เมื่อคนพิการกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันนำโดย ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้พิการทางสายตา เพื่อพยายามผลักดันให้คนพิการก้าวข้ามความพิการสู่สังคมเสมอภาคอย่างมีศักดิ์ศรีสามารถประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองได้ และไม่เป็นภาระต่อสังคม จึงเป็นที่มาของ”ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน (เชียงดาว)”
สืบเนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมามี โครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind” เพื่อระดมทุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน (เชียงดาว)”สำหรับเป็นสถานที่ฝึกอาชีพให้กับคนพิการทั่วประเทศ โดยเกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศ. วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
ผ่านไป 1 ปี แม้อาคารของศูนย์ฝึกเพิ่งจะเริ่มก่อสร้าง แต่ก็มีการเดินหน้าฝึกอาชีพผู้พิการเพื่อไปประกอบอาชีพผ่านไปแล้ว 2 รุ่น เป็นจำนวน 200 กว่าคน โดยศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิฯ เปิดเผยถึงแผนงานว่า
“หน้าที่ของศูนย์ฯนอกจากฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนพิการแล้ว เรายังมีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ โดยปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับกว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง”
สำหรับแผนงานในปี 2562 ศ.วิริยะ ได้เปิดเผยถึงทิศทางของศูนย์ฝึกอาชีพฯ โดยมีเป้าหมายใหญ่คือเพื่อสร้างงานให้กับคนพิการให้มากที่สุดว่า ซึ่งเน้น 3 เรื่องคือ การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อขายทางออนไลน์ , ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อทดลองและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยเน้นเรื่องกำไรดี-ขายดี
นอกจากนี้ยังมีแผนทำโครงการ tourism for all บนพื้นที่ 33 ไร่ของศูนย์ฯเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยว โดยสร้างโรงแรมขนาดเล็กให้เป็นทั้งศูนย์ฝึกอาชีพด้านการบริการและงานโรงแรม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมรวมถึงพัฒนาสายอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้ใน ถ้าหากการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถฝึกอาชีพผู้พิการในสาขาอาชีพต่างๆ ได้มากกว่า 1 พันคนต่อปี
**เป้าหมายขายดี-กำไรดี**
สำหรับศูนย์ฝึกแห่งนี้มีการสร้างหลักสูตรฝึกอาชีพกว่าร้อยหลักสูตร โดย สมศักดิ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว กล่าวว่าจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างในการฝึกอบรมด้านอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนก็คือ เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อ “คนพิการ ผู้แลคนพิการ และครอบครัวของผู้พิการ” และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตรอาชีพที่ใช้เวลาการฝึกอบรมนานที่สุด โดยใช้เวลาในการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอีก รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 100 วัน
“หลังจากที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาวมาเป็นระยะเวลา 1 ปี และดำเนินการก่อสร้างอาคารและโรงเรือนต่างๆ ไปเพียงบางส่วน แต่ก็สามารถเปิดฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้พิการไปแล้วจำนวน 2 รุ่น โดยมีผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการเข้าร่วมอบรมจำนวนไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 287 ครอบครัว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการอบรม ผู้พิการ ผู้ดูแล หรือครอบครัวของผู้พิการจะต้องมาอาศัยและใช้ชีวิตกินนอนและพักอาศัยอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเพื่อให้เกิดการปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้งานในอาชีพต่างๆ อย่างเป็นระบบ ครบถ้วนทุกขั้นตอนทั้ง การเพาะปลูก การผลิต การบริหารต้นทุนรายรับ-รายจ่าย การแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย”
โดยการฝึกอบรมนั้นจะมุ่งเน้นไปที่อาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ กำไรดี ขายดี จึงเป็นที่มาของการฝึกอาชีพ 3 ด้านคือการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำใช้เวลาเพียง 45 วัน และมีความต้องการของตลาดสูง รวมไปถึงอาชีพอื่นๆ ที่ผู้พิการสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้เช่นการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น
