เปิดตัว“ไทลื้อ – วานีตา”งานคราฟท์ชุมชน-โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน

“คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” เป็นนิทรรศการจัดโดยบริติช เคานซิล เพื่อสร้างเสริมศักยภาพแก่ผู้หญิงที่ทำงานหัตถกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยดึงดีไซเนอร์จากอังกฤษและนักออกแบบชาวไทย ปรับกระบวนการทำงานงานคราฟท์ไปสู่ความยั่งยืน

 

บริติช เคานซิล จัดนิทรรศการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” จัดแสดงผลงาน คอลเล็คชั่นชุดผ้าทอไทลื้อปี 2562 โดยความร่วมมือของดีไซน์เนอร์จากอังกฤษ นักออกแบบรุ่นใหม่ชาวไทย และช่างทอผ้าไทลื้อ อ.ปัว จ.น่าน และคอลเล็คชั่นเครื่องใช้ และเครื่องประดับจักสานจากกลุ่มวานีตา วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมกลุ่มสตรีจากสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยทั้งสองคอลเล็คชั่นเป็นผลงานภายใต้โปรเจกต์ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” ของบริติช เคานซิล เพื่อสร้างเสริมศักยภาพแก่ผู้หญิงที่ทำงานหัตถกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

โดยได้ดึงเอาดีไซน์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจงานหัตถกรรมจากสหราชอาณาจักร มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน ช่างทอ ช่างฝีมือ และกลุ่มนักออกแบบชาวไทย ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการผลิต และการทำการตลาด โดยตัวอย่างผลงานทั้งสองคอลเล็คชั่น ได้ถูกจัดแสดงพร้อมนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวที่มา ภายในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week 2019) ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่วันนี้ – 15 ธันวาคมนี้

มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทั้งสหราชอาณาจักร และประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดย บริติช เคานซิล ได้เดินหน้าโครงการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” โครงการด้านหัตถกรรมระดับสากลที่มุ่งสร้างศักยภาพแก่ผู้หญิงที่ทำงานในภาคหัตถกรรม เพื่อให้มีความเป็นอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเพื่อฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการสร้างโอกาสผ่านงานออกแบบและการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมและธุรกิจเชิงสร้างสรรค์

 

มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย

ซึ่ง คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์ จะเป็นการทำงานในรูปแบบการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ที่มีรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มดีไซน์เนอร์-ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ กลุ่มชาวบ้านช่างฝีมือ และกลุ่มนักออกแบบชาวไทย ที่เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการกับตลาด แต่ยังคงเอกลักษณ์หัตถกรรมของท้องถิ่นเอาไว้ การบริหารจัดการผลิต การทำการตลาด จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาแบบยั่งยืน

ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ บริติช เคานซิล ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” แสดงผลงานของทั้ง 2
โปรเจกต์ที่ได้ทำมาตลอด 2 ปี ได้แก่ งานหัตถกรรมจักสานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวานีตา และงานหัตถกรรมผ้าไทลื้อ อ.ปัว จ.น่าน

 

ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย

 

วานีตา: สตอรี่ที่แข็งแกร่ง

“วานีตา” คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมของสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันเพื่อผลิตผลงานหัตถกรรมจักสาน และสินค้าที่แปรรูปจากผ้าปาเต๊ะ โดยบริติช เคานซิล ได้เล็งเห็นถึงช่องทางในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวานีตา จึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาธุรกิจงานคราฟท์จากสหราชอาณาจักร แบรนด์งานจักสาน PATAPiAN ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจระดับนานาชาติ และสำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่เพื่ออบรม และทำงานร่วมกันกับชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาทักษะด้านการออกแบบและการผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในงานหัตถกรรม รวมไปถึงการพัฒนาธุรกิจ การสื่อสารการตลาด และความยั่งยืนของกระบวนการผลิต

โดยหลังจากการเข้าอบรมและทำงานร่วมกัน สามารถผลิตสินค้า 4 คอลเลคชั่นใหม่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น ที่รองจาน ที่รองแก้ว แจกัน ฝาชี เครื่องประดับจักสาน เช่น ที่คาดผม แหวน สร้อย และชุดปิกนิคจักสาน เช่น เสื่อ หมวก ซองแว่นตา

 

