ผู้สูงวัย 19 ล้านคน มากพอที่จะทำ CSV ตอนนี้หรือไม่?

เป็นตัวเลขเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปี 2548 มีอยู่ 6 ล้านคนเศษ เรื่องความเป็นอยู่ทั่วไป สุขภาพอนามัย ควรที่จะได้เริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และจะต้องพัฒนาให้ทันกับการเพิ่มที่รวดเร็วของคนสูงอายุในอนาคต

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยงานวิจัย “ประชากรไทยในอนาคต” * เมื่อการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยช้าลงแต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มเร็วขึ้น ปี พ.ศ. 2565 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ประชากรไทยถึงจุดอิ่มตัว อัตราเกิดจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราตาย ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ จำนวนเกิดในแต่ละปีพอ ๆ กับจำนวนตายหลังจากนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มประชากรจะติดลบคือต่ำกว่าศูนย์บ้างเล็กน้อย ทำให้จำนวนประชากรแต่ละปีลดลง

การที่ประชากรไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนอิ่มตัวแล้วลดลงนั้น เป็นผลเนื่องมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงและคนไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้นอีก ลักษณะเช่นนี้ทำให้โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน  และการที่จำนวนประชากรวัยเด็กจะลดลงอย่างมากจะมีผลทำให้จำนวนประชากรในวัยเรียน (อายุ 6 – 21 ปี) ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 16 ล้านคนในปี พ.ศ. 2548 เป็น 11 ล้านคนในปี พ.ศ. 2578

คงจะเป็นการกล่าวไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความใส่ใจในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นในทุกๆ มิติ โดยทุกเรื่องควรจะต้องมีงานวิจัยเป็นพื้นฐานรองรับ เพื่อสร้างสินค้าและการบริการ ก่อนจะส่งต่อความรู้เกี่ยวกับผู้สูงวัย และลูกหลานที่เป็นคนดูแล เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายปลอดภัย และมีความสุข

ความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเอสซีจี เปิดตัว “ศูนย์ความรู้สูงวัย” รองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาวะที่ดีในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ถือเป็นความร่วมมือส่งต่อความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายและผู้เกี่ยวข้อง

“อีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นับเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ด้วยตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้สูงอายุ และเพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาโรคแก่ผู้ป่วยทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีโรคเฉพาะทางที่จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างถูกต้อง และใส่ใจเป็นพิเศษ จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนางานวิจัย เพื่อให้เกิดองค์ความรู้เฉพาะทางสำหรับกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย โดยได้รับความร่วมมือจากเอสซีจีต่อยอดจากงานวิจัย ในการผนวกองค์ความรู้ทั้งด้านการแพทย์และด้านการอยู่อาศัยเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็น ศูนย์ความรู้สูงวัย”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความต่อว่า การร่วมมือกันจัดตั้งเป็น “ศูนย์ความรู้สูงวัย” นอกจากจะให้บริการและรักษาผู้ป่วยได้ครบวงจรมากขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรของโรงพยาบาล ผู้ป่วย และญาติ ได้มีพื้นที่ที่สามารถมาทดลองและฝึกปฏิบัติจริง ถือเป็นการเตรียมตัวก่อนออกจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองที่บ้านอย่างไม่ติดขัดแล้ว ยังถือเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไปอีกด้วย โดยมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาวะที่ดีในสภาพแวดล้อมที่จัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม

หากพลิกหนังสือ “คู่มือความรู้ผู้สูงวัย” โดยศิริราช และเอสซีจี ก็จะพบเรื่องจะต้องระมัดระวังให้หนักคือ “การหกล้มของผู้สูงวัย ” ซึ่ง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ก็ได้พูดเรื่องนี้อยู่หลายครั้งระหว่างการให้ข้อมูล เนื่องจากการหกล้มของผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดข้อสะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม ข้อนิ้วเท้าเสื่อม ทั้งหมดเป็นข้อต่อกระดูกส่วนล่างตั้งแต่สะโพลงไป ซึ่งจะมีความยาลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก โดยเฉพาะเรื่องการเดิน

“เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ร่ายกายไม่เหมือนเดิม อาจจะกระดูกหัก อาจจะจะมีโรคอื่นๆ ตามมา ที่อาจจะตามมาจากผลข้างเคียงของการทานยา ก็เป็นได้ ซึ่งถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ เข้าใจเรื่องนี้ จะช่วยดูแลได้ดีขึ้น”

นิธิ ภัทรโชค Vice President-Building Products and Distribution Business เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น เป็นเรื่องเดียวกันกับเอสซีจีให้ความสำคัญเรื่องผู้สูงอายุมาโดยตลอด มีการต่อยอดและพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ

“เอสซีจี ได้เปิดตัว SCG Eldercare Solution ตั้งแต่ปี 2557 เน้นการสร้างนวัตกรรมและบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง อย่างอิสระ สะดวกปลอดภัย และมีสุขภาวะที่ดี ภายในบ้านร่วมกับสมาชิกภายในครอบครัว และในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุคอยให้บริการ ให้คำปรึกษาแก่ผู้สูงวัยและครอบครัว ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมรองรับการกลับไปพักฟื้นที่บ้านให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงญาติ และผู้ดูแล”

การออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในห้องน้ำ

นิธิกล่าวต่อเนื่องถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพิ่มเติมตั้งปีที่แล้วคือ IoT เช่นลูกๆ สามารถรู้ได้ผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟนว่า พ่อแม่ลุกเข้าห้องน้ำกลางคืนกี่ครั้ง ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้ทราบว่านอนเพียงพอหรือไม่ หรือีปัญหาเรื่องปัสสาวะหรือไม่ ฯลฯ โดยทุกครั้งที่ลุกจากเตียง เมื่อเท้าแตะพื้นห้องนอน ระบบไฟพื้นจะสว่างขึ้นทันที เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้ง่ายขึ้น และขณะนี้กำลังนำ AI เข้ามาใ้ช้ร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลด้านการแพทย์จากศิริราช เพื่อตอบโจทย์ ทำอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย หรือเมื่อเกิดการหกล้อม มีอันตรายน้อยลง

การเปิดตัว “ศูนย์ความรู้สูงวัย” และ “คู่มือความรู้ผู้สูงวัย” โดยศิริราชและเอสซีจี ถือเป็นมิติใหม่ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านการแพทย์และที่อยู่อาศัย เกิดจากความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง พร้อมรับมือกับโรคต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรู้เท่าทัน เพื่อต่อยอดและบูรณาการองค์ความรู้ให้เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย จะต้องสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแล และประชาชนทั่วไปด้วย

หมายเหตุ
*ประชากรไทยในอนาคต
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ปราโมทย์ ประสาทกุล ศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

Stay Connected
Latest News