คลื่นสังคมสูงวัยกับ SDGs 3 ในยุค AI loT Cashless (1) : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

สำหรับปี 2561 “การกลายเป็นสังคมสูงวัย” หรือ Aging Society เป็นเรื่องที่ทันสมัยไม่แพ้การกลายเป็นสังคมโลกดิจิทัล  ซึ่งทุกสังคมเรียกหา “การพัฒนาที่ยั่งยืน”(SDGs)

สังคมตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตหลายประการ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การกลายเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งหมายถึง สังคมที่คนหมู่มากมีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป คนเก่าแก่ก็ยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และที่เพิ่มเติมคือความต้องการในด้านต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตในแบบที่เรียกว่า “การมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

แน่นอนว่าปีใหม่ 2561 นี้ ยังไม่ใช่ปีสิ้นสุดของปรากฏการณ์ “Aged Society” ซึ่งหมายถึงสังคมที่เต็มไปด้วยผู้สูงวัย ปรากฏการณ์หรือ วิวัฒนาการทางสังคมดังกล่าว รวมถึงตัวเลขสถิติต่างๆ เช่นว่าภายในปี 2593 จะมีประชากรสูงวัยกว่า 2 พันล้านคน นั่นทำให้เห็นชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่างๆ ตามมาอย่างแน่นอน เนื่องจากทั้งสภาพแวดล้อม สาธารณูปโภค รวมถึงพฤติกรรมของประชากรจำนวนมากเหล่านี้ จะก่อให้เกิดอุปสงค์ที่แตกต่างไปจากเดิม แตกต่างไปจากกลุ่มวัยอื่นๆ และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนี้

ไม่ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดในการเข้าสู่สังคมสูงวัย เราต่างตระหนักและยอมรับว่า ทุกสังคมต่างกำลังเรียกหา “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ตามที่ระบุโดย United Nations อยู่อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คำถามสำคัญที่ตามมาจึงมีอยู่ว่า:

1.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อไหนบ้าง ที่ต้องจัดการกับปรากฏการณ์การกลายเป็นสังคมสูงวัย เช่น ผลิตภาพอาจเป็นเรื่องท้าทายความสามารถ ผลกระทบของสัดส่วนคนวัยทำงานกับคนสูงวัยที่แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ในเวลาอันรวดเร็ว

2.โอกาสและแนวปฏิบัติควรเป็นไปในทิศทางไหน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในท่ามกลางสังคมสูงวัย

ในเรื่องนี้ จะขอแบ่งออกเป็น 2 ตอน เพื่อได้เห็นภาพใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันในยุคนี้

**อย่าตกเทรนด์สังคมสูงวัย

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ที่เปิดเผยเมื่อปี 2558 เกี่ยวกับ World Population Prospects: the 2015 Revision ระบุว่าจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในภูมิภาคต่างๆ และหลายประเทศทั่วโลก โดยอัตราการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นในอัตราเร่งอย่างไม่หยุดยั้งในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

  • ระหว่างปี 2558 กับ 2573 คาดว่าโลกจะมีผู้สูงวัย คืออายุเกินกว่า 60 ปีเพิ่มขึ้นอีก 56% จาก 901 ล้านคน เป็น 1.4 พันล้านคน และภายในปี 2050 ประชากรโลกที่สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มอีกเท่าตัวของปี 2558 ไปอยู่ที่เกือบ 2.1 พันล้านคน
  • จำนวนประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “ผู้แก่กว่าสูงวัย” จะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าจำนวนคนสูงวัยทั้งหมด คือมีจำนวน 434 ล้านคน โดยคิดเป็นมากกว่าสามเท่าของปี 2558 ซึ่งมีจำนวนคนที่อายุมากกว่า 80 ปีทั้งสิ้น 125 ล้านคน
  • ในอีก 15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปีในละตินอเมริกาและคาริบเบียน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 71% ตามมาด้วยเอเชีย 66% แอฟริกา 64% โอเชียเนีย 47% อเมริกาเหนือ 41% และยุโรป 23%

จากทั่วโลก จำนวนผู้สูงวัยจะเติบโตเร็วกว่าจำนวนประชากรในช่วงวัยอื่นๆ ดังนั้น สัดส่วนของผู้สูงวัยจากจำนวนประชากรโลกทั้งหมดก็จะเพิ่มมากขึ้นในทุกที่บนโลกด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในอัตราความเร็วที่แตกต่างกัน บางแห่งเริ่มมาแล้วในช่วงร้อยปี บางแห่งก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ควบคู่ไปกับการลดลงของอัตราเกิด

จากประสบการณ์แบบที่ไม่ต้องอาศัยทักษะการสังเกตมากนัก ประกอบกับข้อมูลประชากรศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าในปี 2573 ประชากรทุก 6 คนจะเป็นผู้สูงวัยหนึ่งคน และภายในปี 2593 จะเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 คน กระบวนการกลายเป็นผู้สูงวัยนี้มักพบมากในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดคือ 33% จากประชากรทั้งหมด ตามด้วยเยอรมนี (28%) อิตาลี (28%) และฟินน์แลนด์ (27%)

เมื่อมาถึงยุคสังคมสูงวัย ซึ่งความต้องการของผู้สูงวัยเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดความกดดันต่อสังคม ภาครัฐ และการสร้างค่านิยมต่างๆ เช่น การได้รับสิทธิ์เกี่ยวกับเงินชดเชยผู้สูงวัย การมีสิทธิ์ในเรื่องการดูแลรักษา หรือแม้แต่สิทธิ์ในการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เช่นกัน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความต้องการ และความแตกต่างในสังคมเช่นนี้ อายุอาจเป็นเรื่องของการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง ตัวอย่างเช่น การได้รับการยอมรับ การต้องรับผิดต่อโทษกรณีทำผิดกฎหมาย การได้รับสิทธิ์ค่าชดเชยต่างๆ การต้องการได้รับการดูแลมากกว่าปกติ การที่ต้องมีสาธารณูปโภคที่เหมาะสมและมีจำนวนมาพอ ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจนในหลากหลายมุม

ในเชิงกฎหมายและการเมือง ก็มีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเรื่องอายุ เช่น สิทธิ์ในการเลือกตั้ง บางประเทศ คนสูงวัยมักใช้สิทธิ์ในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่หากเป็นเด็ก อาจไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์เช่นนั้นได้ อายุที่จะสามารถกำหนดว่า ซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่ อายุที่สามารถแต่งงานได้หรือไม่ อายุที่จะต้องถูกจัดให้ต้องเกษียณไม่ว่าจะเต็มใจ สมัครใจหรือไม่ก็ตาม ในบางสังคม อายุยังสามารถกำหนดสิทธิ์ในการดูหนังฟังเพลงรายการต่างๆ การจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินหรือการเดินทางและใช้บริการอื่นๆ แต่ละชาติ แต่ละรัฐบาล หรือแม้แต่ภาคส่วนองค์กรอิสระที่ไม่ใช่รัฐบาล ก็อาจมีการกำหนดแนวทางหรือกฎเกณฑ์ด้านอายุที่แตกต่างกัน

พบว่า การจัดการในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละช่วงวัยก็มีความแตกต่างกันและมีการจำกัดสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องในแง่มุมที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องการได้รับการสนุบสนุนเชิงสังคม ศาสนา ความเชื่อ หรือการที่จะสามารถบริหารจัดการชีวิตของตัวเอง การตัดสินใจด้วยตนเอง เมื่อมีอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นย่อมหมายรวมถึงการดำเนินชีวิตในแบบที่เป็นสุข หรือที่เรียกว่า Well-being ทั้งในด้านของจิตใจ อารมณ์ สังคม และร่างกาย ทั้งที่มีต่อตนเองและผู้อื่น

** The Paradox of Aging หรือ ความย้อนแย้งแห่งภาวะสูงวัย จิตใจสำคัญพอกับร่างกาย

สาเหตุสำคัญของการที่ต้องมีการบริหารจัดการสิทธิ หน้าที่ โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่นๆ ที่ต้องรองรับการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัย ส่วนหนึ่งเพราะ การได้รับข้อมูล มุมมอง หรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการมีขีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ รวมถึงการลดลงของอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงวัย หลากหลายเหตุผลบ่งบอกว่า ผู้ที่มีสุขภาพที่ดีและมีมุมมองต่อสุขภาพของตนเองในเชิงบวก ย่อมจัดการชีวิต ทั้งในเชิงการทำงานของร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขมากกว่า

สำหรับผู้สูงวัย สุขภาพกายที่ดีแปรตามมุมมองที่มีต่อสภาวะร่างกาย (ยิ่งคิดว่าสุขภาพดีมากเท่าไร ยิ่งมีสุขภาพกายที่ดีมากขึ้นเท่านั้น) แต่ทว่าความย้อนแย้งอยู่ที่ว่า สภาวะร่างกายจริงของผู้สูงวัย กลับเสื่อมถอยลงเมื่ออายุยิ่งเพิ่มมากขึ้น (ยิ่งอายุมากขึ้น ร่างกายยิ่งเสื่อมถอยลง) ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า “The Paradox of Aging หรือ ความย้อนแย้งแห่งภาวะสูงวัย”

คนสูงวัยมักคิดว่าการทำงานของร่างกายและสุขภาพย่อมเสื่อมถอยไปตามอายุเป็นเรื่องปกติ ยิ่งอายุมาก สุขภาพยิ่งแย่ บางคนก็มีการปรับทัศนคติในเรื่องนี้ โดยการเทียบเคียงกับเพื่อนร่วมวัย ตัวอย่างเช่น หากผู้สูงวัยคิดว่าสุขภาพของตนเองดีกว่าเพื่อน สุขภาพของเขาก็จะดียิ่งขึ้น ดังนั้น ยิ่งแก่มากขึ้นและร่างกายเสื่อมถอยลงมากเท่าไร การเปรียบเทียบเช่นว่า ก็จะยิ่งส่งผลต่อสภาพสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แท้จริงของผู้สูงวัยมากขึ้นเท่านั้น (ยิ่งคิดว่าสุขภาพดีกว่าเพื่อนมาก สุขภาพจริงก็ยิ่งดีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากคิดว่าสุขภาพย่ำแย่เมื่อเทียบกับเพื่อน ร่างกายจริงก็จะยิ่งแย่ลงกว่าที่เป็นจริงไปเรื่อยๆ)

อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพของประชากรไม่ได้มาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้สูงวัย แต่กลับเป็นผลมาจากการเพิ่มของรายได้ เทคโนโลยีด้านการแพทย์สมัยใหม่ การขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ และความไม่สมดุลย์ระหว่างจำนวนผู้ให้ความดูแล และผู้ป่วย ปัญหาด้านสุขภาพจำนวนมากอาจมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นด้วยเท่านั้นเอง ซึ่งก็มีตัวอย่างแสดงให้เห็นเช่นว่า สัดส่วนผู้สูงวัยส่งผลต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ราว 0.2% จาก 4.3% นับแต่ปี 2515 ในสหรัฐอมริกา ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของครัวเรือนลดลงปีละ 12.5% ตลอดช่วงปี 2541 – 2543 เมื่อปี 2550 และต่อมาก็มีตัวอย่างของเรือนจำในสหรัฐฯ ที่ได้แสดงว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษสูงวัยนั้น สูงถึงวันละ 100 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่นักโทษวัยอื่นอยู่ที่ 33 เหรียญต่อวัน และมีรายงานการเพิ่มค่าใช้จ่ายมากกว่า 10% ในส่วนของการดูแลนักโทษสูงวัย และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ใน 10-20 ปีข้างหน้า เรือนจำบางแห่งจึงได้มีการพิจารณาที่จะให้นักโทษสูงวัยพ้นโทษก่อนกำหนด ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงผลกระทบอันเกิดจากปรากฏการณ์สังคมสูงวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อัตราการกลายเป็นสังคมสูงวัยในประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มเร็วกว่าในประเทศพัฒนาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องปรับตัวเร็วเพื่อรับมือกับประชากรสูงวัยให้รวดเร็วกว่า แต่ซ้ำร้ายกลับพบว่า รายได้สุทธิของประเทศเหล่านี้กลับมีอัตราต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

ดังนั้น เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ต้องเผชิญกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของประชากรสูงวัย ความจำกัดของสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่จะสามารถเลี้ยงดูผู้สูงวัย และความสามารถในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสนับสนุนและร่วมมือให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้รวดเร็ว ทันสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในตอนที่ 2   ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะได้เห็นว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 3 เกี่ยวโยงที่ต้องจัดการกับปรากฏการณ์การกลายเป็นสังคมสูงวัย  รวมถึง โอกาสและแนวปฏิบัติควรเป็นไปในทิศทางไหน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในท่ามกลางสังคมสูงวัย

Reference:
http://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-development-goals/
http://www.un.org/sustainabledevelopment/health/
https://www.nih.gov/about-nih/what-we-do/nih-almanac/national-institute-aging-nia
http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2015_Report.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/Aging_and_society
http://www.un.org/sustainabledevelopment/wp-content/uploads/2017/03/ENGLISH_Why_it_Matters_Goal_3_Health.pdf
http://www.bayer.com

ภาพ
World Meteorological Organization – WMO
en.rocketnews24.com

บทความเกี่ยวข้อง

คลื่นสังคมสูงวัยกับ SDGs 3 ในยุค AI loT Cashless (2) : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

Stay Connected
Latest News