เดี๋ยวนี้ keyword คำว่า “ ยั่งยืน” หรือ “ sustain” กำลังเป็นเทรนด์ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญเพื่อมาประยุกต์ใช้กับองค์กรสู่เป้าหมายของความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น การเงินการบัญชีที่ยั่งยืน ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่ยั่งยืน การศึกษาที่ยั่งยืน การคมนาคมที่ยั่งยืน และในวันนี้แม้แต่วิธีการคุมกำเนิด ก็ต้องตระหนักถึงถุงยางที่มีความยั่งยืนด้วยเช่นกัน
Jefferey และ Meika Hollender พ่อลูกคู่นี้เป็นต้นแบบการจุดพลุ sustain condoms ให้ดังกระฉ่อนไปทั่ววงการ สืบเนื่องจากทั้งคู่เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sustain Natural ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นแบรนด์ถุงยางไร้สารอันตรายที่เข้าใจผู้หญิง
คุณลูกสาว Meika Hollender และคุณพ่อ Jefferey Hollender เปิดเผยถึงรายละเอียดของ sustain condoms นี้กับสื่ออย่าง the New York Times และ Standford Social Innovation Review ว่า น้ำยางที่ใช้ผลิตถุงยาง ยี่ห้อ Sustain เป็นน้ำยางที่ปลูกขึ้นในประเทศอินเดียและผลิตขึ้นในโรงงานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถุงยางจะไม่มีส่วนประกอบของสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่พบในถุงยางหลายๆแบรนด์ที่ได้รับความนิยมขณะนี้
นอกจากนี้ Meika ยังเสริมอีกว่า “ทุกคนมัวแต่กังวลถึงส่วนผสมในอาหารและเครื่องสำอางแต่ไม่ได้นึกถึงส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับอวัยวะสืบพันธุ์ของเราเลย” จากความพยายามในการสร้างความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ Jefferey Hollender ยังก่อตั้งอีกหนึ่งแบรนด์ชื่อว่า Seventh Generation ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ้าอ้อมเด็ก และน้ำยาซักผ้าเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ การสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่กำลังมาแรงนั้น ยังมีส่วนให้ “ผู้เล่น” หลักๆในธุรกิจรับรู้ว่าการดำเนินงานของพวกเขาจะส่งผลต่อโลกภายนอกอย่างไร โดยบริษัทที่มีโลกทัศน์ที่จริงใจกับการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์นั่นเอง
จากการสำรวจของ State of Sustainable Business Survey ที่ได้สำรวจผู้นำด้านธุรกิจต่างๆ 300 แห่ง และบริษัทชั้นนำระดับโลก 152 แห่ง ในปี 2016 พบว่า 49% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นพ้องว่าความยั่งยืนนั้นเป็น 1 ใน 5 สิ่งแรกที่ CEO ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ผลการสำรวจยังเผยอีกว่าบริษัทเกือบ 70% ได้รับการบูรณาการความยั่งยืนในบริษัท นอกจากนี้ 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าแนวคิดด้านความยั่งยืนมีความชัดเจนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท
โดย Faisal Hoque ผู้ก่อตั้งบริษัทการจัดการด้านธุรกิจ หรือ Shadoka ที่ให้การสนับสนุนการสร้างความยั่งยืน ได้ยกคำกล่าวของกูรูด้านการจัดการอย่าง Peter Drucker ว่า “ความจริงแล้วองค์กรสมัยใหม่ควรมีเป้าหมายสูงสุดที่ชัดเจน นั่นคือสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับสังคมหรือเศรษฐกิจ” โดยHogue ได้ย้ำถึงหลักเบื้องต้น 7 ข้อ สำหรับการเติบโตด้านธุรกิจที่ยั่งยืน
1. วัตถุประสงค์ที่น่าเชื่อถือ (Authentic purpose)
2. แบรนด์ที่ทรงพลัง (A powerful brand)
3. การร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership and collaboration)
4. การรักษาลูกค้า (Customer retention)
5. ชุมชน (Community)
6. การขายซ้ำๆ (Repeatable sales)
7. การเป็นผู้นำที่สามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่น (Flexible, adaptive leadership)
จากการให้สัมภาษณ์กับ Standford Social Innovation Review นั้น Jefferey ยังเน้นว่า ทุกบริษัทควรพยายามทำตัวให้บริษัทเป็น Net Positive คือการคืนประโยชน์สู่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของโลก เขายังเชื่อว่าการที่เขาประสบความสำเร็จกับแบรนด์ Sustain เนื่องมาจากการคำนึงถึงสังคมเป็นหลัก จากการผลิตถุงยางที่ไม่มีส่วนประกอบของสารไนโตรซามีนและยังมีโปรตีนซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้ในปริมาณที่ต่ำ กอปรกับการมีบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล ทั้งยังผลิตขึ้นในโรงงานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ตอบสนองการลดปริมาณขยะและยังสามารถกักเก็บน้ำและประหยัดพลังงานอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานยังได้รับค่าจ้าง 3 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ
นอกจาก Jefferey จะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนแล้ว เขายังบริจาคเงิน 10% จากผลประกอบการของผลิตภัณฑ์แบรนด์ Sustain ให้กับ Women’s Reproductive Healthcare ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงโดยการเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดด้านวัฒนธรรม โดยกล่าวว่า“พฤติกรรมการใช้ถุงยางของผู้หญิงอเมริกันยังอยู่ในระดับต่ำอย่างน่าเป็นห่วง”
อย่างไรก็ตาม Jefferey ยังได้กล่าวถึงบริษัทต่างๆที่มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น บริษัท BT เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 3 เท่าของฟุ้ตปริ้นท์ของบริษัทในปัจจุบันในปี ค.ศ. 2020 บริษัทจัดแต่งบ้านอย่าง Kingfisher ที่มีเป้าหมายหลักๆ 4 ข้อ ซึ่งหลักๆแล้วจะเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานและเงินในขณะที่ลดอันตรายที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี ค.ศ. 2025 และ IKEA ซึ่งเป็นอีกบริษัทที่มีเป้าหมายใช้พลังงานทดแทน 100% เช่นเดียวกับการนำไม้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากแหล่งที่มีความยั่งยืนมากขึ้นภายใน ค.ศ. 2020
https://www.entrepreneur.com/article/310040