โลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้นอีกสักแค่ไหน หากเราสามารถสร้างความตระหนักให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีส่วนร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทำให้เรื่องเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงขยายผลจากเพื่อนสู่เพื่อน พี่สู่น้อง จากในโรงเรียน ไปสู่ครอบครัว ชุมน เป็นเครือข่ายรักษ์โลก
ซีพีเอฟ ที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นต้นทางของวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และมุ่งมั่นรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
นอกจาก “พนักงาน” ในองค์กรที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญแล้ว บริษัทฯ ยังสร้างการรับรู้และสร้างเครือข่ายเด็ก เยาวชน และชุมชนในพื้นที่ ผ่านโครงการ “ปันรู้ ปลูกรักษ์” ที่เกิดจากความตั้งใจปลูกฝังความตระหนักให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม ดูแลและหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง เป็นแนวร่วมรักษ์โลกอย่างยั่งยืนไปกับซีพีเอฟ ผ่านการเรียนรู้ใน 4 ฐาน ทั้งฐานโลกรวน ฐานขยะแปลงร่าง ฐานต้นกล้าสู่ป่าใหญ่ และฐานความปลอดภัย (Safety)
“ฐานโลกรวน” อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงผลกระทบของภาวะโลกรวน ที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ วิธีการป้องกันและลดผลกระทบ ต่อไปเป็น “ฐานขยะแปลงร่าง” เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ภายใต้แนวคิด “Waste to Value” ด้วยหลักการ 3Rs คือ ‘Reduce Reuse Recycle : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่’ มีการจัดการขยะแบบครบวงจร ต่อยอดสู่ “ธนาคารขยะ” ในโรงเรียนและชุมชนได้ อีกฐานคือ “ฐานต้นกล้าสู่ป่าใหญ่” เรียนรู้การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าบกและป่าชายเลน ซึ่งซีพีเอฟมีตัวอย่างโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเปิดให้เด็กและเยาวชนลงพื้นที่ เช่น โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ, โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ระยอง และตราด และ “ฐานความปลอดภัย (Safety)” โดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (SHE) ของซีพีเอฟ มาให้ความรู้ด้านความปลอดภัย อาทิ จุดเสี่ยง น้ำดื่มสะอาด การขับขี่ปลอดภัย การดับเพลิงขั้นพื้นฐาน
น้องชลดา สังข์พาพันธุ์ นักเรียนชั้นป. 6 โรงเรียนบึงราชชนก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก บอกว่า กิจกรรมหลายอย่างที่พี่ๆจัดให้ล้วนเป็นประโยชน์กับพวกหนูมากๆ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งเรื่องความเข้าใจในเรื่องโลกร้อนและแนวทางการป้องกันที่เริ่มได้จากตัวเราเอง การแยกขยะให้ถูกประเภท ความสำคัญของต้นไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมถึงความปลอดภัยในโรงเรียนที่นำไปใช้ที่บ้านได้ อยากให้พี่ๆมาจัดกิจกรรมแบบนี้อีก
ส่วน น้องภรรควัฒน์ ดิษพันธุ์ นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบางปิดล่าง เล่าว่า ชอบ “ฐานโลกรวน” เพราะได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้ว่าเราต้องปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อช่วยลดโลกร้อน รักษาสภาพแวดล้อม ผมยังชวนคุณพ่อคุณแม่ร่วมกันปลูกต้นไม้ยืนต้นที่บ้านของเราด้วย
ภัทรพงษ์ สุขเกิด ผู้อำนวยโรงเรียนบึงราชชนก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก บอกว่า ที่ผ่านมาซีพีเอฟสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่เด็กๆได้ลงมือปฏิบัติจริง และโครงการ “ปันรู้ ปลูกรักษ์” ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เด็กๆสนใจมากเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว พี่ๆวิทยากรให้ความรู้ดี จัดสื่อการสอนได้เหมาะสม ก่อนนี้เด็กๆทำเรื่องแยกขยะอยู่แล้วก็ยิ่งสนุกกับการเรียนรู้ และยังชวนพ่อแม่คัดแยกขยะในครัวเรือนด้วย
ทางด้าน จินตหรา สายแวว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสระผักโพด อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา กล่าวขอบคุณซีพีเอฟ ที่เล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน ทั้งการจัดกิจกรรม อิ่ม สุข ปลูกอนาคต สนับสนุนด้านการเกษตรและสร้างอาหารมั่นคงในโรงเรียน นักเรียนเกิดทักษะติดตัว และยังมีโครงการ ปันรู้ ปลูกรักษ์ ช่วยปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่เด็กๆ ด้วยฐานเรียนรู้ต่างๆ เกิดความตระหนักและหวงแหนธรรมชาติในภูมิลำเนา และยังสร้างเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนกลายเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งต่อไป
ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2566 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เข้าถึงเด็กและเยาวชนกว่า 13,840 คน จาก 87 โรงเรียนใน 22 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการสร้างสรรค์เครือข่ายที่แข็งแกร่งในการรักษ์โลกอย่างยั่งยืน ผ่านพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสาร และขยายผลเรื่องความตระหนักในการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน