คลื่นสังคมสูงวัยกับ SDGs 3 ในยุค AI loT Cashless (2) : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

ในตอนสุดท้ายนี้ สังคมผู้สูงวัยเกี่ยวข้องกับ SDGs ทั่วโลกต้องการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวต่อระบบสุขภาพที่จะดูแลผู้สูงวัยให้มีประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงเทคโนโลยีสุขภาพ ค่านิยมทางสังคมและทัศนคติในการใช้ชีวิตในบั้นปลาย

มาดูกันว่าสังคมผู้สูงวัย เกี่ยวข้องกับ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 : การส่งเสริมให้มีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages ) อย่างไร? ซึ่งจะเป็น 2 ข้อใหญ่คือ

1.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อไหนบ้าง ที่ต้องจัดการกับปรากฏการณ์การกลายเป็นสังคมสูงวัย

แนวคิดที่ว่าด้วยการเป็นคนสูงวัยที่มีความสุขและประสบความสำเร็จเกิดขึ้นในยุค 50s และได้รับความนิยมมากในยุค 80s จากการวิจัย พบความเกี่ยวเนื่องของปัญหาสุขภาพในวัยที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ โรคเบาหวาน และ โรคกระดูกพรุน นั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แต่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ความเกี่ยวเนื่องดังกล่าวก็ยังส่งอิทธิพลต่อการเติบโตและพัฒนาของร่างกาย จิตใจ และสังคมอยู่

การเป็นคนสูงวัยที่มีความสุข และประสบความสำเร็จ มีองค์ประกอบ 3 ประการ

1.มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหรือมีความพิการต่ำ
2.มีศักยภาพในเรื่องเชิงความคิดและร่างกายสูง
3.มีความตื่นตัวในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ

การส่งเสริมให้มีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย เป็นเรื่องจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในทุกสังคม กระนั้นก็ตาม แม้มีการปรับปรุงในเรื่องสุขภาพของผู้คนและการยกระดับคุณภาพชีวิตในช่วงไม่นานมานี้อย่างจริงจัง แต่ความไม่เท่าเทียมของโอกาสในการเข้าถึงการได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีก็ยังคงเป็นปัญหาที่คงอยู่

ในแต่ละปี เด็กมากกว่า 6 ล้านคนยังคงเสียชีวิตในวัยที่อายุยังไม่ถึง 5 ปี นอกจากนี้ ผู้หญิงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นในภูมิภาคกำลังพัฒนาที่มีโอกาสเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพเมื่อมีความจำเป็น

เรื่องของการมีอายุขัยที่ยืนยาวนั้น ขึ้นกับการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตในวัยเด็ก และในช่วงตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง มีความก้าวหน้าในการเพิ่มการเข้าถึงน้ำและสุขอนามัย การลดโรคมาลาเรีย วัณโรค โปลิโอ และการแพร่เชื้อ HIV/AIDS อย่างไรก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเน้นการขจัดโรคอีกมากมาย และต้องมีการให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือโรคที่รักษาได้ยากต่างๆ อีกหลากหลาย

การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ (HIV/AIDS) มักเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีความหวาดกลัวและมีการกีดกันแบ่งแยกโอกาสในการได้รับบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น

การมีสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับการที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการเข้าถึงสุขภาพและการดูแลรักษาด้วยมาตรฐานสูงอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน ไม่จำกัดอยู่เพียงผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี หรือคนในช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มสูงมากขึ้น แต่มูลค่าความเสียหายในการที่ไม่สามารถมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีจะมากยิ่งกว่า การที่เด็กเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ ผู้หญิงเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร ค่ารักษาพยาบาลและดูแลผู้สูงวัย ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายมาหาศาล

