ขยะอาหารยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะมีส่วนช่วยให้ปริมาณขยะอาหารลดลงเนื่องจากผู้คนพยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนของอาหารการกินจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา กอปรกับร้านค้าที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมากก็ตาม
แต่โดยภาพรวมยังคงมีการทิ้งขยะอาหารอยู่ทุกวัน ทั้งจากครัวเรือน และร้านค้า ส่งผลให้เกิดการเน่าเสียของขยะอาหาร และนั่นก็ยังเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย
จากรายงานของไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 กล่าวว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประเมินว่า ในทุกๆปี มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเน่าเสียของขยะอาหารราว 8% ของโลก ด้วยเหตุนี้ ขยะอาหารจึงยังคงเป็นปัญหาที่เหล่าดีไซเนอร์หรือผู้ประกอบการด้านอาหารต่างให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อไม่นานมานี้ ทาง Studio Barbara Gollackner เป็นสตูดิโอที่ตั้งอยู่ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ต้องการเป็นฟันเฟืองเล็กๆในการแก้ไขปัญหานี้จึงได้จัดแสดงผลงานภาชนะต่างๆที่สตูดิโอผลิตขึ้นจากขยะอาหารและอาหารเหลือทิ้งที่รวบรวมจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน โดยทางสตูดิโอได้ทำงานร่วมกับเชฟและเจ้าของร้านอาหารในการสร้างสรรค์ภาชนะเหล่านั้น
คุณ Gollackner ได้เล่าให้เว็บ Dezeen ฟังว่า “ไอเดียนี้ผุดขึ้นมาหลังจากที่ฉันได้อ่านเกี่ยวกับสถิติการเกิดขยะอาหารในยุโรปซึ่งมีมากถึง 90 ล้านตันต่อปี ขณะเดียวกัน มีการผลิตขยะอาหารจากอาหารที่ใช้แล้วทิ้งอีกถึง 30 ล้านตัน ฉันจึงคิดถึงวิธีการที่จะเชื่อม 2 ปัญหานี้เข้าด้วยกัน และพยายามสร้างสรรค์ภาชนะใหม่ๆจากขยะอาหารนั่นเอง”
เธอยังเล่าถึงกระบวนการผลิตภาชนะต่างๆด้วยว่า ทางสตูดิโอได้รวบรวมขยะอาหาร เช่น หนังหมูและขนมปังที่เสียแล้ว จากครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เมื่อได้ขยะอาหารมาแล้ว ทางสตูดิโอก็ต้องนำมาคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกันและนำเห็ดไมซีเลียมผสมเข้าไปเพื่อให้การจับตัวดีขึ้น ซึ่งจะได้วัสดุคล้ายแป้งเหนียวๆที่จะนำไปใส่ลงในพิมพ์โดยใช้เทคนิคการพิมพ์สามมิติที่มีเชฟและนักออกแบบด้านอาหารอย่าง Peter König คอยดูอยู่ไม่ห่าง โดยภาชนะในคอลเลคชันนี้ ประกอบไปด้วย ช้อนชาสีม่วงเข้ม ถ้วยสีเขียวมอส และชามสีเบจ
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการรังสรรค์ผลงานจากขยะอาหารของคุณ Gollackner ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีอีกหลายทางเลือกที่จะสามารถทิ้งขยะอาหารได้ นอกเหนือจากการนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีนักออกแบบอีกหลายคนที่มีไอเดียในการนำขยะอาหารมาใช้ผลิตเป็นภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆที่ยั่งยืน
credit :
https://www.dezeen.com/2021/09/28/vienna-design-week-barbara-gollackner-tableware-food-waste/