**“ไม่อยากให้คนพิการเป็นภาระสังคม”**
บ้านหลังเล็ก ๆ ในอำเภอดอยหล่อ เจ้าของคือ สมบูรณ์ อิ่นนวล ที่เกิดมาพร้อมกับนิ้วมือไม่ครบ 10 นิ้วเหมือนคนปกติ สมบูรณ์ เป็นผู้พิการรุ่นแรกที่เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่อำเภอแม่ริมเมื่ออมรมเสร็จก็นำกลับมาทำที่บ้านโดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงจิ้งหรีดประมาณ 5-6 กล่องด้วยเงินทุนเล็กน้อยที่มีอยู่ แต่ผลผลิตที่ได้แทบไม่พอขายเพราะเป็นที่ต้องการของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทำโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานอีกด้วย โดยในบางครั้งที่ผลผลิตออกมามากชนกับเห็ดธรรมชาติจากป่า ก็จะนำมาแปรรูปเช่น แหนมเห็ด หรือไส้อั่ว 3 สหาย ที่ประกอบไปด้วย เห็ด หมู และจิ้งหรีดเป็นส่วนผสม ก็สามารถสร้างความน่าสนใจจากผู้บริโภคและเป็นการสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นอีกทาง
หลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างอาชีพแล้วสมบูรณ์ ด้วยความคิดว่า ”ไม่อยากให้คนพิการเป็นภาระต่อสังคม” เขาจึงขอตั้งศูนย์บริการอาชีพอิสระคนพิการและครอบครัวระดับพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่สายใต้ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอดอยหล่อ ซึ่งเป็นศูนย์ย่อยเพื่อสร้างโอกาสสร้างงานให้กับคนพิการในชุมชน โดยทำหน้าที่ประสานงานกับศูนย์ใหญ่ เชื่อมต่อความช่วยเหลือลงมาสู่ชุมชน
“ไปอบรมตอนนั้นแค่ 5 คน พอกลับมาแล้วทดลองทำแล้วก็ประสบความสำเร็จทั้งการเลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกผัก และเพาะเห็ด แล้วก็ขยายผลออกไปเป็น 8 รายในพื้นที่ แต่ในตำบลของเรามีคนพิการเกือบ 200 คน ซึ่งคนที่พิการและผู้ที่ดูแลเขาไม่สะดวกจะเดินทางไปอบรมเพราะเดินทางลำบากและไกล ก็เลยเกิดแนวคิดที่จะขยายผลใช้ที่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมอาชีพในระดับพื้นที่ โดยได้ตั้งศูนย์แห่งนี้มาได้ประมาณ 6 เดือน โดยเปิดอบรมไปแล้ว 1 รุ่น รองรับผู้พิการได้ครั้งละ 10 คน แต่จริงๆ มีคนอยากมาอบรมเยอะกับเรามาก แต่ศูนย์ฯ นี้มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมถึง 6 อำเภอคือ ดอยหล่อ สันป่าตอง แม่วาง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า อมก๋อย ที่มีผู้พิการในพื้นที่รวมกันมากกว่า 4 พันคน จะเห็นได้ว่ายังมีผู้พิการ ผู้ดูแล และครอบครัวของผู้พิการ รอคอยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของตนเองอยู่อีกเป็นจำนวนมาก”
จากคนพิการก้าวสู่การเป็นผู้นำชุมชน ขณะนี้สมบูรณ์กำลังเดินหน้าทำการตลาดเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการแปรรูปจิ้งหรีดซึ่งมีโปรตีนสูงให้เป็นแคปซูลเพื่อเจาะตลาดคนออกกำลังกายที่ต้องการโปรตีนเสริม
**No One Left Behind**
“ No One Left Behind ” คือคำขวัญของโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สู่การปฏิบัติจริงที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน จะทำหน้าที่ “ พี่เลี้ยง” ให้กับผู้พิการที่มาฝึกอบรมทุกคนสามารถกลับไปประกอบอาชีพจนสำเร็จสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ไม่เป็นภาระต่อสังคมอีกต่อไป
ดังนั้นหน้าที่ของศูนย์คือส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านสมาชิกผู้เข้าอบรมเพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกรณีของ 2 พี่น้องผู้พิการด้วยโรคโปลิโอ ประพันธ์ ยอดแก้ว อายุ 58 ปี และ บุญมี ยอดแก้ว อายุ 56 ปี ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงดาว ด้วยกันเพียงลำพัง 2 คน โดยประพันธ์ผู้พี่ เป็นผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอแม่ริม รุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังว่า
หลังเข้ารับการฝึกอบรมกลับมาก็เริ่มหันมาปลูกผักสวนครัว เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงจิ้งหรีด เพราะมีความเหมาะสมกับพื้นที่ และความถนัดของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เข้ามาดูแลติดตามและคอยให้ช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ
“ทุกวันนี้จะเก็บไข่ไก่ได้วันละประมาณ 5-10 ฟอง ขายได้ฟองละ 3 บาท ส่วนเห็ดนางฟ้าก็เก็บ 3-4 วันครั้ง ครั้งละประมาณ 1-2 กิโลกรัม ขายได้ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท พวกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษนานาชนิดก็นำมาวางจำหน่ายอยู่หน้าบ้าน บางครั้งก็เก็บส่งขายให้กับคนมาสั่งไว้ ทำให้มีรายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 100-200 บาท ซึ่งอาชีพเหล่านี้คนพิการทำได้ไม่ยาก รดน้ำ ดูแล ด้วยตนเองได้ รายได้ก็พออยู่พอกินสำหรับ 2 คนพี่น้อง พอเหลือใช้บ้างนิดๆ หน่อย เมื่อก่อนต้องไปทำงานรับจ้างทั่วไปได้ค่าแรงแค่วันละ 100 บาท พอแก่ตัวแล้วก็ไม่มีคนจ้าง เพราะเราพิการทำอะไรไม่ได้มาก แล้วก็ต้องซื้อเขากินทุกอย่าง แต่ตอนนั้นไม่ต้องซื้อกินแล้วกินของที่เราปลูกเราเลี้ยงเองซื้อเฉพาะข้าวสาร”