TCPชวนคนรุ่นใหม่เข้าใจปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมที่ต้นเหตุ กับโครงการ “TCPพยาบาลลุ่มน้ำ”

คนเมืองอย่างพวกเรา เวลาได้ยินข่าวปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรเดือดร้อน พืชสวนไร่นายืนต้นตาย คงได้แต่รับฟังผ่านๆ เพราะคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไกลตัวเกินไป แต่ถ้าปีไหนฝนตกหนักกระหน่ำซ้ำเติมด้วยน้ำเหนือไหลบ่าอีก กรุงเทพฯจะกลายเป็นทะเลทันที นั่นจึงถือเป็นความทุกข์แสนสาหัสของคนเมือง

แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรหรือคนเมือง ล้วนสืบเนื่องมาจาก “น้ำ”ทั้งสิ้น


นี่คือสัญญาณเตือนให้เราทุกคนต้องหันมาสนใจปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างจริงจังเสียที เพราะมีหลายมิติและกระทบกับทุกคนไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน เพราะยังมีอีกหลายคนไม่ทราบว่าที่จริงแล้ว ปริมาณฝนที่ตกลงมาในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก แต่สามารถกักเก็บไว้ได้เพียง 5.7% ของฝนที่ตกลงมาเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ทำให้เราบริหารจัดการน้ำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ

ประเด็นสำคัญของปัญหาเรื่องน้ำคือ “ลุ่มน้ำ” หรือพื้นที่รับน้ำฝนกำลัง “ป่วย” แต่พื้นที่ลุ่มน้ำกลับไม่ได้รับการพยาบาลดูแล น้ำจำนวนมากจึงไหลลงมาท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ สร้างความเสียหายจำนวนมาก

นี่คือแรงบันดาลใจให้กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานอาสาสมัคร “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ” ขึ้น โดยกิจกรรม “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ #1” ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” อันเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่หลากหลายของลุ่มน้ำไทย เพื่อเดินหน้าสร้างสมดุลน้ำ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

 

 

กิจกรรม “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ #1” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน ที่ผ่านมา โดยนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน ไปเรียนรู้เรื่องความสำคัญของการดูแลลุ่มน้ำ เริ่มจากทำความเข้าใจและศึกษาต้นน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำคือป่า อย่างไรก็ตามกิจกรรมของ TCP Spirit ไม่ได้พาคนไปปลูกป่าหรือเปลี่ยนแปลงสภาพป่า แต่เป็นการเดินป่าอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบระบบนิเวศน์ โดยเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นหน่วยจัดการต้นน้ำสบสายและชุมชนต้นน้ำน่าน อ.วังผา จ.น่าน

 

 

นอกจากนี้เทคนิคเรื่องการบราหารจัดการน้ำต่าง ๆ ที่ได้แบ่งปันให้กับอาสาสมัคร TCP spirit “พยาบาลลุ่มน้ำ”กว่า100 ชีวิตนั้นเป็นการแนะนำให้ทำในพื้นที่ส่วนตัว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาชีพเพาะปลูก หรือคนเมืองที่มองเห็นโอกาสในการเก็บน้ำเพื่อใช่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ให้ไปทำในพื้นที่ป่า โดยกิจกรรมที่ผ่านไปก็เกิดขึ้นในพื้นที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของเอกชน

 

 

เมื่อลุ่มน้ำป่วย ต้องการพยาบาลมาดูแลด่วน

พื้นที่ป่าต้นน้ำจังหวัดน่านมีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 % ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาป่าต้นน้ำจังหวัดน่านถูกบุกรุกอย่างรวดเร็วเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรและปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่น ยางพารา ข้าวโพด เป็นต้นจนเกิดปัญหาเขาหัวโล้น เมื่อถึงฤดูฝนทำให้เกิดปัญหาการชะล้างหน้าดินและดินโคลนถล่ม ป่าน่านจึงถูกยกให้เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องรีบเร่งแก้ไข

โดยทริปนี้จุดหมายปลายทางเพื่อร่วมด้วยช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำ คือหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย และชุมชนต้นน้ำน่าน อ.ทาวังผา จ.น่าน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีปัญหาอย่างหนัก ส่วนวิธีการ “ดูแล” หรือ “พยาบาลลุ่มน้ำ” นั้น ปรีชา รอดเพชร หัวหน้าหน่วยฯ เป็นผู้ให้ความรู้ถึงความเป็นมาของหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย รวมถึงปัญหาของป่าต้นน้ำและเรียนรู้แนวทางแก้ไขปัญหาในระดับภาครัฐและชุมชน

 

 

