ดีลอยท์ เผย องค์กร 85% เพิ่มเม็ดเงินลงทุนด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา 50% ขับเคลื่อน Climate Tech แล้ว อีก 42% คาดเริ่มได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

รายงาน Deloitte’s 2024 CxO Sustainability Report: Signs of a shift in business climate action ประจําปี 2567 ของดีลอยท์ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นหนึ่งในสามอันดับแรกที่ผู้นําธุรกิจระดับ C-suite level (“CxO”) ทั่วโลกให้ความสำคัญ แซงหน้าความไม่แน่นอนทางการเมือง การแข่งขันเพื่อสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป

ตัวบ่งชี้สําคัญที่แสดงว่าสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นวาระสำคัญของผู้นําธุรกิจ เห็นได้จาก ​​85% ของ CxO  ระบุว่าได้เพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืนในปีที่ผ่านมา ​เพิ่มขึ้นจากจำนวน​​ 75% ในปี 2566 และ CxO ครึ่งหนึ่ง (50%) ได้เริ่มใช้โซลูชันเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

รายงานความยั่งยืนของ CxO ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ได้สํารวจ CxO กว่า 2,100 ราย จาก 27 ประเทศ เผยให้เห็นว่าผู้นําธุรกิจมีทัศนคติเชิงบวกแต่ในเวลาเดียวกันก็มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าการลงทุน การดําเนินการ และนวัตกรรมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีงานอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม โดยมีประเด็นสำคัญในรายงาน อาทิ

– องค์กร 85%  ลงทุนด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 75% ในปี 2566

– ผู้บริหาร 70% คาดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบสูงหรือสูงมาก ต่อกลยุทธ์และการดําเนินงานของบริษัทใน 3 ปีข้างหน้า

– เกือบครึ่งหนึ่งของ CxO ( 45%) ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพื่อรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน โดยกำหนดเป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร

– CxO 50%  เริ่มใช้โซลูชันเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยอีก 42% คาดว่าจะดําเนินการได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

มร.โจ อุคูโซกลู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ โกลบอล กล่าวว่า  เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่าในปีนี้ มีการลงทุนที่ในด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาโซลูชันด้านสภาพอากาศ โดยมี​องค์กรที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลักเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตของธุรกิจ  สร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ๆให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง​

การขับเคลื่อนด้าน Climate Change กระตุ้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech เป็นสิ่งสําคัญในการแข่งขันเพื่อลดคาร์บอน และแต่ละอุตสาหกรรม ภูมิภาค และองค์กร ต้องการเส้นทางเฉพาะตนที่ไม่เหมือนใคร เมื่อพิจารณาว่า CxO จัดอันดับให้การก้าวให้ทันกับนวัตกรรมใหม่ๆ (รวมถึง Generative artificial intelligence หรือ GenAI) เป็นความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในปีหน้า จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้นําจะได้จัดลําดับความสําคัญในการลงทุนในโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางธุรกิจ

โดยพบว่า ครึ่งหนึ่งของ CxO เริ่มใช้โซลูชันทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว โดยอีก​ 42% คาดว่าจะดำเนินการในอีกสองปีข้างหน้า

ส่วนบรรดาผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านความยั่งยืน มากกว่าครึ่งกล่าวว่า นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนมากขึ้น โดย CxO​​ 38% คาดหวังประโยชน์จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในอีกห้าปีข้างหน้า ในเรื่องนวัตกรรมที่เกี่ยวกับบริการและ/ หรือการดําเนินงานของพวกเขา

ผู้นํามองว่าความยั่งยืนขับเคลื่อนคุณค่าทางธุรกิจ

ผู้บริหารตระหนักถึงศักยภาพทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยมลพิษต่ำ โดย 92% เชื่อว่าบริษัทของตนสามารถเติบโตได้ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นํายังระบุถึงการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ว่าเห็นผลกระทบโดยตรงด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจมากขึ้นจากความพยายามด้านความยั่งยืน

โดยประโยชน์ 5 อันดับแรก ที่องค์กรจะได้รับจากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ จากการสำรวจในปีนี้ พบว่า

ความสามารถในการแก้ปัญหาสภาพอากาศ (Climate Change) 39% อยู่ในอันดับสูงที่สุดในปีนี้ เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับ 5 ​ตามมาด้วย ช่วยเพิ่มการจดจําแบรนด์และชื่อเสียงขององค์กร 38%  ขณะที่การเพิ่ม​ประสิทธิภาพ และ/หรือความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน  37% รวมทั้งอัตรากําไรจากการดําเนินงาน ที่ 37% เท่ากัน และเป็นปัจจัยที่​เข้ามาติดลิสต์ในปีนี้เป็นปีแรก

