เช็คอิน “4 หลาดเมืองคอน” โมเดลตลาดเพื่อชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน

วันนี้ทุกภาคส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชกำลังตื่นตัวและร่วมใจกันถอดโจทย์ “ ตลาดประชารัฐ”ของรัฐบาล ให้เป็น “ตลาดชุมชน” อันมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่าทางจังหวัดได้เริ่มสานต่อนโยบายโครงการตลาดประชารัฐของรัฐบาลมาตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

ขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

“ เราใช้หลักการตลาดประชารัฐเพื่อมาทำตลาดในรูปแบบของเรา โดยความร่วมมือของคนในพื้นที่ เริ่มจากเชิญทุกภาคส่วนมาคุยกันว่ารูปแบบตลาดในชุมชนควรจะเป็นอย่างไรและบริหารจัดการอย่างไร ดังนั้นตลาดแต่ละชุมชนจึงมีรูปแบบแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น มีการนำสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์แต่ละอำเภอเข้ามาขายในตลาด เพื่อเป้าหมากระจายรายได้ไปสู่ 23 อำเภอ” ขจรเกียรติกล่าว

“ตลาดชุมชน” จึงเป็นมิติใหม่ของการบริหารจัดการในแนวคิดเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยการให้ชุมชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและบริหารตลาดกันเองเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนจากล่างขึ้นสู่บน ให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ตลาดชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องให้ทางจังหวัดเข้ามาคอยเป็นพี่เลี้ยงตลอด ส่วนทางจังหวัดมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับแหล่งท่องเที่ยว

 

 

รองผู้ว่าขจรเกียรติ สรุปถึงผลการดำเนินการตลาดชุมชนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดย 5 เดือนแรกของปี 2561 ทางจังหวัดมีรายได้ 2 หมื่นกว่าล้านบาท มีนักท่องเที่ยวกว่า 5 แสนคน สามารถกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนทั้ง 23 อำเภอ

1 ปีที่ผ่านมา จังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมมือกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ และชุมชนเพื่อดึงเสน่ห์ของอดีตที่กำลังจะหายไปให้กลับมาอีกครั้ง โดยร่วมฟืนฟูวิถีชีวิต ศิลปะวัมนธรรมของคนเมืองคอนผ่านตลาดชุมชนย้อนยุค

 

SDThailand.com ขอพาไปเช็คอิน “ ห้ามพลาด 4 หลาดสุดหรอย” เพื่อสัมผัสวิถีคนเมืองคอนทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร งานหัตถกรรม ฯลฯ

**ตลาดริมน้ำเชียรใหญ่**

 

สุกิต ประสบสุข นายกเทศบาลตำบลเชียรใหญ่

 

ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่ 15.00 21.00 น บริเวณลานกว้างด้านหน้าที่ว่าการอำเภอเชียรใหญ่ ซึ่งติดกับแม่น้ำจะกลายเป็นตลาดชุมชนขนาดใหญ่ ที่อบอวลด้วยวิถีชาวเมืองคอน ตั้งแต่ซุ้มไม้ไผ่หลังคามุงจาก พ่อค้าแม่ค้าพร้อมใจกันแต่งกายชุดไทย

สุกิต ประสบสุข นายกเทศบาลตำบลเชียรใหญ่ บอกว่าเสน่ห์ของตลาดเชียรใหญ่คือติดแม่น้ำใหญ่ที่ใสสะอาด จุดเด่นของตลาดคือต้องการนำเสนอเรื่องราวของ “ ต้นจาก” ซึ่งเป็นพืชสำคัญของท้องถิ่นขึ้นอยู่ตามสองฝั่งของแม่น้ำเชียรใหญ่ สามารถแปรรูปเป็นสินค้าชุมชนมากมาย อาทิ น้ำส้มสายชูและสาโท รวมถึงขนมหวานต่าง ๆ ที่ใช้ “น้ำตาลจาก” มาให้ความหวาน มาตลาดเชียรใหญ่มีทั้งอาหารและขนมท้องถิ่นที่หารับประทานได้ยาก เช่น ขนมใบบัว ผลิตภัณฑ์จากกล้วย และที่ห้ามพลาดคือ “ปลาแม่น้ำเชียร” ที่เนื้อหวานมัน นำมาทำเป็นเมนูปลานิลผัดเกี่ยมฉ่าย ซึ่งเป็นเมนูที่ประกวดชนะเลิศมาแล้ว หรือแปรรูปเป็นปลาร้า กะปิปลา ฯลฯ

