ย้อนความสำเร็จ 5 ปี ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ​มิกซ์ยูสแรกของพระราม 4 ตอบโจทย์​ทั้ง Community Segmentation และ Location 

ฉายภาพความสำเร็จในฐานะ Place Maker ​ ผู้ปลุกชีวิตและเติมสีสันให้กับพื้นที่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘ทะเลทรายซาฮาร่า’ เพราะเป็นพื้นที่ว่างเปล่ามานานเป็นสิบปี ก่อนที่ทาง เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จะเริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่เกือบ 14 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 เพื่อก่อสร้างโครงการ Mixed-used ภายใต้ชื่อ ‘สามย่านมิตรทาวน์‘ เมื่อ 10 มิถุนายน 2558 ก่อนจะ​แล้วเสร็จ​ในอีก 4 ปีต่อมา

‘สามย่านมิตรทาวน์​‘ เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่​ 20 กันยายน 2562  และถือเป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งแรกบนถนนพระราม 4 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 9 พันล้านบาท ​พื้นที่กว่า 2.22 แสนตารางเมตร ภายในโครงการ​มีทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรมและคอนโดมิเนียม รวมทั้งศูนย์การค้า และศูนย์ประชุม เพื่อให้เป็นโครงการที่สามารถรองรับทุกไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต ​ทั้งการทำงาน การกิน การอยู่อาศัย การจับจ่ายใช้สอย หรือการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ

คุณธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันสามย่านมิตรทาวน์เปิดให้บริการมาครบ 5 ปีแล้ว ภายใต้วิสัยทัศน์ของ คุณฐาปน และ คุณปณต สิริวัฒนภักดี ที่นำประสบการณ์​การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาพลิกโฉมถนนพระราม 4 แห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ พร้อม ความสำเร็จในการ​เป็นหนึ่งแลนด์มาร์กบนพื้นที่ที่เคยได้ชื่อว่า ‘ทะเลทรายซาฮาร่า’ จากที่เคยเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่ามานับสิบปี ​แต่ปัจจุบันมีผู้คนหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละกว่า 8 หมื่นคน หรือมีโอกาสได้ต้อนรับผู้คนไปแล้​วกว่า 120 ล้านคน โดย 80% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนักศึกษา และกลุ่มคนทำงาน จึงสะท้อนได้ถึงการเป็นมิกซ์ยูสในใจคนรุ่นใหม่

รวมทั้งการตอบรับที่ดีจากทุกองค์ประกอบในโครงการไม่ว่าจะเป็นส่วนของอาคารสำนักงาน (Office) ที่มีอัตราการเช่าถึง 98% จาก 39 บริษัท โดยกว่า 50% เป็นบริษัทต่างชาติ ที่ให้ความสำคัญในการหาออฟฟิศที่ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการเป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งออฟฟิศของสามย่านจัดเป็นอาคารเกรด A ที่ได้รับรองตามมาตรฐาน LEED Gold

ในส่วนโซนอยู่อาศัย คอนโดมิเนียมสามารถปิดการขายได้ทั้ง 100% และมีอัตราการ Resale เพิ่มขึ้นถึง 22% โดยมีระดับราคาสูงสุดถึง 1.6 แสนบาทต่อตารางเมตร เนื่องจากยังมีดีมานด์ในปริมาณที่สูง ขณะที่ส่วนของโรงแรม 102 ห้อง มีอัตราการเข้าพัก 90% รวมทั้งในส่วนพื้นที่ค้าปลีกที่มีกว่า 3.6 หมื่นตารางเมตร ก็มีผู้เช้าเต็มเช่นกัน ซึ่งทางศูนย์มีแผนเพิ่มพื้นที่เช่าผ่านการเพิ่มคีออสสำหรับร้านค้าย่อยเพิ่มเติมในอนาคต โดยยังเน้นให้มีพื้นที่โล่งสำหรับลูกค้าเดินได้อย่างสะดวกเช่นเดิม ขณะที่ภายในศูนย์มีการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ​ไปกว่า 1,500 งาน ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดึงดูดให้มีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“​ความสำเร็จของสามย่านมิตรทาวน์มาจากการให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบภายใน Ecosystem การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันท้ังในส่วนของ Office Residential และ Retail รวมทั้งความสามารถวิเคราะห์และเข้าใจ Community, Segmentation และ Location ได้อย่างถ่องแท้ ผ่านการวางคอนเซ็ปต์ที่​เชื่อมโยงกับความแข็งแรงของโลเกชั่นอย่าง ‘สามย่าน’ ที่เป็นย่านตลาดเก่าและโดดเด่นเรื่องของกิน ประกอบกับเป็นที่ตั้งของ​สถานศึกษาชั้นนำของประเทศอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่มาของการวาง Positioning ที่ผสมผสานระหว่าง Food และ Knowledge ​ในฐานะ ‘คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้’ ทำให้สามารถออกแบบพื้นที่ในโครงการให้สร้างประโยชน์และเป็นศูนย์กลางของผู้คนและชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบได้ ขณะเดียวกันยังสามารถตอบโจทย์ Painpoint เดิมของพื้นที่ ที่ขาดแคลนคอนโดเพื่อยู่อาศัยในการ​รองรับปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีราว 2 หมื่นคน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเข้ามา​เพิ่มทั้งดีมานด์และไอเดียใหม่ๆ ทำให้ในพื้นที่มีความแปลกใหม่และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”​

คุณธนพล ยังได้ฉายภาพ 3 ความสำเร็จในการขับเคลื่อน ‘สามย่านมิตรทาวน์’ พร้อมสร้าง Positive Impact ทั้งในแง่ของการเติบโตด้านธุรกิจ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตของผู้คนในย่านพระราม 4 มาตลอด 5 ปี ​มาจาก​กลยุทธ์ ต่อไปนี้

1. Mitr – ting place concept ​การวางคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนในฐานะ คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้​ที่​​ผสมผสานวัฒนธรรมของชุมชนสามย่าน และการตั้งอยู่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สามย่านมิตรทาวน์โดดเด่นในตลาดมิกซ์ยูส ที่สามารถตอบโจทย์​​และเติมเต็ม​ด้าน Smart & Friendly สะท้อนถึงความทันสมัย ฉลาด การเรียนรู้ และมีความเป็นมิตร เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้​ และร่วมสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ทำให้ภายในศูนย์เต็มไปด้วยร้านอาหารระดับแฟลกชิพ หรือร้านในตำนานต่างๆ รวมทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ เวิร์คช้อป ART & CRAFT ต่างๆ เป็นต้น ​​​

2. Mitr mindset กล้าคิดนอกกรอบ ในฐานะที่ไม่เคยทำรีเทลมาก่อน ทำให้วิธีคิดของสามย่านมิตรทาวน์ ไม่ได้ยึดกับขนบเดิมๆ ของการทำศูนย์การค้าทั่วไป แต่เลือกทำให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด และผู้บริโภคเป็นสำคัญ ทำให้สามารถสร้างความแตกต่างจากตลาด ทั้งการพัฒนา​พื้นที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงแห่งแรกใจกลางเมือง ทั้งร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และพื้นที่โค-เลิร์นนิ่ง สเปซ ภายใต้ชื่อ ซี อาเซียน สามย่าน โค-ออป (C asean Samyan CO-OP) ที่เปิดให้เรียนรู้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง โดยปัจจุบันมีสมาชิกแล้วกว่า 180,000 คน เฉลี่ยมีผู้เข้าใช้บริการถึง 1,500 คน ต่อวัน

รวมทั้งการครีเอทกิจกรรมหรืออีเวนท์ ที่ตอบโจทย์​ Segment และ Location เช่น ลานนมสามย่าน ที่กลายเป็นอีกหนึ่ง Signature Event ​สร้างกระแสให้ผู้คนมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ลานนมอารมณ์ลานเบียร์เป็นจำนวนมาก รวมท้ังอีกหนึ่งแลนด์มาร์กอย่าง อุโมงค์สามย่าน ที่มีคนผ่านไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งแตกต่างทั้งเรื่องของการตกแต่ง​ พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการและบุคคลทั่วไป​เข้าสู่อาคารได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และไร้รอยต่อ หรือการมี Sky Garden เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ผู้ใช้บริการทุกคนได้ผ่อนคลายบริเวณชั้น 5 ของโครงการ รวมทั้งการใช้พื้นที่หน้าโครงการ หรือภายในศูนย์ เพื่อร่วมมือกับภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อตอบโจทย์และช่วยเหลือสังคม​ เช่น การเปิดพื้นที่ช่วยเหลือ SME หรือคนตัวเล็ก การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนช่วงโควิด รวมทั้งเป็นพื้นที่ Street Performance สำหรับผู้มีความสามารถได้มีโอกาสแสดงออก เป็นต้น

3. The Mitr Ecosystem เมืองแห่งมิตร ​การออกแบบให้ทุกองค์ประกอบสามารถเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ​รวมทั้งสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกันได้​ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัยทั้งในโครงการ หรือพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ผู้ประกอบการ คนทำงาน นักท่องเที่ยว หรือคนมาสัมมนา และมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการ

“สามย่านมิตรทาวน์ ยังโฟกัส 3 แนวทาง เพื่อรักษาความแข็งแรงของตัวตนและเพิ่มโอกาส​เติบโตในอนาคต รวมทั้งการติดตามเทรนด์ต่างๆ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี เทรนด์ทางธุรกิจ หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคเพื่อโอกาสในการสร้าง S-Curve เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง​เพิ่มความสามารถในการปรับตัวตามยุคสมัย ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการด้าน Workplace, Property และ Retail เพื่อสามารถออกแบบและพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์​และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง​ต่างๆ ​​​ เพื่อสามารถรักษาความแข็งแกร่งและเติบโตในอนาคตข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง”​ คุณธนพล กล่าวทิ้งท้าย ​

Stay Connected
Latest News