“วันนี้ความฝันของเรามีความชัดเจนว่า เราจะรวมเรื่องความยั่งยืนอยู่ในเป้าหมายขององค์กรปี 2020 และจากนี้ไป นอกเหนือจากความฝันที่จะสร้างสินค้าหรือบริการที่ดี แล้วเรายังต้องมีเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ที่ดีด้วย”
“ชีวิตเรามักให้ความสำคัญกับความมั่นคงเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายในชีวิตที่ดี แต่ทั้ง 2 อย่างจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนและสมบูรณ์กลายเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจ กลับมาสำนึกรับผิดชอบเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และเรื่องของความรัก ซึ่งเป็นมิติที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง…..”
นี่คือส่วนหนึ่งในคำพูดของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ขึ้นเวทีประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2563” หรือ CP Group Sustainability Goals 2020 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพีและสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม
นับเป็น “คำมั่นสัญญา” ที่สำคัญมากต่อ Stakeholder ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน และอนาคต เพราะเป็นคำพูดที่ออกมาจากเบอร์ 1 ขององค์กร !
ศุภชัยพร้อมผู้บริหารระดับสูงแต่ละองค์กรในยุคก่อตั้ง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา CPF, CPALL และ TRUE 3 บริษัทหลักในเครือฯ ได้รับเลือกเป็นสมาชิก DJSI หรือ กลุ่มดัชนีความยั่งยืนของ Dow Jones Sustainability Indices ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยี่งยืนระดับโลก นอกจากนี้สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) องค์กรเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืนได้รายงานผลคะแนนความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิก โดยผลคะแนนที่เป็นตัวชี้วัดพบว่า
-เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้คะแนนถึง 72.2% อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 78-82%
-CPF และ TRUE ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index ซึ่งจัดอันดับโดยฟุตซี่ รัสเซล เสมือนการตอกย้ำแนวทางความยั่งยืนของเครือฯ สอดคล้องกับมาตรฐานโลก
-เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโครงการ CGR 2560 ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย IOD ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า CPF และ TRUE ได้คะแนน 5 ดาวส่วน MAKRO ได้คะแนน 4 ดาว
**20 ปีบนเส้นทางความยั่งยืน**
กระแสความยั่งยืนหรือ Sustainability เพิ่งจะมีการพูดถึงเมื่อ 2- 3 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับเครือซีพีนั้น เราทำเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว เ พียงแต่เราไม่ได้ทำรายงานหรือเก็บรวบรวมเอาไว้ จึงกลายเป็นเหมือนทำงานแบบปิดทองหลังพระมาตลอด
เมื่อปี2559 ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ประกาศเรื่องความยั่งยืนฉบับแรกออกมา ส่งผลให้เครือซีพีมีเป้าหมายเรื่อง Sustainability อย่างชัดเจน และจะทำพร้อมกันในทุกประเทศที่เราเข้าไปถือหุ้น โดยเริ่มจากประเทศในเอเชียก่อนและจะครบ20 ประเทศในปี 2018
ตอนนี้เราวางเป้าหมายและวางแผน โดยเชิญ PricewaterhouseCoopers หรือ PwC มาเป็นที่ปรึกษาด้านSustainable Development เพื่อสร้างตัวชี้วัดความยั่งยืนของเครือซีพีให้ก้าวสู่ World Class หรือเทียบเท่าระดับบริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือพลังขับเคลื่อนจากทุกองค์กร ทั้งผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ให้ทราบว่าเราจะทำอย่างไรกันบ้าง มีการทำworkshop สร้างความเข้าใจ ซึ่งเราเริ่มทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และจะต้องทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
**กรอบ 3 ยุทธศาสตร์ 12 เป้าหมาย **
เป้าหมายการทำงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ทำมายาวนานถึง 40 ปีนั้นตั้งอยู่บน “ปรัชญา 3 ประโยชน์” ไม่ว่าบริษัทจะลงทุนอยู่ที่ใดก็ตาม จะต้องคำนึงถึง 1.ประโยชน์ของประเทศนั้น 2.ประโยชน์ของประชาชน แล้วถึงจะมาดูข้อ 3.ประโยชน์ของตัวบริษัท มิเช่นนั้นการลงทุนก็จะไม่มีความยั่งยืน
ปัจจุบันเครือซีพีได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ UN Global Compact เราจึงรับเป้าหมายทั้ง 17 ข้อของความยั่งยืน มารวมอยู่ในเป้าหมายความยั่งยืนของเครือซีพี ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ HEART , HEALTH , HOME ซึ่งมี 12 เป้าหมาย
สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งท่าประธาน ธนินท์เจียรวนนท์ ได้รับปรัชญานี้มาเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว และเป็นสิ่งที่เรามองว่ามีความหมายเพื่อมาเติมเต็ม เพราะเศรษฐกิจพอเพียงลึกซึ้งมาก เป็นเรื่องของจริยธรรม คุณธรรมในการดำเนินชีวิต เป็นเศรษฐกิจหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยคุณธรรม
**โฟกัส 3กลุ่มหลักเพื่อบรรลุเป้าหมาย**
ภายใต้เป้าหมายที่กลุ่มธุรกิจในเครือซีพีทั่วโลกจะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุให้ได้ภายในปี 2563 โดยมีทั้งหมด 12 เป้าหมายครอบคลุมประเด็นสำคัญหลัก 3 กลุ่มคือ
กลุ่มที่หนึ่ง คือเรื่องของ Community Development มุ่งเน้นในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างศักยภาพในพื้นที่ห่างไกล อยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน นี่คือสิ่งที่เราพยายามโฟกัสและพยายามทำ
กลุ่มที่สอง คือเรื่องการศึกษา คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่ากรให้ความรู้ เพราะความรู้เป็นทุนที่สำคัญที่สุด ถ้าเราคิดว่าจะกระจายทุนให้ทั่วถึง การให้ความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
กลุ่มที่สาม คือเรื่องซัพพลายเชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกองค์กรของเครือซีพี ซัพพลายเชนใหญ่ จำนวนคู่ค้ามาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน ถ้าเราทำและพัฒนาควบคู่ไปกับคู่ค้าของเรา จะเกิดผลมหาศาล บางเรื่องไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปลงทุน แต่เป็นเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ การกระจายความรู้หรือ Knowhow การขยับตัวเข้าสู่เรื่องของความยั่งยืน
ในนิยามของคำว่า “ยั่งยืน” เรามักจะทราบกันว่า ต้องคำนึงถึง สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ผมอยากจะลงลึกไปอีกขั้น คือ 4 แนวทางการขับเคลื่อนที่สำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเรื่องของความยั่งยืน
การทำ CSR เป็นการแก้ปัญหาอย่างชั่วคราวเท่านั้นแต่ปัญหายังคงซ่อนอยู่ แต่ตามหลักการแล้ว ยั่งยืนต้องสามารถปล่อยมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ เหมือนคำพูดที่ว่า เราไม่ได้เอาปลาไปให้ชาวนา แต่เราไปสอนให้เขาสามารถจับปลาได้
“นวัตกรรม” เป็น Key Success Factor ที่ใหญ่ที่สุดในการที่บริษัทจะก้าวไปสู่ระบบความยั่งยืนเต็มรูปแบบ ดังนั้นทุก ๆ องค์กรพอประสานกับเป้าหมายของความยั่งยืนเข้าไป แล้ว เราต้องมี innovative จะช่วยเรื่องการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้
**กองทุน 2 พัน ลบ.เพื่อสังคม Social Impact Fund**
ใน 3 ปีที่ผ่านมาเครือซีพีใช้งบประมาณไปกับโครงการด้าน CSR และเงินบริจาค มูลนิธิเครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ทั้ง CPF และ CPAll เฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาททั้งรูปของการบริจาค ทุนการศึกษาและสถาบันการจัดการปัญหาภิวัฒน์ของซีพีออล มีการให้ทุนใน 3 ปีที่ผ่านมาถึง 2 พันล้านบาท รวมถึง งบประมาณโครงการผิงกู่ในประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลของ Social Enterprise ที่รัฐบาลจีนภาคภูมิใจมากเพราะ เข้าไปเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรกรกว่า 1 พันครัวเรือน ซึ่งเราลงลงทุน 8 พันล้านบาท รวมถึงงบประมาณที่มีการเข้าสู่การลงทุนของทรู คอร์ป เพื่อสร้าง digital infrastructure ในการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียน เป็นเงิน 2.7 พันล้านบาท
สรุปว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เครือซีพีลงทุนไปกับสังคมประมาณ 15,700 ล้านบาท หรือเป็น 450 ล้านดอลล่าร์ เราอยากเห็นว่าการลงทุนเหล่านี้สามารถวัดผลได้ แล้วหลายอย่างถ้าสร้างเป็นบิสซิเนสโมเดลได้
ก้าวต่อไปในเรื่องยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือซีพี คือแนวคิดการลงทุนทางสังคม โดยเตรียมจัดตั้งกองทุน Social Impact Fund ซึ่งจะลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยทุนเบื้องต้นประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท คาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยยกระดับการดำเนินการในการสร้างคุณค่าทางสังคมให้สามารถสร้างผลกระทบ สร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการลงทุนในธุรกิจที่เราถนัด และเชื่อว่ากองทุนฯ นี้จะทำให้การทำงานสังคมมีความชัดเจนขึ้นในอนาคต
ศุภชัยย้ำในท้ายที่สุดว่า แนวทางความยั่งยืนที่เป็นสากล พูดถึงความสมดุลของทั้ง 3 เรื่องคือสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เราพูดถึงแนวทางความยั่งยืนขององค์กร เราต้องพูดถึงธรรมาภิบาล วัฒนธรรมองค์กรที่ดี บุคลากร การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เข้าใจธรรมชาติและนำความรู้ของธรรมชาติมาใช้ในการดำรงชีวิต ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทุกองค์กรทั่วโลก รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือเป็นแกนสำคัญในการสร้างความยั่งยืน
เครือซีพีรวมพลังตามคำมั่นสัญญา