SE เวทีนี้ รอดถึงปัจจุบัน 63% ผลดำเนินงานดี 50% เวทีนี้ทำให้เกิด SE อย่าง Local Alike ที่กลายมาเป็น StarUp แล้วคว้า 3 แสนยูโร จาก Booking.com booster ของ Booking.com
เวทีนี้มี 4 เรื่องพื้นฐานคือ การบริหารธุรกิจ การจัดการกระบวนการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม มี Passion และมีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งในปีที่ 7 ยังคงถูกใช้เช่นเดิม ซึ่ง 11 ทีมที่มีไอเดียสร้างสรรค์เข้ารอบมาในเฟสแรกให้ทดลองดำเนินกิจการ และ 5 ทีมโดดเด่นในเฟสที่สองที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา
อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ขยายความถึง “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 7” หรือ Banpu Champions for Change 7 ว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ได้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมรวม 61 กิจการ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ทำการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Assessment) ของโครงการฯ ซึ่งมีกิจการจำนวน 51 กิจการเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว พบว่าในจำนวนนี้ 63% อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน และ 50% มีผลการดำเนินงานที่ดี
“ภาพรวมของโครงการฯ ในปีนี้ มีกิจการเพื่อสังคมที่โดดเด่นและตอบโจทย์ปัญหาสังคมในหลายด้าน อาทิ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเงิน และผู้พิการทางสมอง เป็นต้น นอกจากความตั้งใจของทีมต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว พวกเขายังมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาให้เป็นแผนทางธุรกิจ”
หลังจากเปิดรับสมัครผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ให้ส่งแผนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการฯ ก็ได้จัดเวิร์คช็อปเบื้องต้นครอบคลุมทั้งเรื่อง
- การบริหารธุรกิจ
- การจัดการกระบวนการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม
- การทดสอบความมุ่งมั่นตั้งใจ (Passion)
- การมีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ
11 กิจการให้ได้รับทุนสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 800,000 บาทนำไปดำเนินกิจการจริงในระยะแรก พร้อมจัดเวิร์คช็อปในหัวข้อต่างๆ และ 5 กิจการที่มีความโดดเด่นที่ได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่องรวมกว่า 1.25 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
ผัก Done – ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากการจัดการขยะอินทรีย์ มุ่งแก้ปัญหาทางด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม
FarmTO – ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรออนไลน์โดยมีการจับจองแปลงผลผลิตล่วงหน้า มุ่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สร้างช่องทางการขายและส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น
ภูคราม – ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามโดยชุมชนในจังหวัดสกลนคร มุ่งสร้างอาชีพและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้แก่คนในชุมชน
Art for Cancer – ช่องทางในการสร้างอาชีพเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง มุ่งสร้างกำลังใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ถูกต้อง และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง
Heartist – แบรนด์กระเป๋าที่ผลิตจากเนื้อผ้าถักทอโดยผู้พิการทางสมอง มุ่งบำบัดพัฒนาการทางด้านอารมณ์ให้แก่ผู้พิการทางสมอง และสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ครอบครัวของผู้พิการทางสมอง
นอกเหนือจากการเป็นผู้ช่วยส่งเสริมคนรุ่นใหม่แล้ว โครงการ Banpu Champions for Change ยังสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เมื่อปี 2554 กิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการได้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกหลากหลายด้านแก่ชุมชน 50 แห่ง องค์กรภาคสังคม 15 องค์กร ครอบคลุม ผู้คนกว่า 120,000 คนให้มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทางด้านสิ่งแวดล้อมเองก็เช่นกัน โดยกิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถช่วยลดของเสียไปได้กว่า 3,000 กิโลกรัม อีกทั้งยังสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนหลายสิบแห่ง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้มองเห็นกิจการศิษย์เก่าได้มีโอกาสและนำความตั้งใจของพวกเขาไปสร้างประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป
พร้อมกันนี้ ในปีนี้ได้จัดงาน “Impact Day: เพราะการเปลี่ยนแปลงเริ่มได้จากตัวเรา” เพื่อต่อยอดในการขยายเครือข่ายโครงการฯ และกิจการเพื่อสังคมนอกโครงการฯ ให้มาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคมให้ไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ด้วยการเชิญกิจการต่างๆ มาออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการที่จะไปสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป และเชิญนิสิตนักศึกษาที่สนใจทำกิจการเพื่อสังคมมาร่วมพูดคุยกับรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการมาแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจการเลือกเส้นทางอาชีพต่อไป ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคมไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อของบ้านปูฯ ที่ว่า พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา