ซีพี จับมือกับ กระทรวงทรัพยากรฯ , กรมป่าไม้ , กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ อบก. ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การฟื้นฟูป่า” กับ ซีพีเอฟ ซึ่งดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าบกและป่าชายเลน ระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่รวม 26,000 ไร่ พร้อมตั้งเป้า ปี2573 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดขยะของเสียเป็นศูนย์
การลงนามได้มีขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ร่วมด้วย จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ผู้บริหาร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยมี ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นสักขีพยานการลงนาม ร่วมกันระหว่าง อดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ ,ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช , เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก. และ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2568 พื้นที่ 7,000 ไร่ และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พื้นที่อ่าวไทย ตัว ก. จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างปี พ. ศ. 2562 – 2566 พื้นที่ 14,000 ไร่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่เขียวในสถานประกอบการของซีพีเอฟ อีก 5,000 ไร่
เริ่มด้วย วราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว ในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการระหว่างประเทศที่มุ่งสู่การเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและภาคประชาชนให้ตระหนักรู้ต่อผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกและเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
“ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใกล้ตัวกว่าที่คิด การแก้ไขปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ” วราวุธกล่าว
รมต.วราวุธ ยังกล่าวถึง โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี และพื้นที่อ่าวไทย ตัว ก. จังหวัดสมุทรสาครทั้งสองผืนของซีพีเอฟว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นที่พักพิงของสัตว์ทะเล ซึ่งการฟื้นฟูป่าทั้งสองแห่ง สามารถขยายผลและเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ป่าอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ด้าน ศุภชัย กล่าวว่า เครือซีพี ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ภาคเอกชนมีหน้าที่ที่จะต้องมีความตระหนักรู้ และควรมีการวางเป้าหมาย กำหนดตัวชี้วัดในการก้าวสู่ยุคที่มีความรับผิดชอบต่อระบบของสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม ระบบความยั่งยืนในภาพรวม เครือซีพีจึงตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายใน พ.ศ. 2573
“เครือซีพีในฐานะที่เรามีความตระหนักในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงตั้งเป้าให้ปี 2573 การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานของเครือฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และลดขยะของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งของความพยายามทั้งหมด” ศุภชัยกล่าว
การผนึกกำลังและความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้มองเห็นทางออกในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น โดยมีภาครัฐเป็นแกนนำเป็นตัวอย่างและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคเอกชน ซึ่งเครือซีพีพร้อมปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐในด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม