โดยในปีนี้ โฮมโปรมุ่งมั่นเดินหน้าเพิ่มการรับรู้ของผู้บริโภคต่อโมเดลธุรกิจ ‘แลกเก่าเพื่อโลกใหม่’ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดย คุณเสาวณีย์ สิราริยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มการตลาด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ’โฮมโปร’ กล่าวว่า โมเดล ‘แลกเก่าเพื่อโลกใหม่’ ถือเป็นการยกระดับกลยุทธ์การ Trade-in สินค้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์พื้นฐานที่ผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มักนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มการหมุนเวียนการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะใช้ผ่านรูปแบบของการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่มาทดแทนชิ้นเดิมโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เครื่องเก่าเสีย เนื่องจากอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นค่อนข้างมีระยะเวลานาน จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์มาช่วยกระตุ้นให้มีดีมานด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้ตลาดสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โฮมโปร จึงถือเป็นธุรกิจรีเทลรายแรก ที่ต่อยอดกลยุทธ์เพื่อช่วยครีเอทดีมานด์ในตลาดแบบครั้งคราว มาเป็นการพัฒนาสู่โมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้แนวทาง HomePro Circular Economy Mission ผ่านการสร้างระบบดำเนินงานแบบครบวงจร หรือ Closed-loop เพื่อสามารถนำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเก่าที่ลูกค้าใช้งานแล้ว มาเข้าสู่ระบบรีไซเคิลที่ได้การรับรองมาตรฐานในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ใหม่อีกคร้ังตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะนำไปผลิตสินค้าในกลุ่ม Circular Products หรือ กลุ่มสินค้ารักษ์โลก ที่มีการพัฒนาทั้งโมเดลธุรกิจรวมทั้งการขยายพอร์ตสินค้าในกลุ่มนี้ จนเริ่มเห็นการเติบโตที่ดีได้อย่างมีนัยสำคัญ
“โมเดลแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ถือเป็นหนึ่งโมเดลที่ได้รับความสนใจ และสามารถประสบความสำเร็จได้ในช่วง 6 เดือนแรก ที่เริ่มขับเคลื่อน โดยสามารถทำยอดขายได้ถึง 800 ล้านบาท หรือมากกว่า 3 เท่า จากเป้าหมายที่ต้ังไว้ราว 240 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพของโมเดลธุรกิจที่ตลาดให้การตอบรับ ทำให้มีแผนจะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นในปีนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มความร่วมมือจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอันดับแรกๆ ในการต่อยอดโมเดล เนื่องจาก มีต้นทุนที่ต้องแบกรับในการดำเนินการ ทำให้ทางโฮมโปรต้องเข้ามาร่วมสนับสนุนและผลักดันโมเดลนี้อย่างจริงจัง ผ่านการกระตุ้นทั้งจากฝั่งของผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้าง Awareness ได้ในวงกว้าง โดยได้ใช้งบกว่า 30 ล้านบาท ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชุด ‘แลกเก่าเพื่อโลกใหม่’ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เก่าได้ตามมาตรฐาน และสามารถนำมาเพิ่มคุณค่าใหม่ได้อีกครั้ง รวมทั้งการจัดแคมเปญมอบส่วนลดเพื่อกระตุ้นให้มีการนำผลิตภัณฑ์เก่ามาเปลี่ยนใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการนับสนุนค่าติดตั้ง-รื้อถอนของเก่าฟรี ทำให้ได้รับการตอบรับทั้งจากฝั่งผู้ผลิตและลูกค้า สะท้อนผ่านยอดขายในกลุ่ม Circular Products ที่เติบโตขึ้น”
สำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการ Closed-Loop Circularity จะเริ่มต้นจากการเก็บของเก่าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและสุขภัณฑ์จากบ้านลูกค้า ผ่านระบบโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมสโตร์กว่า 130 สาขาทั่วประเทศ มาคัดแยก บด ล้าง หลอม และจัดการซากเก่าอย่างถูกวิธี ภายใต้โรงงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ร่วมกับคู่ค้า และนำกลับมาจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบสินค้ารักษ์โลก หรือ Circular Products โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโมเดลธุรกิจราว 1 ปีครึ่ง จนอยู่ตัวทั้งยอดขายและการผลิตสินค้า โดยมีสินค้าหลักในกลุ่ม Circular Products ได้แก่ กระเบื้องรีไซเคิลจากซากสุขภัณฑ์ และล่าสุดต่อยอดมาสู่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นรายแรกของตลาดที่สามารถพัฒนา Closed-Loop Circularity ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าได้สำเร็จ จากจุดแข็งในฐานะผู้จัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 1 ด้วยยอดขายสินค้ากว่า 9 แสนชิ้น/ปี โดยยอดขายที่เริ่มจับต้องของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น,เครื่องทำน้ำอุ่น และมีแผนเพิ่มไลน์สินค้าทำตลาดในปีนี้ ทั้งเครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องปั้มน้ำ รวมถึงสินค้าที่กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา ซึ่งคาดใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน โดย ตั้งเป้ายอดขายสินค้ารักษ์โลก (Circular Products) กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปีนี้ไว้ประมาณ 500 ล้านบาท จากยอดขายรวมทั้งปีในปี 2025 ที่ราว 2,500 ล้านบาท พร้อมสามารถขยายสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% ของยอดขายรวมทั้งหมดได้ภายในปี 2030