เดิมชาวประมงชายฝั่งระยอง มีรายได้หลักร้อยบาท/วัน จากการออกทะเลไกล 5-15 ไมล์ทั้งวัน แต่ 6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเดิมมีรายได้เป็นหลักพันบาท/วัน ด้วยระยะทางออกทะเลเพียง 700 เมตรราว 4-5 ชั่วโมง สิ่งที่ช่วยเปลี่ยนคือ “บ้านปลา”
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์เอสซีจี สนทนาถึง 7 เรื่องสำคัญ ตลอด 7 ปี ในงานที่เอสซีจีร่วมภาครัฐและชุมชนประมงพื้นบ้าน จัดกิจกรรม “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี” ณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ ระยอง ซึ่งในปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที ของเอสซีจี ซึ่งมุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานจาก “จากภูผาสู่มหานที” เพื่อเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในปีนี้
-ความสำเร็จเกิดจากอะไรตลอด ตลอด 6 ปีที่ร่วมมือกันมากระทั่งสู่ปีที่ 7
ชลณัฐ : เอสซีจีได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นโครงการบ้านปลาหัวใจสำคัญไม่ใช่แค่เพียงไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พลังของจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน
-ขอกลับมาที่จุดเริ่มต้นของบ้านปลา เอสซีจีมองเห็นปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นอย่างไร
ชลณัฐ : โครงการบ้านปลาเอสซีจีริเริ่มขึ้นในปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนการดำเนินธุรกิจในจังหวัดระยองทำให้เอสซีจีได้ใกล้ชิดกับชุมชนและเล็งเห็นถึงปัญหาปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง จัดทำโครงการบ้านปลาเอสซีจีขึ้น โดยเอสซีจีได้นำท่อ PE 100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา
-ทราบว่ามีการขายายายผลความร่วมมือกับทุกภาคส่วนหลังเริ่มโครงการทันที
ชลณัฐ : นับตั้งแต่จัดวางบ้านปลาเป็นครั้งแรกในปี2555 เอสซีจีได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ กลุ่มประมงพื้นบ้านและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อศึกษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยการสำรวจในเดือนธันวาคมปี 2560 พบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการจัดวางบ้านปลามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจกลุ่มปลาสวยงามกลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อนกลุ่มสัตว์เกาะติดและกลุ่มแพลงก์ตอน
นอกจากนี้ สิ่งที่เราพบคือ พื้นที่ที่วางบ้านปลา จะต้องไม่เป็นเลน บ้านปลาแพ้เลน หรือดินเละๆ เมื่อวางแล้วจะจมลงไป ปลาจะเข้ามาอยู่น้อย บ้านปลาจะต้องวางบนพื้นทรายในทะเล และต้องดูกระแสน้ำ บางพื้นที่วางบ้านปลาผิดกระแสน้ำปลาก็จะไม่อยู่ ซึ่งบริเวณทะเลตราดจะมีลักษณะเป็นเลนค่อนข้างมากเช่นเดียวกับชลบุรี ส่วนจันทบุรียังมีพื้นที่เป็นทรายมากกว่า จะสามารถวางบ้านปลาได้สะดวกกว่าแบบระยอง
-เข้าสู่ปีที่ 7 องค์ความรู้ใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมีอะไรบ้าง
ชลณัฐ : เอสซีจีพัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ คือวางครั้งเดียวเป็นกลุ่ม 10 หลัง โดยผูกเข้าด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ระบบนี้ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการวางบ้านปลา รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางบ้านปลาแบบเดิม และเริ่มพัฒนาบ้านปลาต่อเนื่องตามแนวคิด Circular Economy
-ช่วยขยายความบ้านปลาแนวคิด Circular Economy
ชลณัฐ : ขณะนี้อยู่ในกระบวนการ R&D เพิ่มเติม เรามีสูตรแล้วได้ต้นแบบออกมาแล้ว โดยนำขยะพลาสติกที่พบบริเวณชายหาด และแหล่งชุมชนทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ฝาขวดพลาสติก ประมาณ 10-30%มาผสมกับพลาสติกเกรดที่ใกล้เคียงPE 100 ผ่านกระบวนการ และขึ้นรูปเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลารีไซเคิล จากผลการทดสอบในเบื้องต้น พบว่าบ้านปลารีไซเคิลรูปร่างเหมือนเดิม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อไปจะนำไปทดสอบจริงในทะเล ส่วนความคงทนอีก 50 ปีนั้น จะมีการตรวจเช็คตลอดเวลา
-บริษัทปิโตรเคมีในต่างประเทศ มีแนวคิดในเรื่องนี้และทำอย่างไร
ชลณัฐ : ในต่างประเทศก็มีแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกกันมาก หลายแห่งนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นยางมะตอยใช้ทำถนน ยางมะตอยก็เหมือนอิลาสติก เป็นสารที่สามารถเข้ากันได้ เป็นไฮโดรคาร์บอนเหมือนกัน อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง นอกจากนี้มีการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆที่เราใช้อยู่ เพราะพลาสติกมีคุณค่า การใช้ครั้งดียวคุณค่าของเขายังไม่หมด เราสามารถดึงกลับมาได้ Circulate ก็คือการนำคุณค่ากลับมา เราไม่ได้พูดถึงรีไซเคิลหรือวัสดุอย่างเดียว แต่เราพูดถึงคุณค่าของพลาสติก ดึงกลับเข้ามาใช้ได้อีกครั้งเหมือนที่เรากำลังทำบ้านปลาจากขยะพลาสติกตามแนวคิดของ Circulation Economy
-เอสซีจีวางเป้าหมายบ้านปลาปีที่ 7 อย่างไร
ชลณัฐ : ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้จัดวางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้วกว่า 1,400 หลัง ภายในปี 2563 จะวางอีก 400 หลังในจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี เกิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 35ตารางกิโลเมตซึ่งเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านช่วยกันรักษาและดูแลให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ โดยในปีหน้า จะวางเพิ่มอีก 400 หลัง ให้ครอบคลุมทั้งภาคตะวันออก
โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นตลอด 6 ปีเต็ม เข้าสู่ปีที่ 7 มีจิตอาสาที่ร่วมสร้างบ้านปลาแล้วจนถึงในเดือนพฤกษภาคม 10,000 คนและในงานครั้งล่าสุด 900 คน ร่วมประกอบบ้านปลา 50 หลัง และเอสซีจีได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงชุมชนเนินฆ้อเมื่อปี 2558 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรรวมถึงความเข้าใจในวิถีประมงพื้นบ้าน ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ เยี่ยมชมศูนย์ฯ แล้วกว่า 2,000 คน
บ้านปลา คือการสร้างและสานต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน และจิตอาสา เพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน
ข่าวเกี่ยวข้อง
- PASSION FOR BETTER : SCG ท้าทายความเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
- เปลี่ยนชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน คนปลายน้ำ @ ชุมชนบ้านมดตะนอย
- 2 นวัตกรรมเอสซีจี+1 จาก CSR สู่บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
- เอสซีจี เคมิคอลส์ เปลี่ยนชาวประมงจาก “นักล่า”เป็น “นักอนุรักษ์”