 

นอกจากอาหารแล้ว ทางเทศบาลยังจัดเวทีให้มีการแสดงทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ทั้งร่ายรำมโนราห์ การเล่นดนตรีเปิดหมวกของเด็กนักเรียน เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้มาเที่ยวชม ยิ่งช่วงหัวค่ำพระอาทิตย์กำลังตก ทำให้บรรยากาศของตลาดริมน้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุด

“มาคอน ต้องนอนเชียรใหญ่” เป็นคำพูดที่เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนควรสัมผัสกับวิถีชุมชนให้นานขึ้น ควรจัดโปรแกรม One Day Trip เพื่อล่องเรือชมบรรยากาศแม่น้ำเชียรใหญ่ที่ใสสอาด และวิถีชีวิตชุมชนตลอด 2 ฟากริมฝั่ง แวะทำบุญไหว้พระที่วัดแม่เจ้าอยู่หัว แวะเดินตลาดริมน้ำเชียรใหญ่ และสุดท้ายคือนอนพักที่ “ บ้านยาย โฮมสเตย์”

 

 

“บ้านยายโฮมสเตย์” เป็นบ้านไม้เก่าแก่ยกพื้นสูง บ้านโปร่งสบาย หน้าบ้านหันหน้าหาแม่น้ำเชียร บรรยากาศสงบเงียบ เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติในวิถีท้องถิ่น อ.วิไลศรี รอดเพชร เจ้าของบ้านพักอัธยาศัยดี ที่นี่ห้องพักไม่ต้องใช้แอร์เพราะมีลมเย็นตามธรรมชาติพัดตลอด บ้านยายโฮมสเตย์เน้น 3 เรื่องคือ อาหารดี อากาศดี และสิ่งแวดล้อมดี เพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าเกินกว่าราคาห้องพักหลักไม่กี่ร้อยเท่านั้น

 

 

**ตลาดต้องชม บนถนนสายธรรม**

“ตลาดหน้าพระธาตุ” ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ช่วงหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการโดยชุมชนอย่างแท้จริง เกียรติกร เจริญพานิช รองเลขาธิการหอการค้า จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่ากว่าจะก่อตั้งตลาดได้ก็ต้องผ่านประชาพิจารณ์จากชุมชนเรื่องความสะอาด เพราะมาตั้งอยู่บริเวณหน้าพระธาตุซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนเมืองคอนเคารพ ตลาดหน้าพระธาตุเปิดทุกวันเสาร์ 16.00 – 22.00 น.

 

การจัดตั้งตลาดแห่งนี้มีแนวคิดว่า “ ไม่ได้สร้างถนนคนเดินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการเผยแพร่ และอนุรักษ์วัฒนธรรมของนครฯพร้อมกับสร้างเศราฐกิจในท้องถิ่น” จึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือโซนศิลปวัฒนธรรม มีสาธิตทำผ้าบาติก แกะหนังตะลุง ย้อมผ้า ,โซนOTOP หัตถกรรม จำหน่ายสินค้า ของดีเมืองคอน และโซนอาหารของอร่อยในพื้นถิ่น

 

“เรื่องความสะอาดสำคัญมาก ทุกร้านจะต้องมีป้ายรับฝากขยะ เพราะเราจะไม่มีถังขยะส่วนกลาง ส่วนร้านอาหารจะต้องมีแผ่นปูพื้นเพื่อไม่ให้น้ำมันจากกระทะมาทำให้พื้นอิฐเก่าแก่หน้าพระธาตุเสียหาย และเมื่อปิดตลาดเวลา 4 ทุ่ม ผู้ค้าทุกรายต้องรีบนำขยะออกจากพื้นที่และคืนพื้นที่ให้สะอาดเหมือนเดิม เพราะจะมีประเพณีการทำบุญตักบาตรทุกเช้าวันอาทิตย์ ที่หน้าลานพระธาตุ”

นอกจากนี้ทางตลาดยังมีข้อตกลงกับทุกร้านค้าให้ใช้วัสดุธรรมชาติแทนถุงพลาสติก และทุกร้านจะต้องมีป้ายรับฝากขยะ เพื่อสะดวกแก่นักท่องเที่ยวสามารถทิ้งขยะได้ทุกที่

 

ตลาดแห่งนี้เปิดมาได้ปีกว่า ซึ่งเกียรติกร บอกว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนสัปดาห์ละ3 ล้านบาท

 

**ตลาดกรีน หมู่บ้านภูมิปัญญา**

 

