รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ แอฟริกา และกรีนพีซ เยอรมนี เปิดโปงความเสียหายด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมระดับวิกฤตในกานา โดยมีสาเหตุจากอุตสาหกรรมการซื้อขายสิ่งทอมือสองระดับโลก
รายงานที่มีชื่อว่า “Fast Fashion, Slow Poison: The Toxic Textile Crisis in Ghana,” เปิดโปงผลกระทบและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศในกานา จากการทิ้งขยะสิ่งทอ (เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า ฯลฯ) จากกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ โดยส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น
ทุก ๆ สัปดาห์ มีขยะเสื้อผ้ามากกว่า 15 ล้านชิ้นถูกส่งไปที่กานา แต่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเสื้อผ้าที่ไม่สามารถขายต่อเป็นเสื้อมือสองได้ สุดท้าย เสื้อผ้าใช้แล้วจำนวนมากเหล่านี้ถูกทิ้งที่บ่อขยะหรือถูกเผาในพื้นที่ซักผ้าสาธารณะ ขยะที่ถูกทิ้งเหล่านี้สร้างมลพิษทั้งในอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ ทำให้ชุมชนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ข้อค้นพบสำคัญ
– มลพิษทางอากาศ : กรีนพีซเก็บตัวอย่างอากาศจากโรงซักผ้าสาธารณะในชุมชนแออัด Old Fadama ใน Accra ซึ่งผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นถึงระดับสารพิษที่สูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยพบสารก่อมะเร็ง เช่น เบนซิน และโพลีไซคลิกอะโรมาติก (PAHs)
– มลพิษพลาสติก : จากการทดสอบเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งด้วยอินฟาเรด ระบุผลลัพธ์ว่า เสื้อผ้าเหล่านี้ถูกทักทอขึ้นโดยใช้ใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์เกือบ 90% ซึ่งเป็นตัวการกระจายไมโครพลาสติกปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
– ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม : ขยะสิ่งทอที่ถูกทิ้งปริมาณมหาศาลกำลังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกบนชายหาดไปทั่วชายฝั่ง
เฮเลน เดนา หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติกในภูมิภาคแอฟริกา ของกรีนพีซ แอฟริกา กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ย้ำเตือนกับเราดัง ๆ ว่าวิกฤตขยะสิ่งทอที่เป็นพิษในกานาไม่ได้เป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือส่งมาให้กับพวกเรา ดังนั้น แบรนด์แฟชั่นและรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบโดยทันทีต่อความเสียหายที่เกิดจากขยะที่พวกเขาส่งไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น กานา”
ด้านผู้เขียนรายงาน แซม ควาซี-ไอดัน (Sam Quashie-Idun) ยังเน้นย้ำถึงผลกระทบอื่น ๆ นอกจากข้อค้นพบสำคัญอีกด้วย
“เรามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นไม่ได้เป็นแค่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนแฟชั่น แต่ยังเร่งเร้าให้วิกฤตสุขภาพรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเสื้อผ้าที่เราเก็บมามีสารเคมีที่เป็นพิษต่อสุขภาพของประชากรในกานา”
“สถานการณ์ในกานาสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการล่าอาณานิคมยุคใหม่ กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือได้ผลกำไรจากการผลิตที่ล้นเกินและขยะปริมาณมหาศาล ในขณะที่กลุ่มประเทศซีกโลกใต้อย่างกานากลับต้องเป็นผู้รับผิดชอบมลพิษเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องมีสนธิสัญญาที่แก้ไขวิกฤตนี้และปกป้องชุมชนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฟาสต์แฟชั่น”
นักรณรงค์ของกรีนพีซ แอฟริกา เรียกร้องการแก้ปัญหานี้ในระยะยาวสำหรับวิกฤตจากฟาสต์แฟชั่นมาโดยตลอด
