำชมการเพาะต้นก่อนนำลงดิน

“คุณหมอบอกว่าเลือดในตัวเป็นสีดำเกิดจากการรับสารเคมี ซึ่งคนเป็นแม่รับได้แต่ลูกรับไม่ได้ จึงอาเจียนออกมาเป็นเลือด คุณหมอให้เลือก 2 อย่าง ถ้ารักงานให้เอาลูกออก แต่ถ้ารักลูกออกจากงาน ให้เวลาคิด 1 คืน แต่ก็ต้องยอมรับสภาพของลูกที่อาจจะพิการออกมาด้วย เลยบอกคุณหมอว่า ไม่ต้องคิด เลือกออกจากงาน เก็บลูกไว้ คุณหมอแนะนำให้มีวิถีชีวิตการกินอยู่ ใหม่ทั้งหมดทำแบบคนโบราณ สภาพท้องถิ่นอากาศเป็นอย่างไร ก็กินแบบนั้น โดยไม่แตะสารเคมี และต้องยอมรับสภาพที่ลูกจะออกมา ปัจจุบันน้องแตงโมลูกสาวอยู่ม.5 สุขภาพสมบูรณ์”

ปัจจุบัน ไร่บ้านไผ่งาม มีรายได้ในพื้นที่ขายปลีก 1,200 บาท/วัน ขายส่งหน่วยงาน 20,000 บาท/เดือน ส่งเลม่อน ฟาร์มตามมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS 8,000-10,000 บาท/เดือน (ถ้ามีแตงโมรายได้จะมากขึ้น)

พร้อมกันนี้มี 12 ครอบครัวเข้ามาเป็นสมาชิก ไร่บ้านไผ่งาม เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงกระบวนการปลูกการดูแล นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ภาคเอกชน ภาครัฐบาล เกษตรกร ทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดมาดูงาน เกษตรกรอินทรีย์ PGS

เกษตรกรอินทรีย์ PGS เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก

มาถึงเวลานี้ เรื่องของเกษตรอินทรีย์ ต่างเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่า เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมาตรฐาน IFOM เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดย สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) มารองรับ แต่ก็จะเหมาะสำหรับรายใหญ่ที่สามารถส่งออกต่างประเทศ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ยังไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่หลากหลาย จึงเป็นที่มาของการเกิด “ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางการส่งเสริมของเลมอนฟาร์ม” ( Lemon Farm Organic Participatory Guarantee System หรือ เกษตรกรอินทรีย์ PGS)

“เกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด จะต้องมีการรับรองอย่างสากล ซึ่งในที่นี่ IFOM PGS สู่การรับรองแบบท้องถิ่นได้ สอดคล้อง IFOM สากล โดย PGS ต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดการสมดุลของชีวิต และสิ่งแวดล้อม มีหลักเรื่องความซื่อตรงกำกับ มีหลักการทำงานชัดเจน มีหลักการตรวจสอบย้อนกลับ มีหลายหน่วนงาน ซึ่งเสมือนเป็น บุคคลที่ 3 เป็นผู้รับรอง”

สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม ขยายความต่อว่า ปัจจุบันเครือข่าย Lemon Farm Organic PGS มี 11 กลุ่ม 8 จังหวัด พื้นที่ 2,009 ไร่ สมาชิก 197 ครอบครัว เป็นการดำเนินการโดยเลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการพัฒนารูปแบบกรณีศึกษาการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดจนถึงการผลิตของเกษตรกรรายย่อย

เริ่มต้นในปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 เดือน ในขั้นต้นมีเกษตรกรรายย่อยเป็นสมาชิกจำนวน 53 ราย พื้นที่ที่เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ 328 ไร่ ใน 7 อำเภอของจังหวัดน่าน จาก 3 เครือข่ายย่อย ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอสน่าน, กลุ่มฮอมใจ๋คนกล้าเกษตรอินทรีย์ พีจีเอสและกลุ่ม Cu Nan

ดร.ธัญศิภรณ์ (ซ้าย) และสุวรรณา เดินหน้าอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องเรื่องเกษตรอินทรีย์ PGS ตามเป้าหมาย คนน่านผลิตอาหารดีให้ชาวน่าน