ซึ่งแต่ละคอลเลคชั่นสะท้อนถึงแรงบันดาลใจจากความงดงามของธรรมชาติและมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่นจาก 4 ชุมชน ได้แก่ คอลเลคชั่นงานจักสานกระจูด จากชุมชนบ้านโคกพยอม จ.นราธิวาส ที่มีสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชนได้แก่ ดอกพะยอมและเรือกอและ คอลเลคชั่นงานจักสานไม้ไผ่ จากชุมชนบ้านทุ่ง จ.ปัตตานี ที่มีลายจักสานโบราณประจำชุมชน ได้แก่ ลายมองยง และลายยี่หร่า ประกอบเข้ากับการใช้สีจากขมิ้น ที่เป็นพืชสมุนไพรประจำท้องถิ่น

คอลเลคชั่นงานจักสานเตยปาหนัน จากชุมชนปูลากาป๊ะ จ.นราธิวาส ที่แสดงถึงอาชีพประมง อาชีพหลักของชุมชน และใช้สีที่สะท้อนถึงสิ่งรอบตัว เช่น สีขาว เขียว น้ำเงิน ที่สื่อถึงก้อนเมฆ ทราย ภูเขา และทะเล คอลเลคชั่นงานจักสานย่านลิเภา จากชุมชนบ้านดาฮง จ.นราธิวาส ที่มีแรงบันดาลใจจากใบไม้ โดยจะใช้สีธรรมชาติของย่านลิเภาที่มี 3 สี คือ สีน้ำตาลเข้มแทนสีใบไม้แก่จัด สีเหลืองแทนใบไม้ที่แก่พอดี และสีเขียวแทนใบอ่อน

 

ส่งต่ออัตลักษณ์ พัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังจากในปีที่ผ่านมา ที่ อลิสัน เวลช์ ดีไซน์เนอร์ชื่อดังจากอังกฤษ พร้อมด้วยนักออกแบบรุ่นเยาว์ชาวไทย และชาวบ้าน ช่างทอผ้าในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้ทำงานร่วมกัน และสร้างสรรค์ผลงานคอลเลคชั่นเสื้อผ้าร่วมสมัยจากผ้าทอไทลื้อ ทำให้ผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในปีนี้บริติช เคานซิล ยังคงเดินหน้าสานต่อการทำงานโดยยังคงมุ่งเน้นรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น และได้เพิ่มเติมเรื่องการประยุกต์นวัตกรรมเข้าใช้ในชิ้นงาน เช่น การพัฒนาเส้นใยธรรมชาติ อาทิ เส้นใยกล้วย เส้นใยข่า การทำนวัตกรรมนาโนกันชื้นให้กับเส้นใย และการทดลองย้อมสีธรรมชาติแบบติดคงทนนานมากขึ้น

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการร่วมออกแบบคอลเลคชั่นปี 2562 อาทิ “ชุดโอบิไทลื้อ” ที่เน้นการทอผ้าแบบ zero-waste คอลเล็คชั่น “ปะทะ” คอลเล็คชั่นเสื้อผ้าที่ดึงเอกลักษณ์การปะทะกันของสิ่งที่แตกต่างกันทั้งเส้นใย สีสัน รูปแบบ ลวดลาย และแนวคิด โดยไม่สนใจทฤษฎี และคอลเล็คชั่น “ชุดสูทจากผ้าทอมือย้อมสีครามและสีธรรมชาติ” ที่ดึงเอกลักษณ์การออกแบบร่วมสมัย ประณีต สวมใส่ง่ายทั้งชายและหญิง เป็นต้น

ซึ่งนอกจากขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ยังได้อบรมแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงธุรกิจ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถประกอบธุรกิจงานหัตถกรรมได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่การสนับสนุนการใช้วัสดุท้องถิ่น การสื่อสารเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่าในผลงาน การเลือกใช้กระบวนผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งต่อองค์ความรู้หัตถกรรม ซึ่งการพัฒนากระบวนการคิดและการทำงานดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่มีทักษะหัตถกรรมสามารถสร้างรายได้ และสืบสานอัตลักษณ์ชุมชนได้อย่างยั่งยืน ดร.พัชรวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ ผลงานหัตถกรรมจักสานจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “วานีตา” และชุดแฟชั่นเสื้อผ้าร่วมสมัยจากผ้าทอ “ไทลื้อ” พร้อมเรื่องราวที่มาของผลิตภัณฑ์ จะถูกจัดแสดงภายในนิทรรศการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” ส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week 2019) ตั้งแต่นี้- 15 ธันวาคม 2562 เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

Stay Connected
Latest News