บัณฑูร ล่ำซำ “ถ้าไม่ฝันให้ไกล เราจะติดอยู่ในโลกแคบๆ แบบเดิม ซึ่งไม่มีวันชนะ”

ใต้เรือนบ้านเจ้าสัวยามเย็น คือเวทีพูดคุยที่บัณฑูรจะชี้แจงการทำงานแบบ Nan Sandbox (น่านSandbox ) กับผู้นำชุมชนทั้ง 99 ตำบลของจังหวัด แก้ปัญหาทำกินที่มีผลกระทบต่อป่าต้นน้ำ เมื่อชี้แจงได้ข้อตกลงกลาง จะค่อยๆ แก้ปัญหาทำงานต่อไป

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการพูดคุยกับ ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ช่วงเวลาเย็นๆ ว่า มาจากการตัดสินของคณะกรรมการการขับเคลื่อนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีการทดลองการแก้ไขในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ที่น่านก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการอนุมัติในการที่จะแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่าน เกิดภูเขาหัวโล้น ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมาโดยตลอด โดยมีคณะทำงานพิเศษ ดึงเอาเจ้าหน้าที่รัฐทุกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานเป็นทีมกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาพิเศษ มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา

“ขณะนี้ต้องบอกว่าป่าต้นน้ำน่านหายไปแล้ว 28% ป่าน่านเป็นป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย พื้นที่ที่ถูกกฎหมายในจังหวัดน่านมีน้อยมาก ทุกคนก็ติดอยู่ในป่าสงวนซึ่งมีถึง 85% มานานแล้ว เพราะเวลาไม่มีที่ทำกินก็ไปตัดป่า เพราะฉะนั้นเป็นความสูญเสียทุกฝ่าย และก็ใช่ว่าจะได้รายได้อะไรมากมาย ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวโพด ซึ่งไม่ได้รายได้มาก แต่สิ่งที่แลกไปคือ ป่าชั้น 1 ของประเทศไทย อันนี้ต้องหาทางว่า ทำอย่างไรป่าก็กลับมาคืนได้จำนวนหนึ่ง และประชาชนมีวิธีการทำมาหากินที่ดีขึ้นกว่าเดิม จะได้ไม่มีความกดดันที่จะไปตัดป่าสงวน”

บทสนทนาเริ่มต้นอธิบายถึง “โจทย์”

บัณฑูร : เมื่อ 5 เดือนที่แล้วที่เชิญมา แล้วผมบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะยอมให้ใช้รูปแบบการบริหารป่านต้นน้ำน่าน พร้อมๆ กับการแก้ปัญหาการทำมาหากินของจังหวัดน่านในภาคเกษตร ซึ่งป่าก็ต้องรักษา ปากท้องประชาชนถ้าไม่รักษาทุกอย่างก็ล้มหมด ถ้าจะมารอประกันพืชไร่ ก็ไม่ใช่ชีวิตจริง ไม่อยากทำอย่างนั้น

ไม่อยากเล่นเกมส์เล็ก ไม่อยากให้คิดแค่เล็กๆ อยากให้คิดใหญ่ เป็นพื้นที่ที่คนมีชีวิตที่ดี มีอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานในการทำมาหากิน และรักษาความยั่งยืนของธรรมชาติ ของนิเวศน์วิทยาที่มีคุณูปการของความเป็นไปต่อดินฟ้าอากาศในประเทศด้วย อยากตั้งโจทย์อย่างนี้

คำถาม ที่เขาอนุมัติให้ทำ ทำอะไร คือขั้นแรก ถ้าประชาชนทั้งจังหวัดทำการเกษตรแล้วผิดกฎหมายทั้งหมดเลย ย่อมเป็นภาวะที่รับไม่ได้ อันสืบเนื่องมาจาก การประกาศว่าเป็นป่าสงวนเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ก็ติดอยู่กับความไม่ถูกต้องที่ตัวเองไม่ได้ทำ และไม่รู้จะโทษใคร เพราะประกาศแล้ว อยู่ดีๆ จะไปยกเลิกคงทำไม่ได้ และประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะติดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ผิดอีก

โจทย์ที่ต้องตอบ และควรจะต้องลงมือทำ

 

