ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่งของปัญหาโลกร้อนเกิดจากการเผาผลาญของพลังงานฟอสซิลที่ไปเพิ่มก๊าซที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลกส่งผลให้อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น จึงทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการหาโซลูชั่นต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาคือการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลที่มีอยู่อย่างจำกัดและคาดว่าจะหมดไปในอีกไม่ช้า
สหภาพยุโรปหรืออียู มีความตั้งใจที่จะเพิ่มขีดความสามารถในผลิตพลังงานจากพลังงานลมนอกชายฝั่งจาก 12 GW (กิกะวัตต์) เป็น 300 GW ภายในปี 2050 โดยคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของสหภาพยุโรปได้วางแนว “กลยุทธ์พลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง” ที่จะมุ่งเป้าผลิตพลังงาน 40 GW จากพลังงานมหาสมุทรควบคู่กันไป เช่น พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลงและคลื่นภายในกรอบเวลาเดียวกัน
สำหรับต้นทุนการลงทุนดังกล่าว ทางคณะกรรมาธิการคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เกือบ 8 แสนล้านยูโร โดยที่ 2 ใน 3 ของเงินลงทุนใช้ในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานกริด (Grid infrastructure) และ 1 ใน 3 ของเงินลงทุนใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าเงินลงทุนจะมาจากการลงทุนของภาคเอกชน
ด้าน Kadri Simson กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านพลังงาน กล่าวว่า “ภูมิภาคยุโรปเป็นผู้นำโลกด้านพลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่งและสามารถที่จะเป็นมหาอำนาจสำหรับการพัฒนาในระดับโลก” เธอเสริมว่า “ดังนั้น เราต้องเดินหน้าเกมของเราด้วยการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพลังงานลมนอกชายฝั่งและการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น พลังงานจากคลื่น พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง และโซล่าเซลล์ลอยน้ำ”
นอกจากนี้ ทาง WindEurope ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานลมแห่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า “การเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น 25 เท่า ในการผลิตพลังงานจากพลังงานลม นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนจำนวนมหาศาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน”
อย่างไรก็ดี ได้มีการอธิบายถึงความสำคัญของกลยุทธ์ใหม่ข้างต้นว่าเป็น “การลดปริมาณคาร์บอนของภาคพลังงานผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งเป็น “หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของ European Green Deal หรือ นโยบายลดโลกร้อนแห่งสหภาพยุโรป ที่มีเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050
credit:www.cnbc.com/2020/11/19/europe-plans-25-fold-increase-in-offshore-wind-capacity-by-2050.html