จากนั้นได้พาไป “เดินป่าศึกษาธรรมชาติ” ระยะทางไปกลับ 4 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นสวนลำไย และยางพารา แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นภูเขาหัวโล้นที่มีแต่ความแห้งแล้ง มีสารเคมีตกค้างในดินและน้ำ ทางศูนย์จึงได้ริเริ่มการปลูกต้นไม้ หลากหลายชนิดเพื่อฟื้นฟูป่าตามแนวคิดปลูก 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงการปลูกป่า 5 ระดับเพื่อกินเพื่อใช้สร้างที่อยู่อาศัย และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมีการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเก็บน้ำด้วยการขุดหนองคลองและปรับนาให้เป็นคันกว้างและลึกมีคลองไส้ไก่ขนาดเล็กเพื่อกระจายความชุ่มชื้นในดิน

ถ่ายทอดองค์ความรู้จาก”ชุมชน” สู่ ”คนเมือง”

โครงการ “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ” มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้จากภูมิปัญญาและประสบการณ์จริงของคนในท้องถิ่น จึงพาอาสาสมัครไปลงมือทำงานที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน โดยมีคุณกุล ปัญญาวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน มาเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่คนเมืองนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น

แท็งค์น้ำไม้ไผ่ คนเมืองคุ้นชินกับแท็งก์สแตนเลสขนาดใหญ่เก็บน้ำ แต่วิถีของชุมชนต้นน้ำน่านสร้างแท็งก์น้ำไม้ไผ่ให้เป็นเครื่องมือเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมาก โครงด้านในทำจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นภาคเหนือ นำมาสานกันเหมือนตะกร้าไม้ไผ่ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6- 7 เมตรโบกปูนทับอีกชั้น เพื่อความแข็งแรงทนทานสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 1.7 แสนลูกบาศก์เมตร วิธีการทำไม่ซับซ้อนและถือเป็นแท็งค์น้ำตามธรรมชาติที่ใช้ต้นทุนต่ำมาก

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้โซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ และทำระบบท่อน้ำใต้ดินแรงดันสูงเพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน เมื่อมีน้ำล้นออกมาก็จะไหลล้นลงบนดินไปตาม ‘คลองไส้ไก่’ ที่ขุดไว้โดยรอบช่วยกระจายความชื้นให้พื้นดินได้

‘คลองไส้ไก่’ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทําคลองน้ำเล็กๆ ในที่ดินของตนเองเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับพื้นดินและกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งขนาดของคลองขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้สอย หากมีมากก็ขุดคลองไส้ไก่ให้กว้างขึ้นและขุดให้คลองเล็กๆ เหล่านี้ สามารถเชื่อมต่อกันทั้งหมดเพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันในหนองที่ขุดไว้ นอกจากจะช่วยกักเก็บน้ำแล้ว ยังช่วยกระจายความชุ่มชื่นไปพื้นที่รอบๆ ประโยชน์ของคลองไส้ไก่ช่วยให้พืชผักและต้นไม้บริเวณนั้นมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปีและเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย

 

 

บ่อน้ำรูปทรงเลียนแบบธรรมชาติ บ่อนี้ขุดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี จะมีความคดโค้ง มีระดับชัน ความตื้นลึกที่แตกต่างกันไปเพื่อให้แสงแดดส่องถึงและเป็นที่อยู่ให้กับสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น สาหร่าย ปลา ซึ่งการกักเก็บน้ำในหนองต้องคํานึงถึงปริมาณน้ำที่จะระเหยออกไปด้วย ดังนั้นก่อนขุดหนองจะต้องมีการคำนวณขนาดของหนองให้สามารถเก็บกักน้ำได้พอกับปริมาณที่ต้องการใช้งาน

“หัวคันนากินได้” ทำนาด้วยการยกหัวคันนาให้สูงและกว้าง นาที่ทำจึงเป็นนาน้ำลึก ใช้น้ำควบคุมหญ้า ทําให้ข้าวในนาได้ผลผลิตดี แถมยังเลี้ยงปลา กุ้ง สัตว์น้ำต่างๆ ในนาได้ ส่วนบนหัวคันนาก็ยังสามารถปลูกพืชอย่างอื่นได้อีกส่วนมากเน้นปลูกของกิน ผักผลไม้ ถ้าปลูกได้ผลผลิตมากพอเหลือกินจึงนำขายไปแบ่งปันคนอื่นได้ เรียกได้ว่าเป็นหัวคันนาทองคําที่ให้ประโยชน์มากมาย

 

กิจกรรมครั้งนี้ ดีต่อใจในแง่ที่ว่าได้ใกล้ชิดธรรมชาติ แหล่งน้ำที่งดงามและสงบสวย อีกทั้งเมื่อได้ลงมือทำงานก็ทำให้เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งถึงแก่น สร้างความเปลี่ยนแปลงในมุมมองและพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างยั่งยืน

Stay Connected
Latest News