ข้อเสนอคือว่า เราต้องพบกันครึ่งทางระหว่าง รัฐ และประชาชน คือมีพื้นที่กลับมาปลูกให้เป็นป่าได้บ้าง แต่มีสิทธิ์ที่จะทำมาหากินในป่าสงวนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยการไม่ปลูกข้าวโพด ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะ 2 อย่างเมื่อคำนวนตัวเลขออกมาแล้วอยู่ไม่ได้ ชีวิตมันอยู่ไม่ได้ ในที่ที่มีที่จำกัดแบบนี้ เราจะทำเกษตรชั้นต่ำ อยู่ไม่ได้ เราต้องไปหา โลกนี้มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่านี้เยอะ อย่าคิดอับจนอยู่แค่นี้ อย่าคิดเพิ่มแค่ 5% 10% ต้องคิดเพิ่มเป็นเท่าตัว คิดเพิ่มเป็นหลายๆ เท่าตัว เพราะคณิตศาสตร์ของชีวิตบีบอย่างนั้น

ก็ต้องคิดต่อว่า ถ้าแค่ต่อ 1 ไร่ ของที่ที่มีจำกัดนี้ ถ้าเราสร้างรายได้ต่อไร่ต่อหัวของประชาชนไม่ได้ เราก็ไม่มีวันชนะ อย่าบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมันมีที่ใดๆในโลกนี้ที่หินแบบนี้ หรือหินมากกว่านี้ มันทำได้มาแล้ว

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตกลงกันใหม่ว่า จัดสรรสิทธิในการทำกิน แต่การที่ป่าสงวนน่านถูกทำลายไป 28 % จะไม่เอากลับมาปลูกคืนเลยนี่ รัฐบาลรับไม่ได้ ผมพูดแทนรัฐบาลก่อนเลย มันต้องมีตัวเลขตรงกลาง ที่รัฐบาลจะพูดได้ว่าเขาก็ได้ป่าคืนมา แต่ประชาชนก็ได้สิทธิ์ในการทำมาหากิน จะไม่มีใครผิดกฎหมายอีกต่อไป เซ็ทซีโร่ เริ่มต้นใหม่ ตกลงใหม่ และถูกกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ไปแก้กฎกติกาต่างๆ เมื่อรับตัวเลขกลางที่ตกลงกันได้

เราต้องมีตัวเลขที่รัฐบาลรับได้ ผมยังไม่รู้ว่าตัวเลขนั้นคืออะไร ยังไม่คุยตัวเลข แค่มองว่า หากไม่พบกันครึ่งทางก็ไม่มีวันเจรจากันได้ ตัวเลขจึงเป็นตุ๊กตา ไม่รู้ทำได้หรือไม่

ตุ๊กตาก็คือว่า ใน 28% คือ 18 +10 % สีเหลืองกับสีแดง ซึ่งตอนนี้เป็นเขาหัวโล้นแล้ว เปลี่ยนเป็นป่ากลับไปสัก 18% ได้ไหม ไม่ใช่ปลูกข้าวโพด แต่ต้องปลูกอะไรที่อยู่ใต้ต้นไม้ได้ มีพื้นที่ทำกิน อันนี้หาได้ ในโลกนี้มันมี ไม่เช่นนั้นคนอยู่ไม่ได้

ส่วนอีก 10% สีแดงก็เป็นป่าสงวน แต่ว่าไม่ต้องปลูกเป็นต้นไม้ใหญ่ แต่เป็นที่ๆ ปลูกพืชอะไรได้ แต่เมื่อที่จำกัดเช่นนี้ จะไปปลูกพืชชั้นต่ำไม่ได้

นอกจากนี้ เราจะคำนวนตัวเลขที่ได้จากต่อไร่ต่อคนซึ่งไม่พอกิน เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเราหาอย่างอื่น เพราะมีองค์ความรู้ในโลกนี้ที่จะช่วยได้ แต่ถ้าไม่ฝันให้ไกล เราจะติดอยู่ในโลกแคบๆ แบบเดิม ซึ่งไม่มีวันชนะ เอาเป็นว่า เมื่อจัดสรรใหม่ เราจะไปเอาอะไรที่ได้มาปลูกในพื้นที่ที่เล็กลงไป แต่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ได้ มันยังมีกระบวนการวิทยาศาสตร์ การแปรรูป ฯลฯ

บทสนทนามาถึงเรื่อง “ค่าชดเชย และที่มาของเงิน”

