ภาพม้าน้ำเคราะห์ร้ายตัวหนึ่งที่ว่ายอยู่ในท้องทะเล โดยมีก้านสำลีหรือ Cotton Bud เสียบทะลุลำตัว มองดูแล้วรู้สึกเลยว่ามันคงเจ็บปวดทรมานมากเพียงใด เจ้าม้าน้ำตัวนี้ก็เหมือนสัตว์ทะเลตัวอื่น ๆ ที่แทะก้านสำลีโดยคิดว่ามันคืออาหาร โดยมีสัตว์น้ำที่ตายเพราะกินขยะพลาสติกเหล่านี้ถึงหนึ่งล้านตัวต่อปี
เราอาจจะไม่เคยใส่ใจเลยว่าของใช้อย่าง Cotton Bud ที่เราใช้สำหรับทัชอัพการแต่งหน้าหรือใช้แคะหูแล้วทิ้งลงถังทุกวันนั้น แม้จะเป็นแค่ของชิ้นเล็ก ๆ แต่มันได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาขยะสะสมที่มีปริมาณมากพอที่จะสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ได้
แต่ตอนนี้มีดีไซเนอร์จากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เกิดปิ๊งไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำคอตตอนบัดมารียูสได้ ชื่อว่า LastSwab ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าการใช้ Cotton Bud เป็นเรื่องที่เชยไปทันที โดยผลิตขึ้นมา 2 แบบ คือ สำหรับใช้แคะหูและสำหรับการแต่งหน้า
LastSwab มีลักษณะเหมือนกับ Cotton Bud ทั่วไปคือมีซิลิโคนที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์อยู่สองข้างของก้านซึ่งมีความยืดหยุ่น แข็งแรง แถมยังใช้งานง่าย โดยผู้ใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวังเหมือนกับการใช้ Cotton Bud เดิมๆที่เราคุ้นเคย แต่ความต่างอยู่ที่มันสามารถล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่เพียงเล็กน้อย และนำไปเก็บไว้ในกล่อง LastSwab ที่มีหลากหลายสีให้เลือกตามความชอบ
LastSwab เป็นผลลัพธ์ของความพยายามในการลดปริมาณขยะล้นโลกที่สร้างความเสียหายในหลายด้าน โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตในท้องทะเล จากการรายงานพบว่า มีการทิ้งสำลีแคะหูในปริมาณ 1.5 พันล้านก้านต่อวัน คนอเมริกันใช้สำลีแคะหูเฉลี่ย 415 ก้านต่อคนต่อปี ส่วนในสหราชอาณาจักร พบว่าชายหาดทุกๆ 100 ฟุตจะเจอสำลีแคะหูจำนวน 9 ก้าน
ดังนั้น มาร่วมกันทำให้สำลีแคะหูที่ใช้แล้วทิ้งเป็นเพียงแค่อดีตกันเถอะ
การใช้ LastSwab ไม่พียงแต่จะลดปริมาณขยะเท่านั้นแต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการขนส่งอีกด้วย อีกทั้ง กล่องเก็บ LastSwab ยังผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และจัดส่งมาในกล่องกระดาษ
เห็นไหมว่ารักษ์โลกสุดๆ แม้ว่าไอเดียการนำสำลีแคะหูมาใช้อีกหลังการใช้งานแล้วฟังดูจะไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่นัก แต่มันก็ไม่ได้ต่างจากการใช้แปรงสีฟันอันเดิม ๆ ทุกวันในการแปรงฟัน หรือกินข้าวในจานใบเดิมที่ทำความสะอาดแล้วทุกๆวันเช่นกัน
และเห็นได้ชัดว่าหลายคนสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ โดยมีแคมเปญชื่อ Kickstarter ซึ่งมีผู้สนับสนุนเกือบ 12,000 คนให้คำมั่นว่าจะมอบเงินกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐ ที่จริงๆแล้วยังขาดเงินเพียงแค่ 13,319 เหรียญสหรัฐ และปัจจุบันปิดรับเงินไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา
Credit : https://inhabitat.com/the-reusable-lastswab-might-just-be-the-last-ear-swab-you-ever-buy/