เมื่อต้องขึ้นสังเวียนในการเข้าสมัครงาน ด่านแรก หลังส่งประวัติเข้าคัดเลือกจนเข้าสู่รอบสัมภาษณ์งาน ซึ่งผู้สมัครจะต้องเจอกับผู้สัมภาษณ์ อะไรคือสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์คาดหวังที่จะได้รับจากผู้สมัคร ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้สมัครที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นและสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์
“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ขอแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้คุณสามารถพิชิตใจผู้สัมภาษณ์และสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์
1. “อย่าลืมหาข้อมูล ทั้งตัวงาน บริษัท และผู้ที่จะสัมภาษณ์เราก่อนที่จะไปสัมภาษณ์”
พื้นฐานอันแรกที่สำคัญมากๆ รู้เขารู้เราก่อนที่จะเข้าสัมภาษณ์กับองค์ใดๆ ควรศึกษาข้อมูลขององค์กรเป็นด่านแรก เพราะแสดงให้เห็นถึงความสนใจและใส่ใจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การสัมภาษณ์ราบรื่นและไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ถ้าหากคุณได้พูดในเรื่องหรือกิจกรรมที่ผู้สัมภาษณ์สนใจอยู่ในขณะนั้น
2. “ถ้าคุณพอจะเดาออกว่าผู้สัมภาษณ์มองจุดอ่อนของคุณกับงานนี้ตรงไหนบ้างคุณควรพูดมันออกไป”
จุดอ่อน ซึ่งไม่ใช่จุดบอด เพราะคุณสามารถหยิบสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของคุณขึ้นมาอธิบายให้ผู้สัมภาษณ์ฟัง เพื่อไขข้อข้องใจว่าทำไม มีเหตุผลอะไร และต่อให้คุณมีจุดอ่อนต่างๆ เหล่านี้แต่คุณถึงยังได้รับการคัดเลือกให้ทำงาน
3. “วิธีการเรียกตัวเองก็สำคัญ”
สรรพนามแทนตัวเอง เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างบรรยากาศในห้องสัมภาษณ์ให้ไปในทางบวก เช่น ผู้ชาย จะค่อนข้างง่ายคือใช้แทนตัวเองว่า “ผม” ส่วนผู้หญิง อาจจะใช้เรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นแทนการพูดว่า ดิฉัน ซึ่งดิฉันสามารถใช้ได้แต่มันจะทำให้บรรยากาศตึงเครียดมากเกินไป (แต่ถ้าจะใช้ชื่อเล่นควรออกตัวกับผู้สัมภาษณ์ก่อน เช่น ดิฉันสมศรี ขออนุญาตแทนตัวเองว่า ส้ม นะคะ
4. “พูดให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกได้ว่าเราอยากทำงานนี้มากๆ จนเนื้อเต้น”
ในส่วนนี้เป็นการพูดเสริมให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกถึงความตั้งใจที่เรามีต่องานนี้ สร้างความประทับใจให้แตกต่างกับผู้สมัครคนอื่นๆ
5. “การลงท้ายด้วยการขายความสำเร็จ”
การปิดท้ายที่แอบซ่อนการขายความสำเร็จเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ ที่คุณจะสร้างความมั่นใจให้กับคุณ ซึ่งความมั่นใจนั้นดีมากๆ ทุกองค์กรมีความต้องการบุคลากรที่มีความมั่นใจ แต่ความมั่นใจต้องไม่มากจนเกินไป และควรอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องสุภาพและไม่ไปข่มคนอื่นๆด้วย
6. “ไม่ตอบคำถามไปเรื่อยถึงแม้ความคิดมันจะพรั่งพรูออกมามากแค่ไหนก็ตาม”
การพูดตอบคำถามไม่กระชับไหลวนไปเรื่อย อาจจะทำให้เราพูดวกไปวนมา สะเปะสะปะไร้ทิศทางได้ คุณควรจะวางโครงสร้างการพูดและเตรียมการฝึกซ้อมในเนื้อหามาก่อน เช่น เริ่มด้วยการอ้างอิง (มีแหล่งที่มาจะช่วยให้เรามีความหนักแน่นขึ้น) ประโยชน์ (ประโยชน์ที่เขาจะได้จากตัวเรา ) ตรงประเด็น (พูดให้เข้าเป้าเช่น Keyword, สิ่งที่ผู้ฟังอยากจะได้ยิน)
7. “เน้นประโยชน์ที่บริษัทได้จากเรา ไม่ใช่เราได้ประโยชน์อะไรจากบริษัทบ้าง”
ผู้สัมภาษณ์ต้องการคนที่จะมาเติมเต็ม หรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในองค์กรและงานของเขามากกว่า ถ้าหากคุณทราบว่าขณะนั้นตำแหน่งที่คุณไปสัมภาษณ์กำลังเจอปัญหาอะไร คุณยิ่งมีชัยไปกว่าครึ่ง
8. “ในหนึ่งคำถามไม่ควรใช้เวลาเล่าเกิน 2-3 นาที”
ในการตอบคำถามทุกคำถามควรตอบให้กระชับ เข้าใจง่าย สามารถใช้กฎจับเวลา 90 วินาที (โดยประมาณ) ได้โดยเล่าจากภาพเชิงกว้างแล้วค่อยๆลงรายละเอียดมากขึ้น
9. “ชมอะไรเขาสักหน่อยถ้ามีโอกาส”
ควรพูดสิ่งที่คุณชอบหรือประทับใจเกี่ยวกับบริษัทที่คุณไปสัมภาษณ์ แต่ก็ไม่ต้องชมมากเกินจริง ควรพูดบนพื้นฐานและเป็นธรรมชาติ
10. “ให้ผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายเล่าแทน”
ถ้าเราไม่แน่ใจตรงไหนก็ไม่ควรพูดไปออกไปแบบไม่รู้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเราเองควรออกตัวไปว่า “ถ้าเราพูดตรงไหนเกี่ยวกับบริษัทผิดไป รบกวนช่วยแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องให้ด้วยนะคะ” เขาจะได้ไม่รู้สึกว่าเราไม่รู้จริงแล้วมาพูดเพราะบางเรื่องข้อมูลก็ไม่ได้อัพเดตตลอดเวลาในเว็บไซต์