ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จากเวทีประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด”9 ปีของการประกวด พบพัฒนาการของผู้เข้าประกวดอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการเกษตรครบวงจร โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐานในการขับเคลื่อนธุรกิจ ครอบคลุมการผลิต การตลาด และการขาย โดยผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตัวเองมี ซึ่งต่างจากอดีตที่เป็นเกษตรเชิงวัฒนธรรม ทำตามๆ กันจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน
“ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภาคการเกษตรไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอย่าง 5G และอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things) ทำให้เกษตรกรต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร สภาวะโลกร้อน ปัญหาความยากจน ซึ่งทำให้เกิดทั้งความท้าทายและโอกาสเชิงเศรษฐกิจและสังคม”
ทั้งนี้ จากผู้สมัครเข้าประกวดกว่า 80 คน ในปีนี้ พบแนวโน้มสำคัญของเกษตรไทยยุคใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 เทรนด์ ได้แก่
1.เกษตรเชิงข้อมูล (Data-driven farming) เกษตรกรนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในการวางแผนการทำงาน เพื่อประเมินปัจจัยทางการเกษตรต่างๆ ตลอดจนทำนายความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงการผลิต ผ่านระเบียบวิธีวิจัยและสถิติอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเปิดจากแหล่งอื่นๆ ทำให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต และสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด
2. พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เกษตรกรมีการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่การเกษตรนั้นๆ โดยคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือที่ทำให้เกิดการนำพลังงานมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุนจากการใช้พลังงานในขั้นตอนอื่นๆ
3. ควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี (Bio-pesticides) ถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมขึ้นในปัจจุบัน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับงานวิจัยที่เกษตรกรคิดขึ้น ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยและลดต้นทุนจากสารเคมีได้ เช่น การคิดค้นปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตจากเชื้อราไมคอร์ไรซาและเชื้อไรโซเบียม ช่วยในการเจริญเติบโตและป้องกันโรคพืชที่เกิดขึ้น
จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พบว่ามีจุดร่วมสำคัญคือการใช้ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงข้อมูล” เป็นฐานของการทำการเกษตร ตั้งแต่การวางแผน การวิเคราะห์ตลาด การเพาะปลูก การแก้ปัญหาโรคพืช ตลอดจนการส่งต่อถึงมือผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเกษตรไทย โดยเฉพาะวิธีคิดและทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ตอกย้ำอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด
ข่าวเกี่ยวข้อง
–ถอดบทเรียน เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ’60 สร้าง Sustainability ต้นน้ำ