121 ปีถนนราชำเนิน เล่าเรื่องราวผ่านความทรงจำ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย ”

ปีนี้ถนนราชดำเนินมีอายุ 121 ปี มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ วันเวลาผ่านไปหลายคนอาจลืมเลือนไปบ้าง ผิดเพี้ยนไปบ้าง มิวเซียมสยามจึงจัดนิทรรศ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย ” เป็นการเล่าเรื่องถนนราชดำเนินผ่านความทรงจำจากคนต่างยุคต่างวัยที่มองถนนสายเดียวกันแต่คนละแง่มุม

มิวเซียมสยาม ชวนคนไทยร่วมชมแสดงนิทรรศการหมุนเวียนประจำปี 2563 “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย” บอกเล่าความทรงจำและประวัติศาสตร์สังคมไทยผ่านถนนราชดำเนิน ถนนสายเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันมีอายุครบ 121 ปีแล้ว ผ่านการนำเสนอนิทรรศการรูปแบบใหม่ที่ชวนคนต่างวัยมาร่วมเล่าเรื่องราชดำเนินผ่านประสบการณ์ ความเข้าใจ และความทรงจำ

นับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินขึ้นในปี 2442 เพื่อใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต และเพื่อประชาชนได้ใช้เดินทางสัญจรไปมาค้าขาย จวบจนถึงปัจจุบันถนนราชดำเนินได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมีอายุยืนยาวมาถึง 121 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถนนราชดำเนินไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่หลากหลายเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่บันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ และความทรงจำให้กับผู้คนต่างรุ่นต่างรุ่นวัย ต่างยุคต่างสมัยด้วย ซึ่งความทรงจำแห่งถนนราชดำเนินที่มีมากมายหลากหลายนั้น ได้ถูกคัดเลือกและนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย” ผ่านความทรงจำจากผู้คนต่างยุคต่างวัยในมุมมองที่แตกต่างกัน

ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย” เล่าถึงที่มาของการจัดทำนิทรรศการชุดนี้ ว่าเริ่มต้นจากการมองราชดำเนินเป็นถนนสายที่สำคัญของประเทศ และเป็นถนนที่ได้เก็บรวบรวมความทรงจำของผู้คนหลากหลายเจเนอเรชันเอาไว้ ประกอบกับในปีนี้ถนนสายนี้กำลังมีอายุครบ 121 ปีพอดี จึงคิดจัดทำนิทรรศการเพื่อสื่อถึงเรื่องราวของถนนราชดำเนิน โดยดึงให้ผู้คนต่างวัยที่กำลังมีความคิดขัดแย้งไม่เข้าใจกัน อันเนื่องมาจากช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน (Generation) ในสังคมขณะนี้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสารเรื่องราว เป็นการสร้างเสริมทักษะใหม่ในการพูดคุยระหว่างคนต่างเจนในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้เกิดการประสานความคิด และเกิดความเข้าใจในความแตกต่างของกันและกันบนพื้นฐานของประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

“วิธีการนำเสนอจะพยายามสื่อให้เห็นว่าในทุกวันนี้มันมีเรื่องของช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชันที่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคม จุดเริ่มต้นส่วนแรกคือ ปีนี้ถนนราชดำเนินมีอายุครบรอบ 121 ปี เราจึงคิดว่าต้องทำเรื่องนี้เพราะเป็นถนนสายที่บันทึกเรื่องราวของสังคมไทยเอาไว้อย่างแหลมคมมาก ทุกจุดบนถนนราชดำเนินผ่านการคิดมาแล้วอย่างดี และถนนสายนี้เป็นถนนที่บันทึกความทรงจำของคนในหลายเจนเนอเรชันเอาไว้ สองส่วนนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่หยิบเอาเรื่องนี้มาทำ และคิดว่าน่าจะเหมาะกับสังคมในเวลานี้ เพราะสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบแล้ว และเรากำลังมีช่องว่างระหว่างวัยเกิดมากขึ้นด้วย การทำนิทรรศการนี้จึงเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเล่าและประสบการณ์ของผู้คนในจุดเดียวกัน เพื่อจะทำให้คนต่างเจนเนอเรชันสามารถคุยกันได้”

