แค่อยากให้เด็ก ๆ รู้จักออมเงินเพื่อซื้อลูกอมหรือตั๋วดูฟุตบอล José Adolfo Quisocal ผู้มีพรสวรรค์ทางด้านการเงินจึงตั้งธนาคาร Bartselana ที่สามารถทำธุรกรรมได้หลาย ๆ อย่าง โดยมีสมาชิกกว่า 2 พันราย แต่วันนี้หนุ่มน้อยวัย 14 ปีคนนี้ได้เดินไปสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมนั้น คือโครงการแปลงขยะให้เป็นเงินออม เพื่อกระตุ้นเพื่อนๆในวัยเดียวกันให้เห็นปัญหาเรื่องขยะที่ประเทศเปรูกำลังเผชิญอยู่
José Adolfo เป็นเด็กที่สนใจเรื่องการเงินมาตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น เมื่อเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมในเมือง Arequipa เขามีความตั้งใจที่ก่อตั้งธนาคารสำหรับเด็ก โดยมีแรงผลักดันมาจากการที่เห็นเพื่อนๆไม่ยอมกินอาหารเที่ยงแต่เก็บเงินไว้ซื้อลูกอมและตั๋วดูฟุตบอล ยิ่งไปกว่านั้นความย ากจนของคนในเมืองที่เขาอาศัยอยู่เป็นสาเหตุให้เด็กๆส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ
เขากล่าวกับ Guardian ว่า “การเห็นเด็กๆที่มาจากครอบครัวยากจน การเห็นเด็กๆขายลูกอมตามแยกไฟแดง หรือเป็นขอทาน ทำให้ผมครุ่นคิดถึงเหตุผลว่าทำไมเด็กเหล่านี้ไม่สามารถไปเรียนหนังสือในโรงเรียนได้ หนึ่งในเหตุผลนั้นก็คือพวกเขาต้องทำงาน เพราะครอบครัวของพวกเขาไม่มีเงิน แล้วทำไมผมถึงจะสอนให้พวกเขาเก็บออมไม่ได้ละ”
หลังจากมองเห็นถึงปัญหาของเด็ก ๆ แล้ว José จึงได้ก่อตั้งธนาคารสำหรับนักเรียน Bartselana ปัจจุบันมีลูกค้าแล้ว 2,000 ราย โดยเป็นลูกค้าที่มีอายุอยู่ระหว่าง 10-18 ปี ธนาคารของเขาสามารถทำธุรกรรมทางการเงินเหมือนธนาคารทั่วไป คือ ปล่อยเงินกู้ การประกันภัยรายย่อย (Microinsurance) และบริการทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น โดยลูกค้าของธนาคารสามารถเบิกเงินจากเคาน์เตอร์จากธนาคารหลาย ๆ แห่งได้ และยังมีบัตรธนาคารเป็นของตัวเอง แถมยังสามารถดูยอดคงเหลือผ่านระบบออนไลน์ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เขายังกำหนดเป้าหมายการออมที่ลูกค้าของเขาต้องทำให้ได้เพื่อที่จะสามารถถอนเงินออกมาได้
ยอดเยี่ยมขนาดนี้ ผลงานของ José จึงได้รับรางวัลจากหลายองค์กรในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการได้รางวัลจากศาลาว่าการท้องถิ่นอนุมัติให้ธนาคารของเขาสามารถจดทะเบียนอย่างเป็นทางการโดยการสนับสนุนจากสหกรณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ Unicef’s Children and Youth Finance International Award ในปี 2014 รางวัล the Children’s Climate Prize ในปี 2018 และรางวัลอื่นอีกมากมาย
“บางทีเด็กๆจะนำเงินมาฝากเพียงไม่กี่เซนต์และผมก็สัญญากับพวกเขาว่าจะสามารถซื้อจักรยาน คอมพิวเตอร์หรือแล็บท็อปได้ แต่ด้วยจำนวนเงินเก็บเพียงครั้งละไม่กี่เซนต์อาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ผมจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้พวกเขาหาเงินได้มากขึ้น และขยะน่าจะเป็นโซลูชันได้”
ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้เด็ก ๆ สามารถหาเงินได้มากขึ้น วันหนึ่ง José จึงผุดไอเดียการเงินให้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว โดยการให้เด็กๆ นำขยะหรือของเหลือทิ้งจากที่บ้าน เช่น ขวดพลาสติก หนังสือแบบฝึกหัดที่ใช้แล้วและหนังสือพิมพ์เก่าไปหย่อนในตู้ Kiosk ที่มีตามโรงเรียนของตัวเอง เพื่อชั่งกิโลขาย ส่วนเงินที่ขายได้ก็จะโอนเข้าไปยังบัญชีของพวกเขา
โดย José Adolfo ได้ทำข้อตกลงไว้กับบริษัทรีไซเคิลท้องถิ่นให้จ่ายค่าขยะที่ลูกค้าของธนาคารนำมาขายในราคาที่สูงกว่าปกติ เช่น พลาสติกหรือกระดาษขาวมีราคา 0.80 โซลเปรู (0.19 GBP) ต่อ 1 กิโลกรัม เป็นต้น เขากล่าวว่า “เราไม่อยากเห็นพวกเขาต้องมาเก็บขยะอยู่บนท้องถนน แต่อยากให้พวกเขาจัดการกับขยะที่บ้านก่อนที่มันจะปลิวไปอยู่บนถนน เพราะขยะเหล่านั่นเป็นสิ่งมีค่า”
จากความพยายามของ José Adolfo ไอเดียนี้ได้รับความสนใจจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศเปรูที่มีแคมเปญการรีไซเคิลขยะที่บ้าน ซึ่งประเทศเปรูได้ออกกฎหมายเพื่อรับมือกับขยะมูลฝอยที่คาดว่ามีมากถึง 18,000 ตันต่อวัน ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนขยะนั้นจะเห็นเกลื่อนตามถนน ชายหาดและแม่น้ำ เป็นต้น
Lucía Ruiz รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “เด็กน้อย José กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินและการศึกษาทางการเงินอย่างน่าเหลือเชื่อ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่น่าจะคิดได้แบบนี้ จากการเข้าร่วมโครงการการรีไซเคิลขยะและการจัดการขยะซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา เขากำลังทำคะแนนสองเด้ง เพราะเขาไม่เพียงแต่ออกแบบโอกาสทางการเงินให้กับกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเท่านั้น แต่เขากำลังช่วยลดปริมาณขยะในประเทศอีกด้วย”
ส่วน José Adolfo เสริมว่า “ชีวิตสำหรับเด็กอายุ 14 มันช่างตื่นเต้นดีครับ ผมมุ่งมั่นในสิ่งที่ผมทำ และผมก็มักบอกคนอื่นเสมอว่าพวกเขาควรทำในสิ่งที่พวกเขาชอบแทนการทำในสิ่งที่คนอื่นบอกให้พวกเขาทำ”
ปัจจุบันหนุ่มน้อย José Adolfo ต้องเปลี่ยนมาเรียนหนังสือออนไลน์แทนการไปโรงเรียนเนื่องจากเวลาไม่อำนวย โดยมีคุณพ่อของเขาก็ออกจากงานเพื่อมาช่วยงานลูกชายอีกด้วย
Credit : https://www.theguardian.com/world/2019/may/31/14-year-old-peruvian-boy-bank-for-children