ประเทศไทยมีขยะอุตสาหกรรมสูงถึง 31 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิกฤตินี้ทำให้วงการอุตสาหกรรมหลายแห่ง เริ่มหันมาลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น และเปลี่ยนขยะเหล่านั้น กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ไม่เว้นกระทั่งวงการการออกแบบเอง
อ.จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน กำลังเป็นเทรนด์งานออกแบบที่น่าจับตามอง หลากหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นใช้กระบวนการจัดการของเสีย ผ่านการออกแบบวัสดุ หรือ Material Design ที่นำวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการผลิต และบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากขยะ และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต
นอกจากนี้ อ.จารุพัชร ได้กล่าวเพิ่มว่า ในวงการอุตสาหกรรม นอกจากขยะจำพวกโลหะ หรือพลาสติก ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว อีกกลุ่มขยะที่มีจำนวนมหาศาล และแทบจะไม่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ คือขยะที่มาจากอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ดังนั้น อ.จารุพัชรจึงส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบสิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น “ขยะ” และ “ของเสีย” ด้วยแนวคิดการออกแบบวัสดุ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อจัดการกับขยะ ให้คืนชีวิตกลับกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ในรูปแบบต่างๆ
ผลงานที่ประสบความสำเร็จคือ Horse Hair Collection : เข็มขัดนิรภัยไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม สู่วัสดุตกแต่งผนังไฮแฟชั่น จุดเริ่มต้นมาจากเข็มคัดนิรภัยคุณภาพสูงในรถยนต์ ที่ตกมาตรฐานเพียงแค่สีของเข็มคัดนิรภัย ไม่ตรงสเปคกับตัวรถ จากกรณีดังกล่าว ทำให้มีเข็มคัดนิรภัยที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน และกลายเป็นขยะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จำนวนมาก
หลังจากที่ศึกษาคุณสมบัติของเข็มขัดนิรภัยแล้วพบว่า ความพิเศษคือมีความแข็งแรง ทนทาน และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการทอ สามารถทำให้มีลักษณะเป็นขนฟู งดงามคล้ายขนของม้า จึงได้ออกแบบ และพัฒนาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการผลิต ออกมาเป็นของวัสดุตกแต่งผนัง ในรูปแบบเดคอเรทีฟวอลเปเปอร์ (Decorative Wallpaper) ซึ่งปัจจุบัน ผลิตและ จำหน่ายจริง ในตลาดงานประดับตกแต่งบ้าน
“ในโลกนี้ไม่มีขยะ! การนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น
โดยปกติประเทศไทยเอง เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการเก็บของ และไม่ทิ้งของกันอยู่แล้ว
ในอดีตเรามักจะเห็นซาเล้งรับซื้อขยะ และของเก่า
เพื่อนำไปขายต่อกับโรงงานอุตสาหกรรมการแปรรูปต่างๆ เป็นประจำ
แต่ปัจจุบัน ปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะเหลือทิ้งจากการผลิต (by-product)
มีปริมาณเหลือทิ้งมากจนเกินไป
อาจารย์ในฐานะนักออกแบบเอง เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อยอด
ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล จึงได้นำแนวคิด
การออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย ‘ขยะ’ เหล่านี้ กลับมาใช้อีกครั้ง”
อีกผลงานเป็นของผลงานการออกแบบของ รมิตา เสน่ห์ค่า นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม วิชาการออกแบบสิ่งทอ สจล. ในชื่อผลงานว่า Peanut Better : กากขยะการเกษตร สู่โฮมเดคอร์สีสันเจ็บ ซึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ขยะจากอุตสาหกรรมการเกษตร อย่าง ‘เปลือกถั่วลิสง’ ซึ่งนอกจากจะสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยฝังกลบคืนสู่การเกษตร
แต่ด้วยแนวคิดการออกแบบ ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิต ยังสามารถเปลี่ยนกากการเกษตรดังกล่าว ด้วยการขึ้นรูป อัดแข็งแบบแผ่น พร้อมย้อมด้วยสีธรรมชาติเป็นลายทางเรขาคณิต กลายมาเป็นเป็นเคหะสิ่งทอ ที่สามารถนำไปใช้ตกแต่งบ้าน ผนัง หรือเป็นแผ่นประดับตกแต่งโต๊ะอาหาร (Tableware) สีสันสวยงาม ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการเป็นเพียงปุ๋ยทางการเกษตร
ผลงานชิ้นสุดท้ายชื่อว่า Meshography : กระเป๋ามุ้งลวดปักลาย เป็นผลงานออกแบบของ อรวรรณ กอเสรีกุล นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ สจล. ที่นำไอเดียเอาวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้างอย่าง ‘มุ้งลวด’ มาออกแบบเป็นสิ่งทอแนวใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการปักฟูแบบ Needle Punching ที่คิดค้นและทดลองใหม่เพื่อนำมาใช้กับมุ้งลวดโดยเฉพาะ ซึ่งปกติรูปแบบงานปักดังกล่าว จะถูกใช้กับวัสดุจำพวกผ้า หรือหนังเท่านั้น
กลายมาเป็นกระเป๋าที่มีสีสันสวยงาม และมีลวดลาย 3 มิติ นุ่มฟู สะท้อนให้เห็นถึงการนำวัสดุ และเทคโนโลยี ที่บางครั้งมักถูกนำไปใช้แบบซ้ำๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ เพียงอย่างเดียว มาพัฒนาผสมผสานไปกับงานออกแบบ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
“ ในฐานะอาจารย์นักออกแบบ อยากให้การนำกลับมาใช้ใหม่ อยู่ในวิถีชีวิตของมนุษยชาติ สังคมต้องมีจิตสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ ของการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ สจล. เอง ได้เริ่มต้นโมเดลการเรียนการสอน ที่บูรณาการศาสตร์การออกแบบดังกล่าว เข้าสู่หลักสูตรของนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อปลูกฝังแนวคิดการเป็นนักออกแบบรับใช้สังคม ให้ผู้เรียนสามารถออกแบบ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ ควบคู่นวัตกรรม สู่การเป็นผู้ประกอบการหรือนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต “ อ.จารุพัชร กล่าวทิ้งท้าย