กรมประมง ร่วมกับชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก และ ซีพีเอฟ สานต่อความร่วมมือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เติมความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งนำองค์ความรู้อนุบาลปลาก่อนปล่อยลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของปลาที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาปริมาณปลาในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ลดลง และสร้างระบบนิเวศที่สมดุล ซึ่งในช่วง 4 ปีมานี้ ( ปี 2559-2562) ทั้ง 3 ภาคส่วนได้ร่วมกันปล่อยปลาสู่แหล่งน้ำ จำนวน 2.6 ล้านตัว และในปี 2563-2566 ร่วมกันดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง ปล่อยปลาลงเขื่อน มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนปลาที่จับได้ในแหล่งน้ำเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานด้านการอนุบาลปลา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ซีพีเอฟต่อยอดจากโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธงอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ถาวร จิระโภสณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ได้เป็นประธานปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออกจากกระชังอนุบาลลงสู่แหล่งน้ำ และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่กระชังอนุบาลเพื่ออนุบาลต่อ โดยมี จุมพล สงวนสิน อดีตอธิบดีกรมประมง ในฐานะที่ปรึกษากรมป ระมง . จรูญศักดิ์ เพชรศรี ผู้อำนวยการกองตรวจการประมง .เขมชาติ จิวประสาท หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมประมง .ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว . อำเภอพัฒนานิคม ชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ผู้บริหารสายธุรกิจเป็ดเนื้อของซีพีเอฟและพนักงาน ร่วมกิจกรรม ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงมีนโยบายสร้างผลผลิตเพิ่มในแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมือนธนาคารผลิตสัตว์น้ำ ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมีปลา และสร้างความยั่งยืนด้านแหล่งอาหารของชุมชน ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการต่างๆ ถือว่าทุกภาคส่วนมีการบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อพื้นที่ ชุมชน และประชาชนต่อไป
ด้าน ธณพล สกุลวิวรรธน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจเป็ดเนื้อ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การปล่อยปลาลงเขื่อน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่บริษัทฯ ร่วมมือกับกรมประมง และชุมชนพื้นที่เขตลุ่มน้ำป่าสัก ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำ สร้างความมั่งคงทางอาหารของชุมชน และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเชื่อมโยงกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ภายใต้โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ที่ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 5,971 ไร่
ส่วน กีรติศักดิ์ สุวรรณธนะกรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 โคกสลุง ในฐานะประธานโครงการอนุบาลปลา กล่าวว่า ในอดีตมีการปล่อยปลาลงเขื่อนจำนวนมาก แต่พบปัญหาลูกปลามีอัตราการรอดต่ำ ส่งผลต่อปริมาณปลาที่จับได้ที่หน้าท่าลดลงทุกปี กระทบชุมชนโดยรอบเขื่อนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพจับปลา ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก กรมประมง และซีพีเอฟ นำแนวทางอนุบาลปลาเพิ่มอัตราการรอดของปลาที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำ ทำให้มีปริมาณปลาเพิ่มขึ้น เกษตรกรและชุมชนโดยรอบเขื่อน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพจับปลา และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ปลาส้ม ปลาย่าง และ ปลาร้า เป็นต้น ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปี 2559-2563 ซีพีเอฟดำเนินโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง โดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ ชุมชนรอบเขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ ขยายสู่โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร และโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืน