ให้บริษัทจดทะเบียนหนุนแนวทางการบริหารธุรกิจ ที่ให้ความเท่าเทียมระหว่างสตรีและชาย และการเป็นผู้นำของสตรี ให้สตรีมีเสียงในการสร้างพลังอำนาจ เพื่อให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย UN Women ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ร่วมงาน Ring the Bell for Gender Equality 2018 “ลั่นระฆังสร้างความเท่าเทียม” ในวันสตรีสากล ซึ่งเป็นครั้งแรกของตลาดหลักทรัพย์ไทยในการเป็นเจ้าภาพ เพื่อแสดงบทบาทของภาคตลาดทุนพร้อมกับ 59 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก สะท้อนถึงการให้ความสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ UN Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายที่ 5 Gender Equality
“ประเทศไทยมีประชากรหญิง 51% ของประชากรทั้งสิ้นประมาณจาก 66 ล้านคน และใน 51% มีจำนวน 53% ของสตรี หรือประมาณ 16 ล้านคน มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของไทย ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีโอกาสให้สตรีเข้าร่วมทำงานได้มาก และเราจะเห็นได้ว่าสตรีมีเสียงมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีที่ทำงานในองค์กรต่างๆ มีสตรีจำนวนมากที่ได้มีความก้าวหน้า เพราะมีทักษะในการเป็นผู้นำ แต่อย่างไรก็ตาม สตรีที่ทำงานหนักยังมีปัญหาอยู่”
เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขยายความต่อเนื่องเมื่อเจาะลึกถึง ตลท.สนับสนุนให้บริษัทที่จดทะเบียนแต่งตั้งสตรีให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทและตำแหน่งบริหารในระดับสูง ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืน สัดส่วนคณะกรรมการบริษัทที่เป็นสตรีในภาคตลาดทุนไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีตัวเลขที่น่าสนใจคือ
-83% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกรรมการบริษัทซึ่งเป็นสตรีอย่างน้อยหนึ่งคน
-19% ของบริษัทที่จดทะเบียน มีกรรมการที่เป็นสตรีมากกว่า 4 คน และมีบางองค์กรที่มีกรรมการที่เป็นสตรีถึง 8 คน
-12% ของบริษัทจดทะเบียนมี CEO เป็นสตรี นับเป็นบทบาทของสตรีที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ
“จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 600 บริษัท จะเห็นว่า เศษหนึ่งส่วนสามของบริษัทที่จดทะเบียน มี CEO ที่เป็นสตรี และมีสตรีอยู่ในฐานผู้นำระดับสูงของบริษัทต่างๆ เหล่านั้น และในวันนี้เราพบมีสตรีมากกว่าชาย และที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารกว่า 50-60 % ก็เป็นสตรีในตลาดหลักทรัพย์ฯ”
นโยบายของตลท.คือ ตั้งใจสนับสนุนสตรีโดยให้มีการลาคลอดได้ 3 เดือนโดยให้ได้รับเงินเดือนครบถ้วน มีห้องเลี้ยงลูกและการอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับสตรีที่เป็นมารดา ซึ่งตลท.เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ในแง่ความเสมอภาคหรือส่งเสริมความเสมอภาคของสตรีและชาย
“ความก้าวหน้าของการมีส่วนร่วมของสตรี เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน โดยผ่านการศึกษา การให้การอบรม และการว่างจ้าง”
บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) และบริษัทกลุ่มเซ็นทรัลจำกัด อยู่ในบรรดา 1,000 กลุ่มธุรกิจทั่วโลกที่ลงนามใน “แถลงการณ์การสนับสนุนของประธานกรรมการบริหาร” ตาม “พันธะสัญญาส่งเสริมพลังสตรีแห่งสหประชาชาติ” ของ UN Women ซึ่งเป็นหลักการแห่งความเสมอภาคหญิงชายในด้านการเป็นผู้นำธุรกิจ การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายในที่ทำงาน การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานหญิง ความสนับสนุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรม และด้านอื่นๆ
“บริษัทเอกชนมีบทบาทโดดเด่นในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวระดับโลกที่ขับเคลื่อนไปสู่ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในที่ทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนและทุกระดับของกิจกรรมอย่างเต็มที่ และส่งผลดีต่อสังคมโลกโดยรวม” มิว่า คาโต้ ผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าว
สตาฟฟาน แฮร์สตรึม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่านโยบายของประเทศสวีเดนในการอนุญาตให้ผู้ชายสามารถลางานไปดูแลลูกได้นั้นเอื้อให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในระบบแรงงานอย่างเท่าเทียม
“มีความเข้าใจว่าการเลี้ยงดูเด็กนั้นเป็นหน้าที่ของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว และผู้หญิงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากการมีลูก” ท่านทูตกล่าว “นโยบายที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายสามารถลาไปเลี้ยงลูกได้ด้วยนั้น เป็นวิธีที่ช่วยปรับเปลี่ยนความคิดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เกศรากล่าวในท้ายที่สุดว่า งานลั่นระฆังเพื่อความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย ให้สตรีมีเสียงที่มีพลัง ให้สตรีมีเสียงในการสร้างพลังอำนาจเพื่อให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันความตั้งใจสนับสนุน ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายอย่างจริงจัง
ข่าวเกี่ยวข้อง
– Ring the Bell for Gender Equality 2018 @ SET
– #MeToo เดินคู่ 5 แผนยุทธศาสตร์สตรี 2018-2021 UN Women