ส่องนโยบาย ‘ฟาสต์ รีเทลลิ่ง’ บริษัทแม่ยูนิโคล่ เร่งเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจไร้ขยะเต็มตัว พร้อมใช้วัตถุดิบยั่งยืนและตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) บริษัทแม่ยูนิโคล่ ประกาศขับเคลื่อนปรัชญา LifeWear = a New Industry ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน ต่อยอดข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากลูกค้ากว่าปีละ 30 ล้านคนทั่วโลก สู่การพัฒนาสินค้าให้​ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค มุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่สามารถผลิต ขนส่ง ​และจัดจำหน่ายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไปจนถึงสามารถ​​ส่งมอบได้ตามเวลาที่ลูกค้าต้องการได้อย่างแท้จริง ​ช่วยป้องกันการก่อขยะที่ไม่จำเป็น มุ่งสู่การเป็นธุรปิจที่ไร้ขยะได้อย่างสมบูรณ์แบบ

มร.โคจิ ยาไน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจของฟาสต์ รีเทลลิ่ง จากนี้ไปว่า จะมุ่งเน้นผลิตและขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง​ๆ ​​​ผ่านการจัดการด้าน Supply Chain Management ให้สามารถดูแลได้ทั้งสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนหลายโครงการเพื่อสังคม เช่น เสื้อยืดการกุศล PEACE FOR ALL หรือ The Heart of LifeWear ซึ่งแจกเสื้อยืดเนื้อผ้า HEATTECH และ AIRism ให้กลุ่มเปราะบาง ทั้ง​ผู้อพยพ เด็ก และผู้ประสบภัยพิบัติไปแล้วกว่า 1 ล้านตัว พร้อม​ขยายผลโครงการ​ผ่านความร่วมมือกับ​พันธมิตรและลูกค้า รวมถึงหน่วยธุรกิจที่กระจายไปทั่วโลกในการสนับสนุนชุมชนโดยรอบในแต่ละพื้นที่ ผ่านการ​จัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้พลังทั้งจากผลิตภัณฑ์ ร้านค้าช่องทางจำหน่าย พนักงาน และเครือข่ายทั่วโลก​​เพื่อมีส่วนสร้างชีวิตที่มั่นคงและสงบสุขให้แก่ผู้คนทั่วโลก

ทั้งนี้ การขับเคลื่อน​โครงการต่างๆ ของฟาสต์ รีเทลลิ่ง เพื่อมุ่งสู่​เป้าหมายความยั่งยืน ตามแผนปี 2030 ภายในปีงบประมาณ 2024 ที่ผ่านมา (สิ้นสุด ส.ค. 2024) ประกอบด้วย

การพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์​​ และ Product Mix ​ ให้ตอบโจทย์ลูกค้า 

– จากการรวบรวมความคิดเห็น​​ลูกค้า (Voice of Customer) ​มากถึง 31.4 ล้านข้อคิดเห็นจากทั่วโลก รวมทั้งคำแนะนำจากช่องทางขายต่างๆ รวมทั้งคำแนะนำที่มีต่อพนักงานหน้าร้าน ตลอดปีงบประมาณ 2024 เพื่อมาต่อยอดในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งได้จัดทำแพลทฟอร์ม “Management Cockpit” ขึ้นตั้งแต่ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารงานโดยเฉพาะ เปิดทางให้เสียงสะท้อนของลูกค้าได้รับการรับฟังและนำเสนอเป็นภาพที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั่วโลกของบริษัทฯ แบบเรียลไทม์ เพื่อการปรับตัวและตอบสนองที่รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าที่เคย

– ความคิดเห็นจากลูกค้าช่วยให้ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาแล้วมากมาย อาทิ ผ้าถักแบบใหม่ “Souffle Yarn Knit” ที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ แล้ว รวมถึงเสื้อชั้นในที่ปรับให้ใช้งานได้ดีขึ้น ตลอดจนนวัตกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงผ้าถักลายนูนที่ซักได้ หรือ PUFFTECH ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์มาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า 

–  จากการให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของลูกค้าทำให้คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์​อยู่ในระดับสูง โดย​คอลเลคชัน Spring/Summer และ Fall/Winter ได้รับคะแนน 4.5 จาก 5 ขณะที่มีแบบผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่ายได้ทั่วโลก​และสร้างรายได้หลักให้แก่ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีมากกว่า 50 แบบ ในปีงบประมาณล่าสุด ซึ่งสูงขึ้นถึง 3 เท่า จากเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมี​โครงการอาริอาเกะ หรือโครงการ​ปฏิรูปธุรกิจ ​

– ฟาสต์ รีเทลลิ่ง  สามารถลดหรือป้องกันการผลิตสินค้า​ที่ไม่จำเป็น​ ตลอดจนค่อยๆ พัฒนาการดำเนินธุรกิจแบบที่เน้นผลิตเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดเท่านั้น รวมทั้งการปรับขยายหมวดผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ตลอดทั้งปีและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น การคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แทนที่จะเน้นผลิตสินค้าตามฤดูกาลแบบดั้งเดิม เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดขยะขึ้นในธุริจ หรือการก้าวเข้าสู่โมเดลธุรกิจแบบไร้ขยะได้อย่างเต็มตัว

