ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกยังคงมีความกระตือรือร้นในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งบนพื้นที่ราบและบนตัวอาคาร โดยหลายโปรเจ็คที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
เมืองรอตเทอร์ดาม เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นอีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่ไม่ละความพยายามดังกล่าว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 รอตเทอร์ดามได้ชื่อว่าเป็นหลังคาเขียวชอุ่มที่ยาวที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังสร้างโปรเจ็คสวนเขียวแห่งใหม่บนดาดฟ้าขนาด 7,600 ตารางเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมด้วยการกักเก็บน้ำในช่วงฝนตกหนัก
สวนเขียวดังกล่าวยังสามารถเป็นแม่เหล็กดึงดูดแมลงและนกต่างๆให้เข้ามาอยู่อาศัยซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมือง และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้ว บรรดาต้นไม้ในสวนดังกล่าวยังช่วยปรับสมดุลของอุณหภูมิภายในตัวอาคารที่พักได้ทั้งในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว และยังช่วยดูดซึมน้ำเพื่อป้องกันการรั่วไหลมายังภายในอาคารได้อีกด้วย
สวนเขียวแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่บนดาดฟ้าคอมเพล็กซ์ที่พักอาศัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งหนึ่งชื่อว่า “Paperklip” ซึ่งมีรูปทรงคล้ายคลิปหนีบกระดาษ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 549 ห้องและคนอาศัยอยู่ราวๆ 1,300 คน โปรเจ็คนี้เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลและสมาคมเคหะท้องถิ่น ที่ได้รับทุนในการพัฒนาโครงการจาก LIFE @ Urban Roofs project for climate action ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป
คอมเพล็กซ์แห่งนี้ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชม และยังสนับสนุนให้เด็กๆที่อยู่ในชุมชนได้สื่อมุมมองเกี่ยวกับความยั่งยืนด้วยการวาดภาพฝาผนัง โดยมีทีมโค้ชคอยให้คำแนะนำและปลุกพลังของผู้อยู่อาศัยในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมในอาคาร กล่าวได้ว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเป้าเหมายสำคัญของชาวรอตเทอร์ดามเนื่องจากเมืองท่าแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4 เมตร และเปราะบางต่อการเกิดอุทกภัย
นับเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็คที่เน้นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเมืองที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดตลอดช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ เมืองรอตเทอร์ดามได้ทำโปรเจ็คนำร่องอย่าง The Pavilion ที่ช่วยแก้ปัญหาขยะและเป็นที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ท้องถิ่น นอกจากนี้ เมืองรอตเทอร์ดามยังพัฒนาโปรเจ็คด้านความยั่งยืนอื่นๆอีกมากมาย เช่น Floating Farm เป็นต้น
ด้วยเหตุที่เมืองชายฝั่งต่างก็ได้รับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักผังเมืองต่างก็ต้องหาวิธีการและนวัตกรรมใหม่ๆในการออกแบบเมืองเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย ความเป็นผู้นำและการริเริ่มปรับเปลี่ยนเมืองของเมืองรอตเทอร์ดามได้กลายเป็นต้นแบบด้านการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart growth) ให้กับเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ การเชื่อมต่อชุมชน สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนให้เข้ากับการออกแบบเมืองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรวมที่ดีทั้งด้าน การเติบโต สุขภาพ และความปลอดภัย
SD Thailand ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เห็นเมืองต่างๆในประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืนและมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
Credit : www.goodnet.org/articles/huge-rooftop-garden-breaking-records-in-netherlands