แม้จะเน้นเรื่องราวของราชดำเนินผ่านความทรงจำของคนต่างวัย แต่ถนนสายนี้ก็มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ของชาติด้วย ซึ่งถนนราชดำเนินนั้นก็มีข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์จำนวนมากด้วย การจำกัดกรอบความคิดที่จะใช้เป็นธีมหลักในการเล่าเรื่องราวจึงถือเป็นเรื่องยากของการจัดนิทรรศการนี้

 

“ราชดำเนินในส่วนของประวัติศาสตร์และสังคม เรามีอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้สืบค้นข้อมูลให้ในเบื้องต้น โดยจะมีทีมงานภัณฑารักษ์มาช่วยกันค้นข้อมูลอีกทีหนึ่ง ความยากคือถนนราชดำเนินมีข้อมูลเยอะมาก ผ่านมาตั้ง 121 ปี เราจึงต้องกำหนดกรอบความคิดประมาณหนึ่งก่อน ว่าจะทำอย่างไรให้การนำเสนอเป็นเรื่องของราชดำเนิน เป็นหัวใจของถนนราชดำเนินจริงๆ เราจึงต้องหามิติของการนำเสนอที่สามารถจะสะท้อนความเป็นถนนราชดำเนินจริงๆ ออกมา ซึ่งเราคิดว่าถนนราชดำเนินนั้นเป็นเสมือนสนามประชันความคิดกันของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งราชดำเนินสามารถเล่าได้ในทุกมิติ ทั้งการค้า การเมือง สังคม แต่ในโอกาสที่เราสามารถเล่าได้แค่ครั้งเดียว และต้องเล่าในบริบทปัจจุบัน ความยากและความท้าทายคือ เราจะเล่าอย่างไร”

และนี่คือจุดเด่นของนิทรรศการนี้ นั่นคือ การเลือกที่จะเล่าเรื่องของถนนราชดำเนินในบริบทของการเป็นพื้นที่ประชันความคิดของคนแต่ละยุคได้อย่างแหลมคมและน่าสนใจ ซึ่งการประชันความคิดนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องราวการประชันความคิดระหว่างความทันสมัยของบ้านเมืองกับความเก่าหรือวัฒนธรรมความเชื่อเดิมบนถนนสายนี้ด้วย

 

“ช่วงนั้นมีลัทธิล่าอาณานิคม ชาติตะวันตกจะอ้างความเหนือกว่าเพื่อเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ซึ่งสยามต้องปรับตัว เพื่อทำให้เห็นว่าเรามีอารยธรรมเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาก็คือ ถนนราชดำเนิน และพระราชวังดุสิต ที่เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเรามีอารยะ ดังจะเห็นว่าจากเดิมที่ในพระบรมมหาราชวังจะมีอาคารทรงไทย ทรงไทยประยุกต์ แต่ที่พระราชวังดุสิตจะเน้นเป็นตึกโก้แบบฝรั่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีอารยะเหมือนนานาประเทศ เมื่อมีพระราชวังสองแห่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีถนนเชื่อมพระราชวัง ซึ่งถนนเส้นนี้มันก็ต้องโก้มากเช่นกันนั่นก็คือถนนราชดำเนินนี่เอง”
ความทันสมัยในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่เกิดขึ้นบนถนนเส้นนี้ คือการประชันกันของเรื่องราวผ่านยุคผ่านสมัยที่จะถูกนำมาบอกเล่าผ่านนิทรรศการ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราจะเห็นภาพของราชดำเนินที่มีทั้งการปะทะ การผสมผสาน และการประนีประนอมอยู่ด้วยกัน

ภัณฑารักษ์หนุ่มประจำนิทรรศการได้ยกตัวอย่างถนนราชดำเนินเมื่อช่วงแรกสร้าง ที่โดยเส้นทางจะต้องมีการตัดผ่านวัดปรินายก ซึ่งสมัยก่อนเป็นวัดที่ใหญ่มาก หากมองความทันสมัยคือถนน และความดั้งเดิมคือวัดปรินายก ในกรณีนี้ก็มีการประนีประนอมกันเกิดขึ้น นั่นคือ ในการตัดผ่านวัดมีการรื้อวัดรื้อเจดีย์ออก แต่ในหลวง รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดคืนให้ใหม่ในพื้นที่ของวัดเอง ถือเป็นภาพที่มีความทันสมัยและความดั้งเดิมมาประชันกัน และเกิดเป็นการประนีประนอมกัน

