จุฬาฯ ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ให้ข้อมูลรายงาน The Future of Jobs 2025 ชี้งานจะหายไป 92 ล้านตำแหน่ง แต่จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ กว่า 170 ล้านตำแหน่งที่เกิดขึ้นมา แนะเติมทักษะแห่งอนาคตป้องกันถูกแทนที่
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข้อมูลรายงาน ‘Future of Jobs 2025’ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ร่วมเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี พ.ศ. 2568–2573
โดยรายงานฉบับนี้ อ้างอิงจากการสำรวจทั้งผู้นำองค์กรจากกว่า 1 พัน และพนักงานกว่า 14 ล้านคนจากทั่วโลก ใน 55 ประเทศ 9 ทวีป รวมทั้งประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม 22 กลุ่ม เพื่อสะท้อนให้เห็นทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการภายในองค์กร หรือต้องการจากคนทำงานในอนาคต ไปจนถึงการปรับตัวของภาคการศึกษาประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดแรงงาน ในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สามารถตอบสนองความต้องการทักษะแรงงานของโลกแห่งอนาคตได้
สำหรับรายละเอียดผลการศึกษาจากรายงานฉบับนี้ ในมิติต่างๆ ได้แก่
– 5 ปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานในปี 2573
1. Technological Change : การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะของแรงงาน
2. Green Transition : การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม จากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
3. Economy Uncertainty : ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ
4. Demographic Shifts : การเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างประชากร ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน
5. Geoeconomic Fragmentation : การแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจที่ละเอียดแยกย่อยมากขึ้น ทั้งจากข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ
“ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ ถือเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบมาสู่การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน และแนวโน้มความสำคัญของแต่ละปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อ ที่เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกันทั้งในระดับโลก ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทย โดยเฉพาะปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่หลายองค์กรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างนำมาใช้ขับเคลื่อนกระบวนการทำงาน รวมทั้งการพัฒนาไปสู่องค์กรนวัตกรรมต่างๆ ในยุคดิจิทัล ส่งผลให้เกิดงผลกระทบต่อตำแหน่งงานไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตำแหน่ง หรือราว 8% จะเป็นงานที่สามารถถูกแทนที่จนหายไปจากปัจจัยเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นกว่า 170 ล้านตำแหน่ง หรือ 14% ทำให้เกิดการเติบโตของการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% หรือราว 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่การจ้างงานจากตำแหน่งเดิมๆ ที่มีอยู่ แต่จะเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานในส่วนของงานใหม่ที่เกิดขึ้น ดังนั้น บุคลากรในตลาดแรงงานจากนี้และอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องมีทักษะที่พร้อมสำหรับตลาดงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต”
– TOP5 งานดาวรุ่ง – ดาวร่วง
ในฝั่งของงานที่มีโอกาสเติบโต ล้วนแต่อยู่ในสายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น AI หรือนวัตกรรมต่างๆ ส่วนฝั่งงานที่จะหายไปจอะอยู่ในกลุ่ม Traditional ทั้งสิ้น โดย TOP 5 ในฝั่งที่มีการเติบโต ประกอบด้วย 1. Big data Specialists (ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data) 2.FinTech Engineers (วิศวกรด้าน FinTech) 3. AI and Machine Learning Specialists (ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning) 4. Softwares and Applications Developers (นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น) และ 5. Security Management Specialists (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความปลอดภัย)
ส่วนฝั่งที่จะถูกแทนที่ ประกอบด้วย 1.Postal Service Clerks (พนักงานไปรษณีย์) 2. Bank Tellers and Related Clerks (พนักงานธนาคาร) 3. Data Entry Clerks (พนักงานคีย์ข้อมูล) 4.Cashier and Tickets Clerks (พนักงานแคชเชียร์ และพนักงานจำหน่ายตั๋ว) และ 5. Administrative Assistant and Executive Secretaries (ผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร)
“ในความเป็นจริง งานในฝั่ง Traditional ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่จะถูกทรานสฟอร์มมาเป็นดิจิทัล หรือ AI โดยตัวงานยังคงมีอยู่ แต่ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะมีคำเรียกผู้ทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม หรือมีการนำ AI หรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาผสมผสานในการทำงานในลักษณะต่างๆ ดังนั้น หากไม่อยากให้งานต้องถูกแทนที่ จำเป็นต้องยกระดับทักษะ (Skills Evolution) เพื่อให้ตอบโจทย์งานในอนาคต โดยทักษะ หรือ Skills คือสิ่งที่เราทำบ่อยๆ จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ ซึ่งทักษะจำเป็นพื้นฐานหรือเป็น Core Skills ประกอบด้วย ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking), ความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัว (Resilience) ,ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) และทักษะด้านอิทธิพลทางสังคม (Social Influence ) ขณะเดียวกันจำเป็นต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรือ Emerging Skills เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ AI , ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ,การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Life Long Learning)“
– ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ภายในปี พ.ศ. 2573 สองในห้าของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง ทักษะที่สำคัญของไทย คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล
ขณะที่ ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
– กลยุทธ์สำคัญ 4 ประการสำหรับประเทศไทย
1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change : ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization : มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
3. Human Replacement : งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation
4. Enhancing Dynamic Work Role : มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็น The University of AI ที่มุ่งสร้าง “คนพันธุ์ใหม่” หรือ “Future Human” ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญในการใช้งาน AI (Artificial Intelligence) แต่ยังเปี่ยมด้วยทักษะที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ “ปัญญาสัญชาตญาณ” ซึ่งสร้างสรรค์ปัญญาที่ไม่อาจประดิษฐ์ขึ้นได้ ที่สำคัญ ‘คนพันธุ์ใหม่’ จะต้องไม่ได้มีเพียงสมองที่ชาญฉลาด แต่ต้องมีหัวใจที่ดีงาม ที่จะเปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยีให้เป็นพลังที่สร้างคุณค่าแก่ทั้งตนเองและสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวทิ้งท้าย