ไอเดียเจ๋ง!วิศวะ มธ.ทำคอนกรีต ลด 2 เด้งทั้งขยะอิเล็คทรอลิค-ฝุ่นละออง

ท่ามกลางวิกฤต ย่อมมีโอกาส ท่ามกลางขยะอิเลคทรอนิคล้นเมือง วิศวะ มธ. สร้างนวัตกรรมคอนกรีตจากขยะอิเล็คทรอนิก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองการผลิตจากแบบเดิม ที่ต้องระเบิดภูเขาหินปูน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า คณะฯได้พัฒนา นวัตกรรม “คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” เกิดจากการนำ องค์ประกอบของขยะเหลือใช้ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีองค์ประกอบของ ทองแดง เงิน ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก ไฟเบอร์กลาส และพลาสติก มาเข้าสู่กระบวนการบดย่อยซากเป็นผงลามิเนต ซึ่งสามารถนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ในสัดส่วน 1:1 แล้วขึ้นรูปเป็นคอนกรีตตามขนาดที่ต้องการ

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

 

ทำให้ได้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี โดยคอนกรีตดังกล่าวสามารถนำมาออกแบบรูปทรงได้หลากหลาย ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง เช่น บล็อกผนัง บล็อกทางเดิน เซรามิก แผ่นพื้น ไปจนถึงวัสดุตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงาม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ แจกัน เป็นต้น

ปัจจุบัน TSE เตรียมต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ สู่การนำไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือใกล้เคียงกับราคาอิฐมวลเบาที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค โดยคาดหวังให้นวัตกรรมนี้ช่วยพลิกโฉมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่มีปริมาณมากถึง 400,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานจำกัด เมื่อพังแล้วต้องทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการนำวัสดุดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และยังใช้วิธีการกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ หรือถูกนำไปทิ้งกองไว้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในรอบบริเวณโดยรอบ

 

งานดีไซน์ คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ จากปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศมุ่งคิดค้นวัสดุที่ช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยนวัตกรรม “คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” สามารถพลิกโฉมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เหลือทิ้งจำนวนมากจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม มาใช้เป็นส่วนผสมของคอนกรีตรูปแบบใหม่ ที่จะสามารถช่วยลดสัดส่วนของปูนซีเมนต์ที่ได้จากการระเบิดภูเขาหินปูน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละออง ทำลายระบบนิเวศ นวัตกรรมนี้สามารถตอบโจทย์เทรนด์การออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร กล่าว

Stay Connected
Latest News