เช่นเดียวกับกรณีของเวทีมวยราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยแห่งแรกที่สร้างกติกาให้มวยไทยมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น เช่น การกำหนดรุ่นชกที่มีน้ำหนักชัดเจน จำนวนยก และขนาดของเวที เป็นต้น ซึ่งสิ่งใหม่ของเวทีมวยไทยที่อยู่คู่กับถนนราชดำเนินนี้ก็คือ การสร้างให้มีมาตรฐานนั่นเอง และความมีมาตรฐานนั้นก็ต้องมาประชันกันกับเวทีอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในยุคนั้นมีเวทีมวยอยู่เป็นจำนวนมาก และการสร้างมาตรฐานของเวทีมวยราชดำเนินก็ทำให้เวทีมวยอื่นๆ ต้องปรับมาตรฐานไปด้วย เป็นการทำให้วงการมวยไทยก้าวหน้า ถือเป็นการประชันที่จบลงด้วยการผสมผสาน

อย่างไรก็ตามหากมองการประชันระหว่างความทันสมัยและความดั้งเดิมที่จบแบบปะทะกัน มีสิ่งหนึ่งคงอยู่และสิ่งหนึ่งหายไป บนถนนเส้นนี้ก็มีตัวอย่างของเรื่องราวที่ถูกเล่าขานกันอยู่ไม่น้อย อย่างกรณีของ ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่ทันสมัยมากในยุคนั้น ลักษณะของอาคารเป็นทรงโมเดิร์นแบบตะวันตกที่ไม่มีหลังคา เป็นรูปทรงเหลี่ยม เน้นฟังก์ชั่นการใช้สอย ไม่มีลวดลายเกินความจำเป็น ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินไป เป็นการสะท้อนแนวคิดในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการเน้นเรื่องของอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อผ่านมาอีกยุคสมัยหนึ่งที่ผู้คนให้คุณค่าทางวัฒนธรรมกับวัดมากกว่าโรงมหรสพของคนทั่วๆ ไป ศาลาเฉลิมไทยก็ถูกทุบทิ้ง เพื่อเปิดเผยให้เห็นมรดกทางวัฒนธรรมของวัดกับวัง นั่นคือความสวยงามของโลหะปราสาทและวัดราชนัดดา

“ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย” นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของราชดำเนินในความทรงจำและในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้นิทรรศการนี้ “น่าดู” ก็คือ การเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการนำสิ่งของที่สะท้อนเรื่องราวของราชดำเนินมาร่วมจัดแสดงด้วย ซึ่งสิ่งของบางอย่างอาจจะไม่ใช่ประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่เป็นความทรงจำของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อถนนสายนี้ และทำให้ถนนสายนี้ดูยิ่งใหญ่ในใจของคนไทยทุกคน

“เกณฑ์การคัดจะเลือกสิ่งของที่มาจัดแสดง เราจะเลือกสิ่งของที่สามารถเล่าเรื่องราวได้เยอะ ทำให้คนได้เห็นภาพของถนนราชดำเนินได้มากๆ เช่น ถุงของแก๊สน้ำตา ถ้าเราดูในภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา เราจะเห็นถุงอย่างหนึ่ง คล้ายๆ ถุงก๊อบแก๊บใบใหญ่ๆ ดูเผินๆ เราอาจจะไม่รู้ว่ามันคือถุงที่เอาไว้กันแก๊สน้ำตาสมัย 14 ตุลา หรือโปสการ์ดที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่จริงๆ มันคือโปสการ์ดสมัยปี 2508 ที่มีเรื่องราวความประทับใจเกิดขึ้น เมื่อคุณป้าคนหนึ่งได้มาสัมผัสถนนราชดำเนินสมัยนั้น ซึ่งมีการประดับไฟสวยงามมาก และเธออยากส่งความรู้สึกประทับใจนี้ให้แก่คนรุ่นหลัง จึงได้ส่งโปสการ์ดสีใบนี้มาร่วมจัดแสดง ซึ่งทีแรกเราก็ดูว่ามันธรรมดา แต่พอมานึกถึงว่าในตอนนั้นมันเป็นยุคทีวีขาวดำนะ สิ่งที่มันจะถ่ายทอดอารมณ์ในตอนนั้นออกมาได้ดีก็คือโปสการ์ดอันนี้แหละ”

ภัณฑารักษ์หนุ่มประจำนิทรรศการ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย” ยังบอกอีกว่าทีมงานได้พยายามเลือกของมาจัดแสดงให้ครบทุกมิติ ทั้งเรื่องการเมือง ความประทับใจส่วนบุคคล และเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ เช่น จักรยานที่มีผู้นำไปเข้าร่วมกิจกรรม Bike for Dad และมีสวยงามมากจนมีคนเข้าไปขอถ่ายรูปในงานกันเป็นจำนวนมาก หรือผ้าม่านของศาลาเฉลิมไทยในวันที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทยถูกทุบทิ้ง ก็มีผู้ไปเก็บผ้าม่านนี้ออกมา เป็นต้น เห็นได้ชัดว่าสิ่งของหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับราชดำเนินและถูกคัดเลือกนำมาจัดแสดงนั้น เป็นตัวแทนความทรงจำ ความรู้สึก และเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงตัวตนของคนๆ หนึ่งได้เลยทีเดียว

“ผมคิดว่านิทรรศการนี้มันเล่าเรื่องได้หลายเลเยอร์ (Layer) ในทางหนึ่งเราเล่าถึงราชดำเนินในการเป็นพื้นที่ประชันความคิด และคนรุ่นปัจจุบันก็มาดูได้ว่าแต่ละจุดของราชดำเนินนั้นมีการประชันความคิดกันอย่างไร ผลเป็นอย่างไร อีกทางหนึ่งคือการเน้นเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์ของผู้คน เป็นการเก็บข้อมูลของผู้คนมากมาย และกลั่นออกมาเป็นเส้นทางที่เรียกว่า “ล่องรอย” ก็คือล่องไปตามรอยของผู้คน เราอยากให้คนที่มาชมนิทรรศการได้ลองสวมบทบาทเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่านอกจากจะทำให้เรารู้จักถนนราชดำเนินมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะให้กับเราในการเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น และอาจทำให้เรามีทักษะที่จะมีขันติต่อสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยมากขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นทักษะที่สำคัญในยุคที่เรามีเจเนอเรชันแก๊บ (Generation Gap) เยอะมากมายในช่วงนี้”

อีกหนึ่งความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ก็คือการนำเสนอเรื่องราวราชดำเนินโดยภัณฑารักษ์วัยเก๋า หรือคนหนุ่มสาวยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่มาร่วมสร้างสรรค์นิทรรศการได้อย่างน่าสนใจ มีทั้งความละมุน เฉียบคม และลุ่มลึก ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่อยากชวนให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาชม และลองมาสวมบทบาทมองราชดำเนินในมุมมองของผู้คนที่แตกต่างกันไป เพื่อ เรียนรู้ความแตกต่างบนพื้นฐานความเข้าใจซึ่งกันและกัน

“ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการประสานวัย” ประกอบด้วยนิทรรศการ 4 ส่วน ได้แก่ 1.การแนะนำนิทรรศการและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของถนนราชดำเนิน 2.ล่อง รอย ที่นำเสนอประวัติศาสตร์การประชันทางความคิดของคนหลายยุคสมัย 3.สถานที่สำคัญบนถนนราชดำเนิน และ 4.นิทรรศการของภัณฑารักษ์วัยเก๋า เพิ่มความสนุกให้กับผู้เข้าชมมากขึ้นเพียงสแกนคิวอาร์โค้ด รับฟังเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องภายในนิทรรศการฯ ตาม 8 เส้นทาง ได้แก่ 1.บทเพลงแห่งราชดำเนิน 2.อยู่ราชดำเนิน 3.หนังสือที่มีแต่นิยายชีวิต 4.วังปารุสก์ 5.ตามรายทาง 6.อย่าได้อ้างว่าฉันเป็นผู้หญิงของเธอ 7.ราชดำเนินเปอร์สเปคทิฟ และ 8.รสชาติแห่งยุคสมัย

“ผมอยากให้มาดูนิทรรศการนี้กัน แม้ว่าถนนราชดำเนินก็คือถนน แต่ความยิ่งใหญ่ของมันคือประสบการณ์ของเราทุกคน ผมอยากให้มาชมนิทรรศการและลองใส่ความทรงจำของทุกคนลงไป เพื่อทำให้ราชดำเนินของแต่ละคน กลายเป็นราชดำเนินของเรา การจัดแสดงครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 กันยายน – 31 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ไม่เสียค่าเข้าชม ซึ่งผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินและเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไปพร้อมกัน”

 

Stay Connected
Latest News