ด้วยเป้าหมายสูงสุดในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ที่ผ่านมา บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ‘แม็คโคร–โลตัส’ ให้ความสำคัญในการทุ่มเทพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการทุกคนอยู่เสมอ โดยไม่ลืมส่งมอบคุณค่าผ่านห่วงโซ่ธุรกิจที่แข็งแรงเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ รวมทั้งสามารถดูแลผู้คนในสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
หนึ่งเป้าหมายสำคัญคือ การเป็นแกนหลักเพื่อมีส่วนร่วมแก้วิกฤตปัญหาสภาพอากาศ ซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลกในเวลานี้ ด้วยการตั้งเป้าเป็นธุรกิจที่มุ่งไปสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และสามารถปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่านการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภายในธุรกิจเพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการจัดการขยะอาหาร หรือ Food Waste ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายลดขยะอาหารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Food Waste to Landfill) ภายในปี 2030
จัดการ Food Waste ตลอดห่วงโซ่
ปัจจุบันปัญหา Food Waste มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่หลงเหลือจากการจำหน่าย เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะอาหาร (Food Waste) ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วนตามแนวคิด ‘เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์’ เพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้มากที่สุด เร่งการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายขยะอาหารเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
แนวทางบริหารจัดการผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร ของซีพี แอ็กซ์ตร้า จะเน้นบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนด้านการสั่งซื้อสินค้า ไปจนถึงการบริหารจัดการภายในสาขา ทั้งการคัดแยกวัสดุ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อแยกส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น กระดาษ หรือพลาสติก และนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้องโดยไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น ซึ่งการจะขับเคลื่อนได้สำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกคน จึงให้ความสำคัญในการอบรมเพื่อสร้างทั้งความตระหนักรู้ ปลูกฝังแนวคิดและการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงานทั้ง 100% สามารถดำเนินงานตามนโยบายการคัดแยกขยะ และลดขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการคัดแยกประเภทของขยะอาหารทั้งในแม็คโครและโลตัสครบทุกสาขาทั่วประเทศแล้ว
ในการจัดการอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายไม่หมดในแต่ละสาขา จะมีเจ้าหน้าที่มาทำการคัดแยกอาหารแต่ละประเภทออกจากกัน รวมทั้งการจดบันทึกทั้งปริมาณและชั่งน้ำหนักอาหารที่เหลือในแต่ละวัน เพื่อนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์การจัดซื้อในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ก่อนจะนำอาหารที่เหลือไปส่งต่อให้พันธมิตรไปสร้างประโยชน์ต่อไป ซึ่งอาหารที่เหลือจะมีทั้งกลุ่มผักผลไม้ กลุ่มอาหารพร้อมทาน รวมทั้งเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป
ผนึก ‘พันธมิตร’ เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์
การบริหารจัดการอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแม็คโคร และโลตัส แต่ยังมีคุณภาพดี ‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ ได้ส่งต่อผักและผลไม้บางส่วน บริจาคให้สวนสัตว์และอุทยานแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อนำผักผลไม้ที่เหลือจากการจำหน่ายไปแปรรูปเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เพื่อมีส่วนดูแลคุณภาพชีวิตสัตว์ พร้อมช่วยลดงบประมาณการจัดหาอาหารเลี้ยงสัตว์ของทางภาครัฐและหน่วยงานทางสังคมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนศูนย์อนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่ามากกว่า 14 แห่ง ใน 14 จังหวัด โดยที่ผ่านมาเปลี่ยนอาหารส่วนเกินให้เป็นประโยชน์ ด้วยการนำไปมอบให้หน่วยงานต่างๆ รวมกว่า 550,000 กิโลกรัม รวมทั้งเพิ่มการสนับสนุนอาหารสำหรับช้างในปางช้างทางภาคเหนือ ตลอดจนนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีนอย่างหนอนแมลงวันลายเสือ (BSF) เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานลงได้กว่า 50% ภายใต้การนำร่องความร่วมมือกับเกษตรกรในเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ด้านการจัดการอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้ หรือส่วนที่เป็นขยะอาหาร จะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรหรือชุมชนใกล้เคียง และลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ โดยล่าสุดได้ขยายความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกขยะอาหารไม่ให้ปะปนกับขยะทั่วไป ภายใต้โครงการ ‘ไม่เทรวม x เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์’ ซึ่งต่อยอดความร่วมมือของทั้งสองโครงการคือ ‘ไม่เทรวม’ ของ กทม. และ ‘เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์’ ซึ่งเป็นโครงการเรือธงด้านความยั่งยืนของซีพี แอ็กซ์ตร้า ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2562 และต่างมีเป้าหมายร่วมกันในการแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะปลายทางที่จะไปสู่หลุมฝังกลบ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมนำขยะไปสร้างให้เกิดประโยชน์จากการเริ่มคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อร่วมกันผนึกกำลังในการปูพรมเพื่อขยายการขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทั้ง 424 สาขา ทั่วทั้ง 50 เขตของ กทม. หลังจากนำร่องมาก่อนหน้านี้ใน 19 สาขา เขตตะวันออกของ กทม.
“ความท้าทายในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Zero Food Waste to Landfill ของซีพี แอ็กซ์ตร้า คือ การขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแรงและมีความเชี่ยวชาญ ทั้งในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีเครือข่ายในการนำอาหารหรือขยะอาหารไปส่งต่อได้เพื่อเพิ่มรูปแบบและแนวทางในการลดการเกิดขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานทุกคนภายในสาขา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแยกและลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีรวมทั้งการบริหารจัดการของเสียภายในองค์กรให้เกิดคุณค่าและสร้างประโยชน์ได้สูงสุด”
เห็นได้ว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคธุรกิจอย่าง ‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ ที่มีทั้งองค์ความรู้ รวมทั้งมีเครือข่ายทั้งภายในองค์กร จากสาขาราว 2,600 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรหลากหลายกลุ่ม สามารถสร้างต้นแบบการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนได้ ไม่เพียงเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ภายในปี 2030 เท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่สามารถลดความสูญเสียในระบบ Food Supply Chain ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจจากการลดโอกาสที่อาหารส่วนเกินจะกลายเป็นขยะอาหาร รวมทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกปลดปล่อยจากปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้น การขับเคลื่อนของซีพี แอ็กซ์ตร้า จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในทุกด้าน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และค่านิยมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ภายใต้หลักการ 3 ประโยชน์ ที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และชุมชน รวมถึงทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