“เพาเวอร์กรีน” ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 แล้ว ปีนี้เพิ่มแนวคิดเรียนรู้วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ ผสานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้ากับทักษะด้านศิลปะ พร้อมเน้นให้นำความรู้ไปต่อยอดเพื่อช่วยชุมชน
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” โดย คัดเลือกเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศรวม 389 คน เข้าค่ายฯ ระหว่างวันที่ 18 – 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ในค่ายเพาเวอร์กรีนปีที่ 13 นี้ เยาวชนทั้ง 70 คน ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน โดย เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เจ้าของ บริษัท เบญจเมธา เซรามิก จำกัด เวิร์คชอปถ่ายภาพความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในเชิงวิทยาศาสตร์ โดย โดม ประทุมทอง นักธรรมชาติวิทยา นักเขียนและช่างภาพด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเวิร์คชอปหลักการวาดภาพเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustration) และการบันทึกธรรมชาติ (Nature drawing) โดย อุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารธรรมชาติ พร้อมรับฟัง เวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Art & Nature การเพิ่มมูลค่าให้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสร้างสรรค์
อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้เรายังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เน้นส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญ การอนุรักษ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความหลากหลายทางชีวภาพ เราหวังว่าน้องๆ จะได้รับแรงบันดาลใจและแนวคิดในการประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายฯ ไปต่อยอดเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติในอนาคต ทั้งในเชิงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในเชิงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมพิเศษในปีนี้ เยาวชนได้เรียนรู้วิถีของชุมชนต้นแบบในจังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรี ที่นำความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลไปพร้อมกับ การอนุรักษ์ สำหรับ จ. นครปฐม เยาวชนจะได้เรียนรู้แนวทางการประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางชีวภาพใน เชิงพาณิชย์ผ่านแนวคิด “สามพรานโมเดล” โมเดลเพื่อพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน และเยี่ยมชมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวสวนที่รวมกลุ่มจัดตั้ง “โรงเรียนชาวสวนคลองจินดา”
ส่วนที่ จ. กาญจนบุรีนั้น เยาวชนได้เรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ณ ป่าชุมชน ต.ลุ่มสุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่นำแนวคิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับชุมชนของตน
ทิวา สุดประเสริฐ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลลุ่มสุ่ม กล่าวว่า “คนในชุมชนมีวิถีการดำรงชีวิตที่พึ่งพิงป่า โดยนำทรัพยากรไผ่มาใช้ประโยชน์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ซึ่งในอดีตเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการแปรรูปจะถูกนำไปเผาทิ้งอย่างไร้คุณค่า ชุมชนจึงร่วมกันคิดหาวิธีที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษไม้ไผ่ต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน นอกจากนี้ ชุมชนยังมุ่งรักษาป่าชุมชนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการนำทรัพยากรในป่ามาใช้อย่างเหมาะสม และไม่มากเกินความจำเป็น รวมถึงร่วมกันดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าเป็นประจำอีกด้วย”
โดยหลังจากเยาวชนได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว ได้นำความรู้ที่ได้จากตลอดกิจกรรมค่ายฯ มาตกผลึกและสร้างสรรค์เป็นโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนำเสนอแก่สาธารณชนและคณะกรรมการค่ายฯ