บัณฑูร : เรื่องเงินชดเชย เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะอยู่ดีๆ จะให้เขาหยุดปลูกในสิ่งที่เขาปลูกทำมาหากินอยู่เลี้ยงชีวิตอยู่ แล้วเขาเอาอะไรกิน เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องมีเงินมาช่วยขั้นหนึ่ง และซื้อเวลาที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่สร้างสรรค์กว่า ในพื้นที่ที่น้อยลงไปกว่าเดิม

โดยที่มาของเงินสำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่เงินงบประมาณของรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะที่มาของเงินเพื่อช่วยเรื่องแบบนี้ในโลกสามารถหาได้แหล่งทุนได้หลายกองทุน เช่นกองทุนสีเขียวต่างๆ ซึ่งต้องศึกษา

บรรยากาศใต้เรือนเจ้าสัว ได้สนทนา แลกเปลี่ยนมุมมองเตรียมตัวเพื่อให้เกิด น่าน Sandbox
บทสนทนาสุดท้าย “ตอบชุมชน 99 ตำบล”

ตัวแทนชุมชน : ในพื้นที่ผมเป็นห่วง แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เปอร์เซนต์ที่ทำกินไม่เหมือนกันคือที่บุกรุก มีอีกข้อที่อยากเรียนถามด้วยว่า ในประเด็นนี้เราคุยกัยเฉพาะป่าสงวนแห่งชาติ หรือรวมอุทยานด้วย

บัณฑูร : ตัวเลข 100% ของป่าสงวนต้องถือว่ารวมอุทยานแห่งชาติด้วย สีเหลืองเราทำงานอยู่ในพื้นที่นั้นได้ แต่ต้องขอว่าให้มีต้นไ้ม้สูงๆ

ตัวแทนชุมชน : ครับสีเหลืองคือสิ่งที่เราทำงานได้ แต่วันนี้หากไม่คุยถึงพืชตัวใหม่ที่จะเข้ามาปลูกแทนข้าวโพดได้จะลำบากพอสมควร ถ้าราคาข้าวโพดยังดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต อันนี้ก็เป็นห่วงนิดนึง

บัณฑูร : ราคาข้าวโพดดีขึ้นเหรอ ?

ตัวแทนชุมชน : ตอนนี้เริ่มดีขึ้น ก็เป็นห่วงนิดๆ

บัณฑูร : อะไร ? ดีขึ้นแค่นี้ดีใจแล้ว…โอ้ย…อะไรจะคิดเล็กแบบนี้

ตัวแทนชุมชน : แต่ว่าในโอกาสหน้า ถ้ามีพืชตัวใหม่ ก็น่าจะอุ่นใจได้ และเราพร้อมจะสนับสนุน แต่เราห่วงในพื้นที่ ถ้าเราจะให้เดินแบบเร็ววัน กลัวว่าจะยาก

บัณฑูร : ตอนนี้เรายังทำเหมือนเดิมทุกอย่างนะ จนกระทั่งเราได้ข้อตกลง เริ่มคิดใหม่

ตัวแทนชุมชน : ผมเห็นว่า เราไม่ชัดเจนว่าเราจะวางอะไรให้ชาวบ้าน ชาวบ้านเขาพร้อมเขาก็ไม่อยากอยู่ในป่าเหมือนกัน แต่วันนี้ 99 ตำบลเราน่าจะมาหารูปแบบทำแบบที่ท่านบัณฑูรพูด ปลูกต้นไม้ต้นใหญ่ก็มีอยู่เยอะในพื้นที่ เราน่าจะไปหาต้นแบบที่เขาทำอยู่ มีสวนมีป่า แล้วเอาต้นแบบตรงนั้นมาวางรูปแบบระดับตำบล แล้วเรานำเสนอดูในพื้นที่ ว่าจะเกิดอุปสรรค ปัญหาอะไร ชาวบ้านมีความคิดเห็นอย่างไรในเวทีต่อไป ผมคิดอย่างนั้นนะ

