การเชื่อมต่อระหว่างภาคเอกชนที่สามารถเก็บกวาดขยะพลาสติกที่มีอยู่ 8 พันล้านชิ้นจากมหาสมุทร ผ่านกระบวนการทางความคิด การทดลอง จากศูนย์ RISC และนำไปสู่การใช้จริงในโครงการแมกโนเลีย นี่คือกระบวนการ Upcycled ที่มีซัพพลายเชนใหญ่ ยาวและครบวงจร
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต กล่าวในงานประกาศความร่วมมือระหว่าง MQDC กับ GC ย้ำในสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตผม” ที่เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญ
นี่อาจจะนับเป็นข่าวดีและข่าวใหญ่ระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย ที่สามารถแปลงขยะบนโลกใบนี้ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบวัสดุก่อสร้าง โดยแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ร่วมกับ บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เตรียมพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) และ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) โดยมีการประกาศความร่วมมือครั้งนี้ที่ศูนย์ RISC อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด
จากสถิติของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมพบว่าทุกวันนี้คนไทย 1 คนสร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1.14 กก. และถ้าจำแนกเป็นขยะที่กำจัดยากที่สุดคือถุงพลาสติกนั้น คนไทย 1 คนใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ใบ หรือประชากรไทย 68 ล้านคนสร้างขยะถุงพลาสติกวันละ 551 ล้านใบ
วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการร่วมมือครั้งนี้ว่า “ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างเอกชนและสถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายคือการนำขยะพลาสติกและเศษวัสดุจากการก่อสร้างมาทำกระบวนการ Upcycling เป็นวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ โดยการนำขยะมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยทำให้เป็นวัสดุใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ๆ โดยที่ไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง กลยุทธ์การจัดการขยะพลาสติกนี้สอดคล้องกับปรัชญาของเราว่าด้วยนวัตกรรมยั่งยืนเพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน (Sustainnovation for all well-being) ซึ่งหมายรวมถึงมนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งบนโลกใบนี้”
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) โดยมี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC และผู้อำนวยการศูนย์ Scrap Lab มก. กล่าวถึงบทบาทของความร่วมมือว่า
“ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว GC จะทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อเพิ่มการรับรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้องและร่วมพัฒนากระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับพลาสติกเหลือใช้ ในขณะที่ทาง มก. ศูนย์ RISC มทร. ธัญบุรี ศูนย์นวัตกรรมและ CSC (Customer Solution Center)ของ GC จะร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมในการแปรรูปขยะ ส่วนทาง MQDC จะนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ในโครงการ การร่วมมือของทุกคนจะช่วยกันสร้างมิติใหม่ในการขจัดขยะพลาสติกเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและพิทักษ์ระบบนิเวศของเรา”
ศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) ตั้งอยู่บนชั้น 4 อาคารแมกโนเลีย ราชดำริ โดยได้งบทุนวิจัย 6 พันล้านบาท จาก MQDC โดยมีนักวิจัยแขนงต่าง ๆ ซึ่งมีขอบเขตงานวิจัยเน้นเรื่อง Well-Being &Sustainability
ผลงานชิ้นล่าสุดของ RISC คือการผลิตวัสดุก่อสร้างพื้นทางเดินและขอบถนน ความยาว 5 กิโลเมตร ในโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ บางนา ซึ่งรศ.ดร.สิงห์ ขยายความว่า
“ ตอนนี้เราพัฒนาเฉพาะโครงสร้างภายนอกโครงการ โดยผลงานขณะนี้ที่ร่วมพัฒนากับ มทร. คือการนำวัสดุพลาสติกมาทำเป็นพื้นทางเดินและขอบถนน ซึ่งเราจะเริ่มจากโครงสร้างด้านนอกของโครงการก่อน โดยพื้นถนนและขอบทางมีความยาว 5 กิโลเมตร ใช้พลาสติกเป็นส่วนผสมประมาณ 60 ตันคิดเป็นขยะถุงพลาสติก 10 ล้านใบ ตามสูตรนั้นจะต้องเป็นคอนกรีตผสมกับพลาสติกรีไซเคิล 50 % ซี่งจะมาแทนทรายและวัสดุอื่น ๆ และสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ 10-15 % เป็นการจูงใจให้ธุรกิจอสังหาฯโดยรวมหันมาใช้วัสดุทดแทนเหล่านี้ ดังนั้นโครงการนี้ทำให้เกิดซัพพลายเชนทีมีผลต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก”
ส่วนคุณภาพของพื้นถนนคอนกรีต ขอบถนนคอนกรีตผสมพลาสติกนั้น รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า วัสดุทุกชิ้นของศูนย์ RISCต้องผ่านการทดสอบให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมในเรื่องของความแข็งแรง ทนทานและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้
ทางด้าน วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร GC ในฐานะหนึ่งในห่วงลูกโซ่ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ป้อนขยะพลาสติกจากท้องทะเลให้กับโครงการนี้ กล่าวว่า