ลมหนาวเริ่มมาเยือนบนดอยตุงอีกครั้ง เป็นสัญญาณแห่งสีสัน รอยยิ้มและความสนุกสนานที่จะเกิดขึ้นในเทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่4” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ธ.ค. 2560 – 28 ม.ค.2561 ณ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
เทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง” จัดเป็นประจำทุกปี โดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีในการเสริมศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวบ้าน และที่สำคัญ คือ การสืบสานพระราชปณิธาน “ช่วยให้ เขาช่วยตัวเอง” ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า ในการส่งเสริมให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
การก้าวสู่ปีที่ 4 ของงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ การ “สานต่อ – ต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จย่า พร้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
โดยไฮไลต์ภายในงาน อาทิ งานศิลปะสร้างสรรค์ ผสมผสานภูมิปัญญาและเทคนิคระหว่างช่างฝีมือท้องถิ่นกับสถาปนิกคนเมือง , กาดชนเผ่า ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมือง ทั้งอาหารของทั้ง 6 ชนเผ่าที่หาทานได้ยาก งานหัตถกรรม ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 80 ร้านค้าที่จะมาตั้งเรียงรายต้อนรับนักท่องเที่ยวบนถนนคนเดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีงานเวิร์คช็อปงานทำมือ อาทิ งานปั้น เพ้นท์เซรามิค เย็บสมุดกระดาษษา เพื่อสานต่อพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนการละเล่นอีกมากมายที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวัฒนธรรมพื้นเมืองอย่างใกล้ชิด
ที่พลาดไม่ได้คือจุดท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้บนดอยตุง ได้แก่พระตำหนักดอยตุง หรือ “บ้านสมเด็จย่า” ที่สะท้อนถึงพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายและพอเพียงชองสมเด็จย่าได้ชัดเจน , หอแห่งแรงบันดาลใจ สถานที่รวบรวมแนวคิดและพระราชประวัติของสมเด็จย่าและราชสกุลมหิดล จุดกำเนิดพระราชกรณียกิจแห่งการให้อันยิ่งใหญ่
สวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ที่ร่มรื่นสีสันงดงามไปด้วยดอกไม้นานาพรรณที่ปรับพื้นที่ใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมความงดงามของดอกไม้ได้อย่างใกล้ชิด และสะพานเดินเรือนยอดไม้ ยาว 300 เมตร เป็นการผจญภัยท้าทายบนความสูงสุดยอดไม้เพื่อจะได้เห็นผืนป่าดอยตุงอันเขียวขจี
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ขยายความของคอนเซ็ปต์ “สานต่อ – ต่อยอด” ว่า
“ งานสีสันแห่งดอยตุง ในปีที่ 4 นั้น เราต้องการ สานต่อและต่อยอด โดยเน้นให้ชุมชนบนดอยตุงสามารถพัฒนายกระดับสินค้าของพวกเขาให้มีมาตรฐาน มีการปรับแพคเกจจิ้งให้ทันสมัย หรือเข้าไปสอนเรื่องการออกแบบที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนเมือง เพื่อให้สินค้าชุมชนสามารถลงไปขายในเมืองใหญ่หรือกรุงเทพฯได้ โดยผ่านโครงการดอยตุง พลัส”
ดอยตุง พลัส เป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม ทำหน้าที่เป็น Retail Operationโดยมีเป้าหมายคือทำการตลาดเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม สินค้าชุมชนที่ผ่านช่องทางนี้จะต้องเป็นสินค้าเพื่อสังคม ไม่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยต้นปี 2561 ดอยตุง พลัสจะใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Pop Up Store ตามออฟฟิศ บิวดิ้งต่าง ๆในกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน ม.ล.ปนัดดา ยังกล่าวเสริมอีกภาระกิจหลักของดอยตุงคือ การสร้างทางเลือกอย่างยั่งยืนให้กับคนรุ่นใหม่บนดอยตุง เพื่อสกัดลูกหลานหรือคนรุ่นใหม่ออกจากพื้นที่ไปหางานทำนอกพื้นที่ ดังนั้นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจึงพยายามส่งเสริมอาชีพ สร้างแรงจูงใจ สร้างผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันกับคนในเมืองใหญ่ได้
“ ปัจจุบันชุมชนบนดอยตุงสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ตอนนี้ในชุมชนก็เริ่มทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาแล้ว เราจึงอยากให้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกทำงานในพื้นที่ อยากให้พวกเขารู้สึกว่าดอยตุงคือหนึ่งในทางเลือกที่เขาอยากมาทำและมีความสุข”
ข่าวเกี่ยวข้อง