แนวทางที่เราจะช่วยกันลดปัญหาเหล่านี้ได้ คือการดูแลสุขภาพของตนเองและผู้คนรอบตัวให้ดี ทั้งโดยการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจด้านสุขภาพที่ดีขึ้น การให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การให้วัคซีนในเด็ก การให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสุขภาพที่ดี รูปแบบการดำรงชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพในระดับชุมชน การจัดหาบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน หรือแม้แต่การป้องกันและการให้การรักษาอาการหรือโรคที่เกิดขึ้นตามวัย (Age-Related Diseases) เป็นไปได้อย่างทั่วถึงและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอันยิ่งใหญ่จากภาวะที่เรียกว่า “สังคมสูงวัย” นี้ ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัยที่อยู่ร่วมกันในสังคม ผู้คนในแต่ละวัยอาจมีความแตกต่างกันในเชิงของความรับผิดชอบ ในเชิงกฎหมาย มุมมองต่อชีวิต หรือแง่คิดต่อตนเอง ตัวอย่างเช่น ก่อนที่เราจะเข้าสู่สังคมสูงวัย มียุคหนึ่งที่คนวัยเยาว์มักได้รับสิทธิ์พิเศษเชิงกฎหมายบางประการ และนั่นอาจทำให้เป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการการด้านการศึกษา ด้านสังคม ตลอดจน ด้านเทคโนโลยี เมื่อมาถึงยุคที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปก็เช่นกัน

ความต้องการพิเศษและผลกระทบอันเกิดจากสภาวะประชากรศาสตร์เช่นนี้ ยิ่งทวีความรุนแรงเด่นชัดโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายข้อที่ว่าด้วยเรื่อง “การมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและการมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง” (Good Health and Well-being) ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ควรต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำความคิด และประชาชนเอง ซึ่งล้วนต้องร่วมรับผิดชอบต่อการรักษาสุขภาพและยกระดับการดูแลเชิงสาธารณสุข เพื่อให้แน่ใจว่าคนทุกวัย จะมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

2) โอกาสและแนวปฏิบัติควรเป็นไปในทิศทางใด เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในท่ามกลางสังคมสูงวัย

ถ้ามองวิเคราะห์ในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ หากคนมีอายุเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการก็เปลี่ยนไปด้วย สภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งที่เกิดจากตัวผู้สูงวัยเองและคนรอบข้างย่อมมีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิต แบบสำรวจนับไม่ถ้วนทั่วโลกได้ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับวัยที่สูงขึ้น แผนการเกษียณอายุ แนวทางในการรับและใช้เงินยังชีพผู้สูงวัย

การเป็นคนสูงวัยที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ อาจถูกมองเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยง และพึ่งพาระหว่างด้านจิตใจไปจนถึงด้านสังคม โดยมีการถ่ายโยงระหว่างสังคมและบุคคลในช่วงวัยต่างๆ ที่ให้ความสำคัญมากๆ กับช่วงบั้นปลายของชีวิต

พบการใช้คำว่า “Healthy Aging” และ “Optimal Aging” แทนคำว่า “Successful Aging” เพื่อบ่งบอกถึงการเป็นคนสูงวัยที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในหลายครั้งด้วยกัน เพราะบางครั้งก็อาจใช้แทนกันไม่ได้โดยสมบูรณ์เสียทีเดียว โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า การประสบความสำเร็จ อาจแสดงออกถึงภาวะการแข่งขันมากกว่าที่จะเน้นในเรื่องของสุขภาพและความสุขอย่างแท้จริง

จากข้อมูล The Meta Data Repository ซึ่งจัดทำโดยองค์กรไม่แสวงกำไร และสนับสนุนโดยหน่วยงานภาครัฐ National Institute on Aging ของ National Institutes of Health แห่งสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “การมีภาวะสังคมสูงวัยที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ” ไว้ 6 ด้าน ได้แก่

-การไม่ปรากฏภาวะทุพพลภาพเมื่ออายุเกินกว่า 75 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องระบุโดยแพทย์
-ผลการประเมินสุขภาพของตนเองอยู่ในระดับดี
-ระยะเวลาในช่วงชีวิตที่ปราศจากภาวะความพิการ
-สุขภาพจิตที่ดี
-การได้รับการสนับสนุนทางสังคม
-ความพึงพอใจต่อขีวิตใน 8 ด้าน อาทิ การแต่งงาน งานที่สร้างรายได้ บุตร เพื่อนและการเข้าสังคม งานอดิเรก กิจกรรมเพื่อสังคม ศาสนา และสันทนาการหรือกีฬา

จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในหลายประเทศ ผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอัตราเติบโตที่สูงกว่าคนวัยทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดหรือยืดอายุเกษียณของประชากร เพื่อยืดอายุวัยทำงาน และเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้สูงวัยในระบบการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูผู้สูงวัย ขณะเดียวกันประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากนี้ก็สร้างแรงกดดันให้กับระบบสุขภาพ ทั้งในเรื่องความต้องการการรักษา บริการด้านสุขภาพ เทคโนโลยีที่จะป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อ และโรคอันเกิดจากภาวะสูงวัย ประเทศต่างๆ สามารถคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของสังคมสูงวัยนี้และกำหนดแนวทางรับมือล่วงหน้าเพื่อตอบสนองต่อภาวะดังกล่าวได้อย่างดี

สังคมสูงวัย ความยากจน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดยทั่วไปแล้ว อัตราความยากจนในกลุ่มผู้สูงวัย มักสะท้อนเช่นเดียวกับคนในวัยอื่น ถึงแม้ว่าอาจไม่สอดคล้องในบางภูมิภาคและบางประเทศ  แต่ในหลายประเทศระบบค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยก็ไม่ดีพอที่จะเลี้ยงดูผู้สูงวัยเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา และในเอเชีย ซึ่งพบว่าผู้สูงวัยมีภาวะยากจนมากกว่าวัยอื่นๆ ในทางตรงข้าม สำหรับประเทศที่มีระบบค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยที่เพียงพอและครอบคลุม เช่น ละตินอเมริกา และยุโรป อัตราความยากจนในผู้สูงวัยจะอยู่ในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าประชากรในวัยอื่นๆ

รูปแบบอายุที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคเป็นตัวชี้วัดระดับสวัสดิการของผู้สูงวัยอีกทางหนึ่ง ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ระดับของของบริโภคมักลดต่ำลงในผู้สูงวัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตย่อมต่ำกว่าคนในวัยที่เด็กกว่า ในทางตรงข้าม ประเทศรายได้สูง ค่าเฉลี่ยของระดับการบริโภคในกลุ่มผู้สูงวัยมีค่าสูงกว่าในวัยอื่น อาจอยู่ระดับ 1-3หรือมากกว่านั้นในบางประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยในประเทศนั้นๆ

การจัดให้มีการดูแล และบริการด้านสุขภาพก็มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระดับของการบริโภคของผู้สูงวัยในบางประเทศเช่นกัน ในประเทศที่มีรายได้สูงจะดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยได้ดีกว่า มีความมั่นคงทางสุขภาพ และการเข้าถึงการดูแลรักษาที่ดีกว่า

ในปี 2558 สัดส่วนของคนวัยทำงานที่ดูแลผู้สูงวัยคือ 7 ต่อ 1 และภายในปี 2593 อัตราดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็น 3.5 ต่อ 1 และผู้สูงวัยที่ยังคงทำงานได้ เป็นเพศชาย 30% และเพศหญิง 15% ผู้สูงวัยเหล่านี้ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีความขันแข็งในการทำงานมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างในเรื่องโครงสร้างและการมีเงินชดเชยสำหรับผู้สูงวัยที่แตกต่างกัน

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันของสังคมสูงวัย ความยากจน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่มีความเชื่อมโยงแบบโครงข่าย และส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องการรักษาสุขภาพ การออมเงิน การจัดสรรปันส่วนในการจัดให้มีค่าใข้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัย การจัดการอัตราการเกิด และอัตราการบริโภค ล้วนแต่ส่งผลกระทบ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การส่งเสริมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตในสังคมสูงวัย

ทั่วโลกต้องการการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวต่อระบบสุขภาพที่จะสามารถดูแลจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้น ในขณะที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในวัยอื่นๆ เช่นกัน  องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่า ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่แต่ละประเทศควรจัดทำงบประมาณไว้รองรับ ไม่เพียงในประเทศที่มีอัตราผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสุขภาพ รายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่านิยมทางสังคมและทัศนคติที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในบั้นปลายก็ต้องได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องของการปรับตัวต่อโครงสร้างอายุประชากร

