การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย หนึ่งในการแสดงที่เกิดจากการเปลี่ยนแนวคิดแบบ 360 องศา ทำให้ศาสตร์สาขาวิชานาฎศิลป์มีชีวิตชีวา เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของเยาวชน เพราะสร้างงาน+เงิน+ฐานะ+ชื่อเสียงได้อย่างน่าหลงใหลภาคภูมิ จากอดีตเป็นอาชีพไส้แห้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เผยถึงความภูมิใจในโอกาสที่นิสิตสาขาวิชานาฎศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ชั้นปีที่ 4 ได้แสดงผลงานสร้างสรรค์“นาฎศิลป์นิพนธ์” ก่อนการสำเร็จการศึกษาว่า นิสิตนาฎศิลป์รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 21 ชื่อรุ่น หริทรา มีทั้งหมด 26 คน ทั้งชายและหญิง แสดงให้เห็นว่าการเรียนนาฎศิลป์ไม่มีข้อจำกัดด้านเพศ ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและการวัดแวว เมื่อนิสิตจะสำเร็จการศึกษาหลังจากเรียนครบตามหลักสูตร 4 ปีแล้ว ในเทอมสุดท้ายนิสิตแต่ละคนจะต้องไปคิดสร้างสรรค์ชุดการแสดงมานำเสนอต่อคณาจารย์คนละ 1 ชุด เรียกว่า ‘นาฎศิลป์นิพนธ์’ หรือการทำวิทยานิพนธ์ทางด้านนาฎศิลป์
ทั้งนี้ ชุดการแสดงนั้นจะต้องมีความเหมือนจริง แสดงจริง แต่งตัวจริง ไม่ต่างจากการต้องแสดงจริงในเวทีงานต่างๆ โดยจะต้องศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ออกแบบสร้างสรรค์ให้การแสดงและนิทรรศการมีความโดดเด่น
บางชุดการแสดง นิสิตจะต้องอ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับคติความเชื่อหรือทัศนคติสมัยใหม่ เพื่อที่จะสื่อท่าทางการร่ายรำออกมาเป็นความหมายให้คนดูเข้าใจรับรู้ได้อย่างที่ต้องการ จึงเกิดการสร้างสรรค์นาฎศิลป์ไทยและสากลในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะช่วยให้นิสิตสามารถพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจไปสู่การทำงานในสังคมได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยผ่านกระบวนการเรียนนาฎศิลป์
การแสดงในชุดต่างๆ รวม 19 ชุดการแสดงที่เป็นผลมาจากการเรียนนาฎศิลป์ของนิสิต จนถ่ายทอดออกมาสู่สายตาผู้ชมนับหลายพันคู่ได้อย่างน่าชื่นชม ประกอบด้วย บุปผศารทาบูชา / TrungTreet / หทัยหาญ / ใคร่ (ครวญ) / The Maoris / ติษยรักษิตา / Charile and The Chocolate Factory / ลายทองสุโขทัย / ทากิณี / RangaHoli / The Butterfly Effect / ธรรมราชปุระ / อูซาฮอห์ (ดิ้นรน) / คดีเด็ด / ใต้ฟ้าฝนหลวง / ปู่จาตานตุง / Philosophy of Bamboo /เรณูเลือกคู่ / Thai Fair Thai Funเป็นต้น
การแสดงชุด “ใต้ฟ้าฝนหลวง” เป็นหนึ่งในชุดการแสดงผลงานสร้างสรรค์ของนิสิต จุฑาทิพ ศรีสืบ (จ๊ะจ๋า) ได้สะท้อนแนวคิดว่า “หยาดฝนจากฟ้าสู่ประชาชน จากน้ำพระพระราชหฤทัยเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาทุกข์ของพสกนิกรภาคอีสาน นำเสนอในรูปแบบของนาฎศิลป์พื้นบ้านร่วมสมัย” เป็นต้น
“นาฎศิลป์นิพนธ์” บทพิสูจน์เล็กๆ ของการศึกษาไทยในศาสตร์สาขาวิชานาฎศิลป์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการสำคัญของการเรียนและการพัฒนาทางความคิด สติปัญญาและการสอนให้เยาวชนได้เรียนรู้ลงมือทำด้วยตนเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ
กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซนี้ เหมือนดังอาวุธแห่งปัญญาที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามลงไปในจิตใจของเยาวชนรุ่นใหม่ สิ่งที่ดีที่งามที่เจริญแก่วิชานาฎศิลป์ไทย และสากลให้ไม่สูญหายไปจากวัฒนธรรมรากเหง้าสังคมไทยเราและได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ในการแบ่งปัน ส่งต่อแก่ผู้อื่นและสังคมตามความเหมาะสม ทำให้เกิดการสร้างคนที่ดีที่เก่งเพื่อการรับใช้สังคมอย่างยั่งยืนในบริบทดังกล่าว