บริหารระบบผลิตและโลจิสติกส์ที่เน้นผลิต ขนส่ง และขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ในเวลาที่เหมาะสมและปริมาณที่ตรงตามความต้องการที่สุด 

– พัฒนาระบบคาดการณ์ความต้องการ พร้อม​วางแผนจำหน่ายให้แม่นยำมากขึ้น รวมทั้ง​​​การประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายผลิตเพื่อ​ปรับแผนการผลิตตามความต้องการได้รายสัปดาห์ เพื่อลดปริมาณการสต็อกวัตถุดิบที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการผลิตแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลง

– ด้านโลจิสติกส์ ฟาสต์ รีเทลลิ่งจับมือกับพันธมิตรด้านการขนส่งเพื่อขับเคลื่อนให้การจัดส่งไวขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลงด้วยเช่นกัน รวมทั้งระบบคลังสินค้าอัตโนมัติช่วยให้สามารถจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นให้ร้านค้าได้ตามปริมาณที่ต้องการ ถือเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารสินค้าคงคลังสู่ระดับสูงสุด

เร่งขับเคลื่อนความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่​

ปีงบประมาณ 2023 ​ที่ผ่านมา ฟาสต์ รีเทลลิ่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 69.4% ในส่วนของร้านค้าหรือสำนักงาน​ เมื่อเทียบกับปีฐาน 2019 โดยวางเป้าหมายในปี 2030 ที่ตั้งใจจะลดให้ได้ 90% พร้อมเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนได้แล้ว 67.6% จากเป้าหมาย 100% ในปี 2030

รวมทั้งการขยาย RE.UNIQLO STUDIO ที่เปิดตัวในปี 2022 ได้ขยายแล้วรวม 51 แห่ง ใน 22 ประเทศทั่วโลก (ณ เดือน ต.ค. 2024) โดยตั้งเป้าขยายให้ได้ 60 แห่ง ภายในสิ้นปี 2024 รวมทั้งเริ่มทดลองโมเดลขายเสื้อผ้ามือสองในญี่ปุ่น โดยมีสาขา​ที่เริ่มบุกเบิกการให้บริการนี้ คือ ร้าน UNIQLO Setagaya Chitosedai และ UNIQLO Tenjin รวมทั้งการขยายมาสู่ UNIQLO Maebashi Minami IC ในช่วงปลายปี 2023

ในส่วนของ Supply Chain สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้แล้ว 10% โดยคาดว่าจากนี้ไปจะสามารถเพิ่มอัตราเร่งการลดการปลดปล่อยลงได้เพิ่มมากขึ้น จากการเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงงาน และเพิ่มวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการใช้วัสดุที่เป็น Low Carbon Emission เช่น วัสดุรีไซเคิล ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น​ 18.2% จาก 8.5% ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มโพลีเอสเตอร์ ที่มี​สัดส่วนการใช้วัตถุดิบจากวัสดุรีไซเคิล​สูงถึง​ 47.4%  โดยเครื่องแบบทางการของคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งชาติสวีเดน ถือเป็นเสื้อผ้าชุดแรกที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล จากวัตถุดิบรีไซเคิลที่ยูนิโคล่จัดเก็บเอง ซึ่งปัจจุบัน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง กำลังเดินหน้าทำการวิจัยและพัฒนาระบบรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่โดยตรงอย่างจริงจัง

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ยังเดินหน้าขยายเครือข่าย “วัสดุยั่งยืน” ตลอดจนคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสัตว์ในทุกกิจกรรมของบริษัทฯ  โดยได้เริ่มจัดทำกรอบการดำเนินงานใหม่เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับวัสดุแต่ละชนิดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สำหรับปีงบประมาณใหม่ โดยการจัดทำมาตรฐานสำหรับฝ้ายเสร็จสิ้นแล้วและจะนำไปใช้ในการผลิตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2026 เป็นต้นไป  พร้อมทั้งได้ประกาศให้ฝ้ายช่วยฟื้นฟูดินเป็นวัสดุเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต โดยจะเริ่มนำร่องในกลุ่มฝ้าย ก่อนจะขยายการยกระดับไปสู่วัตถุดิบชนิดอื่นๆ เช่น ​แคชเมียร์หรือขนสัตว์  พร้อมทั้งการจัดทำหลากหลายโครงการเพื่อสร้างความร่วมมือระยะยาวกับโรงงานต้นน้ำ อาทิ โรงงานเส้นด้าย โดยได้เริ่มตรวจสอบที่มาแคชเมียร์ย้อนกลับ สำหรับผลิตภัณฑ์แคชเมียร์ทั้งหมดตั้งแต่คอลเลคชันฤดูกาล 2024 Fall/Winter เป็นต้นไป ด้วยการตรวจสถานที่ล้างและปั่นเส้นใยเป็นระยะๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังจัดทำกรอบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนสัตว์ด้วย 

Stay Connected
Latest News