ผลกระทบในเชิงการดูแลรักษาสุขภาพเช่นนี้ มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านสุขภาพของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง ตัวอย่างโมเดลการบริหารจัดการความต้องการต่างๆ ในระยะยาวที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

-การปรับปรุงเชิงระบบ (Improve System Performance)
-การปรับรูปแบบการส่งมอบบริการสุขภาพ (Redesign service delivery)
-การสนับสนุนผู้ให้การดูแลผู้สูงวัยที่ไม่เป็นทางการ (Support informal caregivers)
-การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดทางประชากรศาสตร์ (Shift demographic parameters)

ทั้งนี้ ต้องมีการวิเคราะห์และวางแผน เพื่อให้เกิดผลกระทบทั้งในองค์รวมสำหรับคนทุกวัย และที่มีต่อตัวของผู้สูงวัยเอง ควบคู่กันไป

บทสรุปสังคมสูงวัยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป็นเรื่องน่าคิดว่า การมีจำนวนผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตบั้นปลายไปกับความพิการอาจเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ หากการมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ต้องเผชิญกับความพิการนานมากขึ้น ความต้องการการดูแลสุขภาพและบริการด้านสุขภาพย่อมสูงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แนวคิดที่จะทำให้อายุยืนยาวขึ้นแต่ลดจำนวนปีที่ต้องอยู่กับความพิการหรือทุพพลภาพจะสร้างความแตกต่างในการกำหนดนโยบาย การศึกษาวิจัย บริบทต่างๆ ในการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี ขีดเส้นใต้สองบรรทัดตรงที่ว่า ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของการตั้งคำถามที่ต้องเตรียมคำตอบ

ประชากรผู้สูงวัยย่อมได้รับการดูแลที่หลากหลายตามภาวะสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคน การทำความเข้าใจระดับและแนวโน้มของภาวะการเกิดความพิการเป็นกุญแจสำคัญในการประเมินสุขภาพของประชากรอันเกิดจากภาวะสูงวัย จากข้อมูลทางสถิติ ในยุโรป จำนวนปีที่ผู้สูงวัยมีภาวะพิการสูงกว่าในแอฟริกา แม้ว่าจะมีอายุขัยที่ยืนยาวกว่าก็ตาม

ภาวะความเสื่อมถอยหรือด้อยลงของสุขภาพจิต เป็นสาเหตุหลักของความพิการของหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามมาด้วยสาเหตุการสูญเสียการได้ยิน การปวดคอและหลัง โรคอัลไซเมอร์ โรคหลงลืมอื่นๆ รวมถึงโรคกระดูกพรุน สำหรับในเพศชาย เรื่องของการสูญเสียการได้ยินเป็นสาเหตุหลัก ตามมาด้วยอาการปวดคอและหลัง การล้ม โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคเบาหวาน หากประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ระบบสุขภาพควรต้องให้ความสำคัญกับภาวะสุขภาพของผู้สูงวัยในแบบเฉพาะเจาะจงและลึกซึ้งมากขึ้น

หลังจากปี 2558 เป็นต้นมา ภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการเตรียมแผนและนโยบายรองรับความต้องการของผู้สูงวัย ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย การจ้างงาน การดูแลสุขภาพ การปกป้องทางสังคม และการสนับสนุนในการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัย

ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ทุกคนอาจยังคงต้องรับมือกับปรากฏการณ์สังคมสูงวัยที่นับวันจะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบที่มากขึ้น ภายใต้สภาวะที่ทรัพยากรมีจำกัดยิ่งกว่าเดิม ท่ามกลางวันเวลาที่โลกยังเรียกร้องหา “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ต่อไป

Reference:
http://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-development-goals/
http://www.un.org/sustainabledevelopment/health/
https://www.nih.gov/about-nih/what-we-do/nih-almanac/national-institute-aging-nia
http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2015_Report.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/Aging_and_society
http://www.un.org/sustainabledevelopment/wp-content/uploads/2017/03/ENGLISH_Why_it_Matters_Goal_3_Health.pdf
http://www.bayer.com

ภาพ
-World Meteorological Organization – WMO
-vita.it

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

คลื่นสังคมสูงวัยกับ SDGs 3 ในยุค AI loT Cashless (1) : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

Stay Connected
Latest News