อ.ทวี พลายด้วง ศิลปินชาวเมืองคอน ผู้นำของตลาด

 

แม้ว่า “ตลาดกรีน หมู่บ้านภูมิปัญญา” เปิดมาได้ไม่กี่เดือน แต่ อ.ทวี พลายด้วง ศิลปินชาวเมืองคอน ผู้นำของตลาดแห่งนี้เล่าว่าเขาต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการเก็บร่องรอยทางภูมิปัญญาเพื่อมาตกผลึกให้มีคุณภาพและทรงคุณค่า

“ เราตั้งโจทก์ว่า พื้นที่ 12 ไร่ที่นำมาทำหมู่บ้านภูมิปัญญานั้น จะนำภูมิปัญญามารวมกันแล้วสร้างจุดขาย โดยต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกทั้ง 23 อำเภอ ว่าเมื่อวันหนึ่งที่เข้มแข็งแล้ว จะต้องกลับไปสร้างฐานของตัวเองในบ้านเกิดของตัวเองให้เข้มแข็งด้วย”

 

 

ที่ตลาดกรีนจึงกำหนดเป็น “ศูนย์บ่มเพาะ” ด้านความรู้วิถีชุมชน โดยมีหลักสูตรที่รวบรวมช่างของเมืองนครกว่า 100 หลักสูตร ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ภูมิปัญญาซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด สามารถนำไปทำมาหาเลี้ยงชีพได้

อีกไฮไลต์ของตลาดนี้คืออาหารเน้นคุณภาพสะอาดปลอดภัยไม่ใส่ผงชูรส ส่วนพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ ราคาถูกเพราะเจ้าของสวนมาขายเอง งานหัตถกรรมแปลกใหม่มีให้เลือกมากมาย

 

ตลาดกรีนเปิดทุกวันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 18.00 น.

 

**ตลาดย้อนยุค@ปากพนัง**

 

เมื่อหลายปีก่อนชุมชนปากพนังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านไม่มีงานทำจึงต้องออกไปรับจ้างทำงานยังต่างจังหวัด ผลที่ตามาคือลูกหลานที่ขาดพ่อแม่กลายเป็นเด็กมีปัญหา ยาเสพติด ตั้งท้องในวัยเรียน ฯลฯ. ในที่สุดเมื่อพิเชษฐ์ กล้าสกุล นายกฯเทศบาลปากพนัง ร่วมกับคนในชุมชนก่อตั้ง “ตลาดย้อนยุคปากพนัง” ขึ้นที่บริเวณด้านข้างของเรือนจำเพื่อสร้างงานให้ชุมชน

3 ปีผ่านไป ตลาดย้อนยุคแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างงานสร้างอาชีพ คนที่เคยออกไปทำงานที่อื่นก็กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ความอบอุ่นในครอบครัวก็กลับมาอีกครั้ง

“ สร้างตลาดแห่งเดียว แต่ได้มากกว่ากำไรที่ได้ในแต่ละวัน เพราะปัญหาสังคมลดน้อยลง”

 


“ มีเงินไม่ถึงร้อย ก็หรอยได้” คือคำขวัญของตลาดแห่งนี้ที่จำหน่ายอาหารและสินค้าในราคาถูก ความโดดเด่นของตลาดย้อนยุคปากพนังเริ่มจากร้านขายของที่สร้างเป็นซุ้มด้วยวัสดุธรรมชาติกว่า 40 ร้าน เรียงเป็นแถวยาวอยู่ 2 ฝั่งคลอง มีส่วนนั่งกินอาหารแบบปูเสื่ออยู่ริมคลอง มาที่นี่ต้องกิน “ หมี่ปากพนัง” สูตรดั้งเดิมที่ชาวบ้านำมาฟื้นฟูขึ้นใหม่หลังจากที่สูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีขนมโบราณนำเสนอแก่นักชิม อาทิ ขนมจุ้นจู ขนมขี้หมาพองเช (คล้ายข้าวตู) ขนมจากไส้ลูกชิด ขนมขี้มัน ขนมตาบอด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเรือท่องเที่ยวบริการนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ เป็นเรือ 2 ชั้น จุผู้โดยสาร50-100 คนราคาค่าเช่า 1,600 บาทต่อครั้ง (3 ชั่วโมง 30 นาที) ล่องไปเที่ยวชม 9 จุดสำคัญตลอดลุ่มน้ำปากพนัง ( ติดต่อ (075) 517266/(095 026 8298)

Stay Connected
Latest News