“เราเรียกร้องให้ยุติการนำเข้าขยะ รัฐบาลกานาจะต้องทำให้เรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน โดยออกกฎหมายที่เด็ดขาดที่จะหยุดการนำเข้าขยะสิ่งทอจากกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ รัฐบาลควรนำเข้าแค่เสื้อผ้าที่ยังนำไปใช้ซ้ำหรือยังสวมใส่ได้เท่านั้น แบรนด์แฟชั่นจะต้องรับผิดชอบทั้งระบบของห่วงโซ่ของสินค้าตั้งแต่การผลิตเสื้อผ้าไปจนถึงการกำจัดปลายทาง ภายใต้หลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”
สำหรับ แซม ควาซี-ไอดัน เขาเรียกร้องการสนับสนุนฉุกเฉินสำหรับการแก้ปัญหาให้กับชุมชน “รัฐบาลกานาต้องร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของท้องถิ่นที่ยั่งยืนในกานา เพื่อบรรเทาวิกฤตขยะและสามารถเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”
กรีนพีซ แอฟริกาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือต้องรับฟังเสียงของประชาชนในกานา และต้องร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาหนทางการแก้วิกฤตที่เป็นธรรม ยั่งยืน และปราศจากผลประโยชน์จากกลุ่มที่เอารัดเอาเปรียบ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Fast Fashion
ในรายงานฉบับนี้ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด Fast Fashion ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยพบว่า มูลค่าการซื้อขายกลุ่มเสื้อผ้าทั่วโลก เติบโตขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (USD) ในปี 2002 เป็นเกือบ 2 ล้านล้าน USD ในปี 2023 โดยมีการออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่ม Fast Fashion ที่มีมากกว่า 52 ไมโครคอลเลกชั่นต่อปี โดยมีกว่า 6,000 ไอเท็มใหม่ ถูกจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ของแบรนด์อัลต้าฟาสต์แฟชั่นอย่าง SHEIN และจะถูกส่งไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรงใน 3-7 วัน
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทรนด์แฟชั่น ส่งผลให้มีการหมุนเวียนในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว มีการเพิ่มปริมาณการบริโภค แต่อัตราการใช้งานสั้นลง รวมทั้งระดับราคาที่ถูกลง โดยพบว่า ราคาเสื้อผ้าในยุโรปลดลงกว่า 30% ในช่วงปี 1996 -2018 และเลือกซื้อเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่ไม่กี่คร้ังก่อนโยนทิ้งไป ทำให้เพิ่มโอกาสในการส่งออกขยะเสื้อผ้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ท่ัวโลก
สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดเสื้อผ้ามือสองทั่วโลก โดยมีการประเมินว่าตลาดจะเติบโตจากราว 9.6 หมื่นล้านUSD เป็น 2.18 แสนล้านUSD ภายในปี 2026 ตามปริมาณการผลิตและบริโภคสินค้า Fast Fashion ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโอกาสในการเกิดขยะจากเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่พบการส่งออกเสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปไปยังแอฟริกาและเอเชียสูงกว่า 1.5 ล้านตัน หรือราว 3 กิโลกรัมต่อคน ในปี 2018
ทั้งนี้ เสื้อผ้าใช้แล้วจำนวนมาก ไม่เหมาะในการนำกลับมาใช้ซ้ำ จากกระบวนการผลิตด้อยคุณภาพ รวมทั้งมักไม่มีการคัดแยกประเภทเสื้อผ้า รวมไปถึงมีบางส่วนที่หลีกเลี่ยงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ‘ขยะเสื้อผ้า’ ทำให้เลี่ยงมาใช้คำว่า ‘เสื้อผ้าใช้แล้ว’ แทน รวมทั้งในบางครั้งยังเป็นการลักลอบขนส่งมาแบบไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังต้นทางได้
สำหรับประเทศที่มีปริมาณการส่งออกเสื้อผ้าใช้แล้วมากที่สุดของโลก ในช่วงปี 2010 -2020 ที่มีปริมาณการส่งออกรวมกันกว่า 1 แสนตัน คือ ประเทศ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร