เอไอเอสชวนผู้บริโภคคนไทยเดินหน้าสร้างภารกิจช่วยโลก ด้วยภารกิจ “ Mission Green 2020 ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ช่วยเก็บกู้ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีและยั่งยืน ดำเนินการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม
เรามักจะคุ้นชินกับรถกระบะที่ขับไปตามหมู่บ้านที่รับซื้อเครื่องไฟฟ้าและมือถือเก่า ๆ เพื่อแลกกับไข่ไก่จำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากได้เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้มีมาแล้ว จะทำการแยกเฉพาะแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาไปขาย แต่ส่วนที่เหลืออื่น ๆ จะนำไปทิ้งปะปนกับขยะทั่ว ๆ ไป ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ยังมีสารตกค้างเมื่อถูกทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะไหลลงสู่พื้นดินปะปนกับน้ำใต้ดิน และในที่สุดสารพิษก็จะกลับมาปนเปื้อนในผัก ผลไม้หรืออาหาร เป็นอันตรายต่อมนุษย์
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” คนไทยเริ่มรู้จักคำนี้มาเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มานานแล้ว และขยะเหล่านี้ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดมลภาวะและเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกร รายงานว่า จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ช่วงปี 2556- 2559 มีจำนวน 380,605 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2.2 % ในจำนวนนี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียง 7.1 % เท่านั้น ที่เหลือคือถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี เพราะไม่มีการสร้างการตระหนักรู้ถึงพิษภัยที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม
เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider จึงเดินหน้าภารกิจสำคัญในการร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย ด้วยภารกิจ “ Mission Green 2020” โดยอาสาเป็นแกนนำในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste อย่างถูกวิธีและยั่งยืน
นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท เอไอเอส จำกัด กล่าวว่า “วิธีที่จะกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ง่ายที่สุดคือต้องร่วมมือกัน เก็บและแยกกำจัดให้ถูกวิธี โดย ตอนนี้เอไอเอสร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ คือบริษัทเทส ซึ่งเป็นผู้คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และกำจัดอย่างถูกวิธี โดยเปิดจุดรับจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด”
#ทิ้งE-WasteกับAISวิธีคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขณะนี้อไอเอสได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แบตตารี่มือถือ สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ และหูฟัง เพื่อนำไปส่งต่อให้กับบริษัท เทส จำกัดนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill โดยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภทมาทิ้งได้ที่ถังขยะ E-Waste ที่เอไอเอสช็อปทั่วประเทศ และศูนย์การค้าของ CPN และในอนาคตจะขยายจุดรับทิ้งมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนักรู้กับพนักงานโดยตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่สำนักงานใหญ่ทุกภูมิภาคและยังได้จัดกิจกรรมใหญ่ “ กรีน พหลโยธิน” เครือข่ายรณรงค์รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste จากหน่วยงานและประชาชนตลอดเส้นทางถนพหลโยธิน สร้างโมเดลต้นแบบเมืองสีเขียว ที่สามารถคัดแยก และกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste ได้อย่างถูกวิธี
ปลายทางแยกขยะ E-Waste
กรวิกา ชัยประทีป ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เทส จำกัด กล่าวว่า “ เราทำงานร่วมกับเอไอเอเพื่อเป้าหมาย Zero Landfill คือไม่มีการฝังกลบลงในดินเพราะจะย่อยสลายยากในอนาคต ทั้งนี้เทสให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล ดังนั้นหลังจากแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก็จะขายให้ผู้ประกอบการให้นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อนำกลับรีไซเคิลได้ 100 % ส่วนพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทางเทสจะใช้วิธีการบดแล้วนำไปผสมกับเมล็ดพลาสติกแล้วใช้น้ำยาประสานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของเรา เพื่อฉีดขึ้นรูปเป็นพาเลทวางของแทนการใช้พาเลทไม้”
ปัจจุบันนี้เทสสามารถรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เดือนละ 300 ตัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รับจากเอไอเอสทั้ง 5 ประเภท จะถูกคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ของโทรศัพท์มือถือออกจากัน โดยแกะวัสดุ อาทิ พลาสติก Housing+Keypads , PBC Board , li-ion Battery เหล็ก อลูมิเนียม และทองแดง
หลังจากนั้นจะส่งวัสดุหลักประกอบไปด้วย เหล็ก พลาสติก และอะลูมิเนียม เข้าสู่โรงหล่อเพื่อเริ่มกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถทำในเมืองไทยได้ แต่ในส่วนวัสดุอื่นต้องส่งไปรีไซเคิลที่ประเทศสิงคโปร์เพราะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ PBC Board สามรถสกัดออกมาเป็น ทอง เงิน และพลลาเดียม ซึ่งโลหะมีค่าเหล่านี้เทสจะขายคืนกับให้ผู้ผลิตเพื่อนำไปผลิตสินค้าใหม่ต่อไป
ในขณะที่ li-ion Batteryสามรถสกัดเป็นโคบอลต์และลิเทียม ซึ่งสามารถขายให้กับผู้ผลิตที่นำไปผลิตสินค้าใหม่ หรือขายให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยา เซรามิก หรือแก้ว เป็นต้น
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภัยมืด
ขยะอิเลคทรอนิกส์ส่วนมากมีสารอันตรายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาก โดยแยกเป็นสารปนเปื้อนที่มีมากที่สุด คือ
ตะกั่ว ทำลายระบบประสารทต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด แลการพัฒนาสมองเด็ก
ปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมองและไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด การมองเห็น
คลอรีน อยู่ในพลาสติกพีวีซี เป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อพลาสติกถูกเผา จะส่งผลต่อระบบหายใจ ระคายจมูกและทำให้เคลือบฟันผุ
แคดเมี่ยม มีพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ไตถูกทำลาย
โบรมีน เป็นสารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และรูปทรงเส้นใยกล้ามเนื้อของหัวใจ
ภารกิจ “ Mission Green 2020” เริ่มไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าเก็บให้ครบ 1 แสนชิ้นภายในปี 2563 เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ รวมกว่า 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ ให้ได้ภายในปี 2020