ปี 2567 ที่ผ่านมา ซีอีโอในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคและค้าปลีก มอง 3 ความท้าทายหลัก 3 ที่ธุรกิจต้องเผชิญ ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ (58%) ความซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ ( 53%) และการนำ Gen AI มาใช้ ( 48%) พร้อมมองว่าควรมีกฎระเบียบที่เข้มงวด ทั้งการดำเนินงานด้าน Gen AI และความรับผิดชอบต่อสภาพอากาศ
นอกจากนี้ ซีอีโอกว่า 74% มองว่าหลักการด้าน ESG ได้ถูกบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอย่างสมบูรณ์ ขณะที่ 63% มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2573 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
การสำรวจซีอีโอในธุรกิจสินค้าอุปโภคและค้าปลีก (Consumer and retail: C&R) จำนวน 120 คนทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าซีอีโอมั่นใจในแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจของตน แต่มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามปีข้างหน้า
การสำรวจระดับโลกอย่าง CEO Outlook ปี 2567 ของเคพีเอ็มจี ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่สิบ เผยว่า 82% ของผู้นำธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคและค้าปลีก มองว่าธุรกิจอยู่ในระยะเติบโต เพิ่มขึ้นจาก 79% จากการสำรวจในปีก่อนหน้า และมีเพียง 59% ที่มองในแง่บวกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ถือเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับทุกภาคธุรกิจที่เคพีเอ็มจีได้ทำการสำรวจ
ทั้งนี้ ความท้าทายสำคัญ 3 อันดับแรก ที่ซีอีโอในกลุ่ม C&R มองว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ 58% ความซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ 53% และการนำเทคโนโลยี Gen AI มาใช้ 48%
และแม้ต้องเผชิญความท้าทายเหล่านี้ แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อการเติบโตของภาคธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นจาก 76% ในปี 2566 เป็น 81% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของทุกภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับ 74% เนื่องจาก บทบาทของธุรกิจค้าปลีกต่อ “เศรษฐกิจจริง” (Real Economy) ด้านการจัดหาสินค้าที่จำเป็นและบริการต่างๆ ที่ยังคงมีความสำคัญแม้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
การแข่งขันเพื่อโอบรับ AI
เทคโนโลยี Gen AI เป็นวาระสำคัญของซีอีโอภาคสินค้าอุปโภคและค้าปลีก โดย 81% มองว่าเป็นการลงทุนที่สำคัญ โดยเฉพาะในการขายและการตลาด และแนวโน้มในการนำไปใช้งานกำลังเปลี่ยนผ่านจากโครงการทดลอง ไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม โดยซีอีโอ 67% มั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกับ Gen AI ภายใน 3-5 ปีนี้
ขณะที่ความท้าทายจากการนำ Gen AI มาใช้งาน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม และการนำ AI มาใช้งานในสื่อ โดยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เป็นผลพวงของการเข้ามาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ซึ่ง 61% ชี้ว่า ความท้าทายด้านจริยธรรมเป็นหนึ่งในความท้าทายที่รับมือได้ยากมากที่สุดในการนำ AI มาใช้ในธุรกิจ จึงควรยกระดับการกำกับที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น โดยมีถึง 84% มองว่าระดับความเข้มงวดควรอยู่ในระดับเดียวกับการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้ทำการสำรวจ
มั่นใจต่อการขับเคลื่อน ESG สูงขึ้น แต่ยังคงมีช่องว่างแผน Net zero
สำหรับการดำเนินงานด้าน ESG ซีอีโอในกลุ่ม C&R มองว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ และการสร้างความไว้วางใจจากสาธารณชน แต่หากละเลย อาจส่งผลเสียต่อความยั่งยืนและชื่อเสียงของแบรนด์
– โดย 74% ระบุว่าได้บูรณาการ ESG เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบแล้ว และ 44% เชื่อว่ากลยุทธ์ ESG เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน ส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและชื่อเสียงของแบรนด์มากที่สุด
– ขณะที่ 63% มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมาย Net zero ได้ภายในปี 2030 สูงกว่าอัตราส่วนเฉลี่ยของทุกภาคธุรกิจที่ 51% อย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความตระหนักถึงช่องว่างที่สำคัญในแผนงานด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net zero สะท้อนได้ว่า แม้จะต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ แต่มีความเชื่อมั่นต่อประสบการณ์ของทีมงานในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งความคืบหน้าของการดำเนินงานในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
– สำหรับการขับเคลื่อนความหลากหลายและเท่าเทียม (Diversity and inclusion: D&I) ผู้นำมากกว่าครึ่ง หรือ 51% มองว่ายังล่าช้าเกินไป เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องปลดล็อกศักยภาพของบุคลากรให้มีความครอบคลุมอย่างแท้จริง
“ซีอีโอในภาคสินค้าอุปโภคและค้าปลีกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย ทั้งจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความซับซ้อนเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการนำ Gen AI มาใช้งาน อย่างไรก็ตาม การผสานการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การลงทุนกับ Gen AI ในการขายและการตลาด และการให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จทางธุรกิจในอนาคต” คุณช่อทิพย์ วรุตบางกูร หุ้นส่วน หัวหน้าฝ่าย Consumer & Retail เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวสรุปทิ้งท้าย