การขับเคลื่อนสู่ยุค Digitalization ส่งผลให้การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เติบโตเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ตามข้อมูลจากรายงาน Global E-waste Monitor (GEM) ประจำปี 2024 โดย UN ระบุว่า ปัจจุบันมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นทั่วโลกกว่า 6.2 หมื่นล้านกิโลกรัม
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือการนำรถบรรทุก 1.55 ล้านคัน บรรทุกขยะอิเล็กทรอนิกส์เรียงต่อกันตามแนวเส้นศูนย์สูตรได้รอบโลก หรือวัดความยาวได้กว่า 4 หมื่นกิโลเมตร โดยคาดว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% เป็น 8.2 หมื่นล้านกิโลกรัม ภายในปี 2030
เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่ปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเช่นกัน หากไม่สามารถผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการให้ถูกต้อง อาจทำให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ปัญหา ‘วิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ล้นเมือง ภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ เพราะแต่ละปี ประเทศไทยจะมีปริมาณ E-Waste เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตันต่อปี และมีเพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่สามารถนำไปบริหารจัดการและรีไซเคิลได้อย่างถูกวิธี ขณะที่ส่วนใหญ่อีกถึง 90% ต้องตกค้างอยู่ในธรรมชาติหรือนำไปทำลายแบบไม่ถูกต้องทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษทั้งในน้ำ ในดิน หรือในอากาศ ส่งผลทั้งต่อสุขภาพของผู้คน และปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของปัญหาสภาพอากาศและโลกรวนอยู่ในปัจจุบัน
Journey to Zero E-Waste to Landfill
AIS เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และมุ่งมั่นขับเคลื่อนปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้โครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ เพื่อเร่งสื่อสารสร้างความตระหนักรู้และผลกระทบจากปัญหาขยะในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ อะแดปเตอร์ หูฟัง แบตเตอรี่มือถือ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ที่ต้องได้รับการทิ้งและบริหารจัดการอย่างถูกวิธี
“ตลอดกว่า 5 ปีที่ผ่านมา AIS เดินหน้าเป็นแกนหลักสำคัญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีและยั่งยืน ภายใต้โครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ เริ่มตั้งแต่การอำนวยความสะดวกในการเป็นจุดรับคืน E-Waste ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ และหูฟัง ผ่านการตั้งกล่องรับที่สาขาเอไอเอส จากการค้นพบหนึ่งใน Pain point สำคัญของผู้บริโภคคือ ไม่รู้ว่าจะนำขยะเหล่านี้ไปทิ้งได้ที่ไหน โดย E-Waste ที่ผู้บริโภคนำมาทิ้งจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบ หรือ Zero E-Waste to Landfill ทำให้สามารถแยกวัสดุที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ออกมาเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลใหม่อีกครั้ง เหลือเฉพาะส่วนที่ต้องทิ้งจริงๆ เพื่อไปเป็นเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีขยะฝังกลบที่อาจหลุดรอดออกไปสู่ธรรมชาติได้”
ผนึก Green Partners ยกระดับสู่ HUB of E-Waste
ปัจจุบัน เอไอเอสได้ขยาย Green Network จากจุดเริ่มต้นโครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ ยกระดับสู่การเป็น ‘HUB of E-Waste ระบบจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ’ ทั้งการขยายความร่วมมือภายในเครือข่ายได้มากกว่า 220 องค์กร รวมทั้งเพิ่มจุดรับทิ้ง (Drop point) มากกว่า 2,700 จุดทั่วประเทศ พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำดิจิทัลไลฟ์สไตล์ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้บริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิสก์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่สามารถตรวจสอบสถานะ E-Waste แต่ละชิ้นแบบเรียลไทม์ เพื่อมั่นใจได้ว่าขยะทุกชิ้นจะถึงโรงงานรีไซเคิลจริง พร้อมคำนวณ Carbon Score จากการมีส่วนร่วมลดคาร์บอน เปรียบเทียบกับจำนวนต้นไม้ตามความสามารถในการช่วยดูดซับ CO2 พร้อมแสดงผลเป็น Dashboard เพื่อเพิ่ม Engage ทั้งจากประชาชนทั่วไปรวมทั้งองค์กรต่างๆ นำไปใช้รายงานผลด้านความยั่งยืนได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการผนึกความร่วมมือจากแต่ละภาคส่วนภายในอีโคซิสเต็มของ E-Waste Management ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในการขยายจุด Drop point การจัดการขนส่ง ที่ทำงานร่วมกับไปรษณีย์ไทยในการรับขยะ E-Waste เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางความรู้ที่รวบรวมข้อมูลด้านการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงศูนย์กลางเครือข่าย Green Community เพื่อสร้างชุมชนให้เกิดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มการส่วนร่วมของภาคประชาชน
ล่าสุด AIS ร่วมขับเคลื่อนวาระ ‘วันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล’ International E-Waste 2024 ในฐานะองค์กรไทยรายแรกที่เข้าร่วมสมาชิก WEEE Forum (Waste Electrical and Electronic Equipment) องค์กรนานาชาติที่รวบรวมข้อมูลด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์และมีสมาชิกจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก โดยปีนี้กำหนดแนวคิด ‘Join the e-waste hunt – retrieve, recycle, and revive ร่วมค้นหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ – ดึงกลับมา รีไซเคิล และฟื้นคืนชีพ’ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจ HUB OF E-WASTE นำมาสู่การขับเคลื่อนภารกิจ Decarbonization ผ่านแคมเปญ ‘อุ่นใจ ไปรฯ ทั่วไทย ตามล่าหา E-Waste’ เชิญชวนพาร์ทเนอร์ทั้ง 220 องค์กร ร่วมค้นหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งต่อแนวคิด รณรงค์ การค้นหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อฝากให้ ‘อุ่นใจ และ พี่ไปรฯ’ นำไปจัดการอย่างถูกวิธี และพร้อมใจกันสื่อสารผ่าน Social Media เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงภัยของ E-Waste ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามได้อีกมากกว่า 6 ล้านคน
“ปีนี้ AIS จะยกระดับความเข้มข้นในการทำงาน ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงรับมือกับวิกฤติโลกเดือดที่กำลังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม โดยดึงพลังของ Green Partnership และศักยภาพของดิจิทัล มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการใช้พลังจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีสู่การทำงานในเชิงนโยบาย และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะมีส่วนสำคัญต่อภารกิจ Decarbonization หรือ การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของแต่ละองค์กร และประเทศ จากการเก็บ E-Waste เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้มหาศาล”