เมื่อเข้าสู่กระบวนเกษตรอินทรีย์ได้หยุดการใช้สารเคมีเกษตรโดยสิ้นเชิง หยุดการปลูกข้าวโพด หยุดการบุกรุกป่าโดยทันที โดยเปลี่ยนมาสู่การฟื้นฟูดินในวิถีเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันในจำนวนสมาชิก 53 ราย ผ่านการรับรอง Organic PGS แล้ว 18 ราย อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 33 ราย ทั้งนี้เกษตรกรที่ผ่านระยะปรับเปลี่ยน 1 ปีแล้ว ได้เข้าสู่การเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ตามความเหมาะสมของพื้นที่

ปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS จำหน่ายใน จ.น่านและจำหน่ายในระบบตลาดของเลมอนฟาร์มแล้ว ได้แก่ ผักสลัดและพืชผักต่างๆ แคนตาลูป เกฟกูสเบอรี่ ข้าวก่ำ ถั่วต่างๆ ลูกเดือย งาขี้ม้อน เป็นต้น

วิถีเกษตรน่านเปลี่ยนได้ด้วย “ใจ” ไม่ต้องรอให้เกิดความ “กลัว”

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ประเทศไทยอยู่ในระบบการเกษตรสารเคมี และใช้กันอย่างแพร่หลายมานานถึง 40 ปี เงินยังไม่ต้องจ่าย มีคนเอาพันธุ์ข้าวโพดมาให้ เอาปุ๋ยเคมีมาให้ มารับผลผลิตที่ไร่ เพราะมีตลาดอยู่แล้ว

ข้อเท็จจริงต่อมา จากงานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ปี 2559) ระบุว่า จังหวัดน่านมีการใช้สารเคมีด้านการเกษตรมีปริมาณสูงถึงปีละ 2,400,000 กก./ปี และจากสุ่มตรวจปลาในแม่น้ำ ซึ่งพบสารเคมี ไกรโฟเซต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม พบมีปริมาณสูงกว่า 10,000 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณความเข้มข้นที่เกินค่ามาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และมาตรฐานสากลของ Codex ที่ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ไกรโฟเซต, อาทราซีน, พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ปนเปื้อนในน้ำประปาหมู่บ้าน และโรงผลิตน้ำดื่มทั่วทั้งจังหวัดน่าน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ปัญหาสารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัดน่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สารเคมีทางการเกษตร หรือ ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา น้ำดื่ม ซึ่งจากการสุ่มตรวจน้ำ 9 ตัวอย่างจาก 8 อำเภอในจังหวัดน่าน พบมีสารอาทราซีน หรือยากำจัดวัชพืช ปนเปื้อนในน้ำประปาเข้มข้น ค่าเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ในประเทศออสเตรเลียคือ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานสารเคมีชนิดนี้ในน้ำดื่ม

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คนน่านอาจจะรู้หรือไม่รู้คือ “น่านพึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอก 92%” พื้นที่ผลิตพืชอาหารมีจำนวนน้อย โดยมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการปลูกพืชอาหารดังนี้

1. พื้นที่เพาะปลูกพื้นผัก 35,929 ไร่
2. พื้นที่เพาะปลูกผลไม้ 103,845 ไร่
3. พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น 137,511.75 ไร่
4. พื้นที่นาปี 227,927 ไร่ นาปรัง 1,585 ไร่ ข้าวไร่ 41,587ไร่ รวม 271,099 ไร่

น่านประสบปัญหาภาวะการณ์พึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอกจังหวัด จากผลการสำรวจสินค้าเกษตรในท้องตลาด พบว่าสัดส่วนการนำเข้าของวัตถุดิบและอาหารถึงร้อยละ 92 และอาชีพเกษตรกรมีสถิติรายจ่ายด้านการซื้อผักบริโภคสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆในจังหวัดน่าน (สำนักงานสถิติจังหวัดน่าน,2557) เพราะเกษตรกรส่วนมากมุ่งเน้นการทำเกษตรที่มุ่งหวังให้เกิดรายได้ ไม่ได้เพาะปลูกพืชผักและไม่นิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้เป็นแหล่งอาหาร

นับเป็นความพยายามเล็กๆ ที่ให้เกษตรกรน่าน หลุดจากอาชีพเดิมๆ คนน่านผลิตอาหารดีให้ชาวน่านจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

ที่ข่วงเมืองน่าน จ.น่าน เลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา (Pledge) ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์PGSน่าน ที่มุ่งแสดงเจตจำนงทำการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาในการใช้ห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบเพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ. น่าน และร่วมแก้ปัญหาป่าน่านที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40% และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน

ข่าวเกี่ยวข้อง

Stay Connected
Latest News