เอไอเอส จับมือธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการความยั่งยืนแห่งแรกใน ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ภายใต้แนวคิดเชิงบูรณาการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G และ IoT มาเป็นฐานรากเพื่อสร้างความยั่งยืน ตั้งเป้าเป็นพื้นที่ทดลองและการลงมือปฏิบัติของนักคิด นักประดิษฐ์ รองรับการพัฒนานวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS ที่ถือเป็นแห่งแรกในเอเชีย โดยเอไอเอสมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลที่ดีและทันสมัยที่สุด โดยเฉพาะ 5G มาให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์ ตลอดจนเห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยในระยะยาว
โดยมีขอบข่ายการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติอย่างสร้างสรรค์ ประกอบด้วย
1) Climate& Environment พัฒนาความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาเพื่อสังคม
2) City พัฒนาระบบ การขนส่ง และระบบการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
3) Living พัฒนาความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนให้กับคนในสังคม ผ่านการบริหารจัดการพลังงาน, ทรัพยากรธรรมชาติ และขยะรวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์
4) Farming พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนที่จะตอบรับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
5) People ส่งเสริมการมีส่วนร่วมองประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายของ SDG Lab by Thammasat & AIS นี้ จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ที่เปิดโอกาสและเชื่อมโยงนวัตกร นักพัฒนา และนักประดิษฐ์จากทั่วโลกที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนได้เข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมต้นแบบที่ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาได้จริง โดยสามารถใช้งาน Network Infrastructure โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้ง 5G, IoT, Fibre และ AIS Super WiFi รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ภายในศูนย์ฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมต้นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมทดลอง ทดสอบบนเครือข่ายและสภาพแวดล้อมจริงได้เลย
นอกจากนี้ เอไอเอส ยังติดตั้งอุปกรณ์ IoT ควบคุมดูแลการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติ และติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศและวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไว้บนแปลงเกษตร Rooftop อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านระบบฟาร์มอัจฉริยะ Smart Farm เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ
ซึ่งในอนาคตก็จะนำ AIS 5G มาใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มากยิ่งขึ้น อาทิ การบริหารจัดการการจราจร ผ่านเทคโนโลยี Smart Parking และ Autonomous Car (รถยนต์ไร้คนขับ) เพื่อเดินหน้ายกระดับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ Smart University อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน”
ด้าน รศ.เกศินี วิทูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ตลอดจนร่วมกันสร้างองค์ความรู้ที่บูรณาการสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง
“การสานต่อความร่วมมือกับเอไอเอส ในการนำเทคโนโลยีดิจทัลที่สำคัญอย่าง 5G, IoT และดิจิทัลโซลูชันอีกมากมายเข้ามาใช้ภายในศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS และครอบคลุมบริเวณอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ทั้ง 100 ไร่ นี้ จะทำให้การบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้นวัตกรรมต่างๆ ที่เราได้คิดและพัฒนาสามารถเกิดขึ้นได้จริง และเป็นต้นแบบของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนให้กับประเทศ ที่จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักศึกษา นวัตกรรุ่นใหม่ และเหล่าสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจริง”