“สุขสยาม” ร่วมกับ กรมการข้าว กระทรวงเกษรตร, ไทยเบฟฯ จัดงาน “ข้าวแดนสยาม” เปิดพื้นที่ต้อนรับข้าวไทยฤดูกาลใหม่ผลิตผลจากผืนนา ภูมิปัญญาเกษตรกรไทย จากทั่วทุกภูมิภาคพร้อมจำหน่ายในราคาพิเศษจากผู้ปลูกถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างรายได้อย่างยั่งยืนแก่ชาวนาไทย
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อนำ “ข้าว” ซึ่งเป็นผลิตผลจากผืนนา ภูมิปัญญาเกษตรกรไทยหลากหลายสายพันธุ์ มาจัดจำหน่ายแก่ชุมชุนเมืองโดยตรงแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางในราคาพิเศษ และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์การต่อยอดอาชีพเกษตรกรสู่การเรียนรู้การสร้างรายได้ผ่านการค้า อันจะส่งผลให้เกิดรายได้ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สืบไป
โดยการจัดงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Rice Journey for Future หรือ การเดินทางของข้าว ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของเกษตรกร และแสดงถึงความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำชาวไทย ต่อยอดสู่อนาคตการค้าขายสินค้าเกษตรครบวงจร ภายในงานบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านรูปแบบการนำเสนอ 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ “ปลูก แปร เปลี่ยน” นอกจากนี้ผู้ร่วมงานยังจะได้รับองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนแนวคิดของกลุ่มเกษตรและชุมชนสหกรณ์ รวมทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ “บาร์ข้าวสวยสีสด” บาร์ข้าวสวยแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทยที่เสิร์ฟข้าวสวยจาก 20 พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ดีที่สุดให้ชิมฟรี โดยจะหุงสุกใหม่ทุกวัน จากหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจากโตชิบาเพียงผู้มาชมงานโพสต์รูปภายในงานแบบสร้างสรรค์ พร้อมใส่แฮชแทค #ข้าวแดนสยาม #SOOKSIAM ลงบน Facebook หรือ Instagram และตั้งค่าเป็นสาธารณะ ก็สามารถร่วมกิจกรรมเลือกชิมข้าวพันธุ์พิเศษ 7 ชนิด อาทิ
ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ได้แก่ ข้าวหอมไชยา เป็นข้าวพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่อยู่คู่ชาวอำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี มานานนับร้อยปี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เวลาออกรวงกลิ่นจะหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุงจะส่งกลิ่นหอมไปทั่วบ้าน ข้าวพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่ ข้าวปะกาอำปึล (ดอกมะขาม) เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองจ.สุรินทร์ ที่ให้ กาบ้าสูง มีโปรตีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก มีธาตุอาหารช่วยบำรุงผิวหนัง ระบบประสาท และเสริมสร้างเม็ดเลือด ข้าวพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่ ข้าวพญาลืมแกง เป็นข้าวเหนียวพันธุ์ไร่พื้นเมืองจ.เพชรบูรณ์ มีโปรตีนสูง มีสารที่จำเป็นสำหรับสตรีมีครรภ์ มีส่วนช่วยสร้างและซ่อมแซมดีเอ็นเอ ข้าวพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่ ข้าวขาวเงิน เป็นข้าวขาวคัดคุณภาพพิเศษราคาเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพการขัดสีดี สะอาด เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทานข้าวขาว ราคาย่อมเยา
ภายในงานยังนำนวัตกรรมเครื่องสีข้าวครัวเรือน “พร้อมสี” โดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีดี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) ในการพัฒนาเครื่องสีข้าวให้มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการสีข้าวเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ในปริมาณที่พอเพียงแก่ความต้องการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้คุณประโยชน์ของข้าวสูงสุดโดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที โดยนวัตกรรมนี้ นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวพันธุ์พื้นถิ่นต่างๆ ซึ่งเป็นข้าวปลอดสารพิษ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวสายพันธุ์ทั่วไปที่จำหน่ายในท้องตลาด นับเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง โดยปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเครื่องสีข้าวครัวเรือน “พร้อมสี” กว่า 150 เครื่องแล้ว ในงานสามารถรับชมการสีข้าวได้ที่บาร์ข้าวไทย และโรงสีข้าวที่เมืองสุขสยาม
นอกจากนี้ยังจัดแสดงแปลงนาสาธิตจาก “โครงการหงษ์ทองนาหยอด” โครงการนำร่องเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวนาไทย พบกับแปลงนาหยอดจำลองแบบแห้ง ก้าวสู่การปลูกข้าววิถีใหม่ทดแทนการทำนาหว่านแบบดั้งเดิม วิธีนี้ส่งผลให้ได้กอข้าวขนาดใหญ่ เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้สูงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว พันธุ์ที่นำมาสาธิตนี้เป็นข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู ที่มาจากพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 80,000 ไร่
และผู้ร่วมงานยังได้เพลิดเพลินกับ “ตลาดกลางนา” จากเกษตรชุมชนนำสินค้านวัตกรรมต่อยอดจากข้าวไทย ที่แปรรูปข้าวไทยในหลากหลายมิติ มาจำหน่ายมากมาย อาทิ ข้าวเป็นยา ข้าวเป็นเวชสำอาง ข้าวเพื่อการตกแต่ง พิเศษสุดกับการซื้อข้าวเปลือกพันธุ์ต่างๆ พร้อมบริการสีเป็นข้าวสารสดใหม่ให้ได้รับชมภายในงานฯลฯ
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถซื้อข้าวไทยผลผลิตจากชาวนาไทยผู้ปลูกข้าวโดยตรงแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแสดงเชิงวัฒนธรรมข้าว กิจกรรมเสวนาฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญจากกรมการข้าว กิจกรรมเวิร์กชอปแปลงโฉมข้าวไทย อาทิ ภาพศิลปะจากเมล็ดข้าว จี้เมล็ดข้าวสร้อยประดับ เข็มกลัดดอกไม้จากข้าวเปลือก ต่างหูประดิษฐ์จากเมล็ดข้าว ที่ทับกระดาษประดับด้วยเมล็ดข้าว และกิ๊บติดผมประดับด้วยเมล็ดข้าว เป็นต้น ร่วมแข่งขันประลองแบบข้าวๆ แข่งกินข้าวไวที่สุด และชมศิลปะการแสดงแบบไทย
ปัจฉิมบทส่งท้ายความสำเร็จของการจัดงาน ในวันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม เวลา 16.00 น. ได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยวัฒนา ร่วมถ่ายทอดพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อการ อนุรักษ์ข้าวไทย ในพิธี มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคลพืชผลรัชกาลที่9 The Rice Journey go Global เพื่อสืบสานต่อยอดการจัดงาน ข้าวแดนสยาม2021 เพื่อต่อยอดความสำเร็จนี้ให้คงอยู่อย่างมั่นคง ยั่งยืน สืบไป
งาน “ข้าวแดนสยาม” ผลิตผลจากผืนนา ภูมิปัญญาเกษตรกรไทย ระหว่างวันที่ 1-7 ธันวาคมนี้ ณ เมืองสุขสยาม บริเวณชั้น G ไอคอนสยาม