ถ้าเอาวิธีนี้คงไม่เสร็จ เพราะเป็นข้อเสนอ แล้วไปหารูปแบบ แต่ละพื้นที่ และเอาแต่ละพื้นที่ 28% เราจะทำอย่างไรให้เกิดป่า ส่วนที่ชาวบ้านต้องการ ทุกวันนี้นะครับ ผมพูดตรงๆ นะครับว่า ตัวหนี้สิ้น เท่านั้นแหละครับ หนี้สินกับป่า เราแค่บอกว่า เอาหนี้สิ้นคุณไป แล้วเอาป่าคืนมาทั้งหมด อย่างนี้ชาวบ้านก็ยอม และอีกหลายอย่าง กฎหมายบางตัว เรื่องการปลูกไ้ม้สักไม้ประดู่ 13 ชนิดเอาไปปลูกที่ป่า ก็ไม่ให้ปลูก ถ้าเราปลูกคืนหมดเลยก็ให้เขารักษาป่า 5 ปี 10 ปีป่าใหญ่ ก็คืนให้เขาไป แล้วชดเชยให้ชาวบ้านที่เขารักษาป่าที่อยู่ตรงนี้ ผมว่าถ้าเรา มีข้อเสนออย่างนี้ ชาวบ้านก็ได้ค่ารักษา และป่าก็คืนทั้งหมด ผมเชื่อแน่ว่าชาวบ้านเข้าใจ แต่วันนี้เรายังหารูปแบบไม่ได้ว่า เราจะไปทำอย่างไรกับชาวบ้าน ถ้าเราหารูปแบบ 99 ตำบล ข้อมูลชัดเจน ผมเชื่อแน่ว่าชาวบ้านไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

แต่วันนี้ขนาดพื้นที่บ้านผมอยู่ตรงที่ชลประทานน้ำมีตลอด กลางทุ่งนา ก็น่าจะปลูกผักหรืออะไรก็ได้ แต่ก็ปลูกข้าวโพดอีก อันนี้คือชาวบ้านไง ชาวบ้าน เพราะฉะนั้นวันนี้หากเราหารูปแบบ 99 ตำบล ผมเชื่อแน่ว่าชัดเจนครับ

บัณฑูร : หนี้สิน บันทึกด้วยนะครับ จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา

ตัวแทนชุมชน : สำหรับพื้นที่ของผม พร้อมยื่นเลยครับ

“รูปแบบที่ผมทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะมีคณะทำงานที่รวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนจะต้องไปแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ รวมอยูในคณะเดียวกัน แล้วคุยกับชาวบ้านทั้งจังหวัดพร้อมๆ กัน นี่เป็นรูปแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ถ้าสำเร็จคือประชารัฐเลย เพราะประชาชนและรัฐบาลตกลงกันได้ และตกลงกันได้ทั้งจังหวัด ในการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่ทำกินในพื้นที่ ซึ่งจริงๆ ของจังหวัดน่านเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่ยากที่สุด เพราะ 85% ของพื้นที่จังหวัดน่านเป็นป่าสงวน และเป็นป่าต้นน้ำด้วย”

เมื่อปี 2558 บัณฑูร ล่ำซำ และศุภชัย เจียรวนนท์ ร่วมปลูกป่าน่าน ในผืนที่ที่ชุมชนคืนพื้นที่ทำกินที่ใช้ปลูกข้าวโพดให้ป่าสงวน ซึ่งระหว่างทางไม่ว่าจะมองไปด้านใดก็เต็มไปด้วย ข้าวโพด ข้าวโพด และข้าวโพด

บัณฑูร กล่าวในท้ายที่สุดว่า ตั้งแต่ที่เข้ามาที่น่านถึงวันนี้ที่มีงานนี้เกิดขึ้นขึ้นเพิ่งถือเป็นการเดินขึ้นบันไดขั้นที่ 1 ประตูเปิดให้ทำ เมื่อก่อนไม่มีทางทำได้ เพราะเขาไม่เปิดให้ทำ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องการศึกษา วิเคราะห์ว่าทำไมเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ทำไมป่าต้นน้ำน่านสูญเสียไปเรื่อยๆ หายไป 28% ใน 28 ปีที่ผ่านมา ทำไมถึงแก้ไม่ตก ตอนนี้วิเคราะห์โจทย์แล้วเสนอรัฐบาล ก็ให้ลองดู

“ตอบไม่ได้ว่าจะสำเร็จไหม เพราะไม่เคยทำมาก่อน เรายังไม่ตอบว่าจะขึ้นไปขั้นสูงสุดเมื่อไหร่ เพราะหากตกลงกันไม่ได้ตรงกลาง เราก็ไม่ต้องขึ้นไปขั้น 2 ก็ต้องจบเลิก แต่ก็หวังว่า 3-6 เดือนจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้างเพราะทุกคนแข่งกับเวลาด้วยกันทั้งนั้น”

ข่าวเกี่ยวข้อง

Stay Connected
Latest News