ส่วนประโยชน์ต่อองค์กรในระยะ 5 ปีข้างหน้า มอง​ว่า การพัฒนานวัตกรรมและประสิทธิภาพในการดำเนินงานเป็นอันดับแรก 38% ตามมาด้วยความสามารถในการแก้ปัญหา Climate Change 37% รวมทั้งความสามารถด้านการสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพ (talent) , การช่วยลดต้นทุน​, การเพิ่มศักยภาพภายในซัพพลายเชน และช่วยเพิ่มการจดจำแบรนด์และชื่อเสียงองค์กร ด้วยคะแนน 36% เท่ากัน

ท้ังนี้ ​ด้านการดึงดูด Talent ผลที่ได้ยังสอดคล้องกับการสํารวจ  Deloitte’s 2024 Gen Z and Millennial Survey ที่ระบุว่ากว่า 4 ใน 10 ของเจนซี และมิลเลนเนียลได้เปลี่ยนงานหรือวางแผนที่จะเปลี่ยนงานหรืออุตสาหกรรม เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยมลพิษต่ำ ทำให้มีแรงงานต้องมีการปรับเปลี่ยนตาม งาน 800 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศสุดขั้วและการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจไปสู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งผู้บริหารถึง 55% ที่มองเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพิ่มขึ้นจาก 46% ในปีที่แล้ว รวมทั้งมีถึง​เกือบครึ่ง (49%) ​ที่ได้เตรียมแรงงานให้พร้อมสําหรับงานสีเขียว (green jobs) รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งมั่นที่จะให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์และช่วยเหลือกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเท่าเทียม

ความกังวลเพิ่มขึ้น แต่การดำเนินการกลับไม่สอดคล้อง

นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรมุ่งเน้นการดำเนินการขนาดใหญ่ 2-3 อย่าง ที่มีความยากในการดำเนินการ แต่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนผลกระทบทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น ผูกค่าตอบแทนของผู้บริหารกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าโดยรวมกลับไม่สม่ำเสมอ โดยองค์กร​​ 17%  ดําเนินการดังกล่าว 4-5 อย่าง  ขณะที่องค์กรมากกว่าหนึ่งในสี่มีการดําเนินการขนาดใหญ่ เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย องค์กรมากกว่าครึ่ง จัดอยู่ในหมวดหมู่ปานกลาง โดยมีการดําเนินการขนาดใหญ่ 2-3 อย่าง แต่ไม่มากไปกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลหลายประการสําหรับการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับสถานะของการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรกลุ่มปานกลาง  องค์กรกลุ่มนี้คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบสูงต่อกลยุทธ์และการดําเนินงานในอีกสามปีข้างหน้า

โดยหนึ่งในห้าคาดว่าจะมีผลกระทบสูงมาก ความมุ่งมั่นในปัจจุบันของกลุ่มนี้ ควบคู่ไปกับความคาดหวังต่ออนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ชี้ให้เห็นว่ากําลังเตรียมการเพื่อดำเนินการเพิ่มขึ้นสำหรับผลกระทบที่มากขึ้นในอนาคต

เจนนิเฟอร์ สไตน์แมน ลีดเดอร์ด้านความยั่งยืน ดีลอยท์ โกลบอล กล่าวว่า ผู้บริหารเริ่มเห็นประโยชน์ที่จับต้องได้มากขึ้น จากการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ  โดยมองว่า ความยั่งยืน​ขับเคลื่อนให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่​​ โมเดลธุรกิจ และการสร้างมูลค่าโดยรวม และจากการวิเคราะห์ บริษัทในกลุ่มปานกลาง พร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมของตลาดในวงกว้าง โดยต่อยอดจากประสบการณ์ที่มีอยู่เพื่อดําเนินการเปลี่ยนแปลงที่จริงจังยิ่งขึ้น เช่น การกําหนดค่าการดําเนินงานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้น หรือกําหนดให้ซัพพลายเออร์มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ความยั่งยืนที่ ท้ายที่สุดแล้ว การดําเนินการที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยเร่งความคืบหน้าในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกร่วมกัน​

คําแนะนําในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุด

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวผลักดันให้ผู้นำธุรกิจหันมาลงทุนพัฒนากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น เพราะตระหนักถึงผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจที่สามารถจับต้องได้ รายงานของดีลอยท์เสนอข้อควรพิจารณาสําหรับผู้นําองค์กรที่ต้องการแสวงหาช่องทางใหม่ๆ  โดยการพัฒนาจุดแข็ง มองหาช่องทางและพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนผลกระทบ และมองหาโอกาสสร้างมูลค่าทางธุรกิจจากความยั่งยืน องค์จะสามารถก้าวหน้าในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและวางตำแหน่งตัวเองให้เติบโตในเศรษฐกิจสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคตได้”

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน  2024 CxO Sustainability Report ของดีลอยท์ ได้ที่  https://www.deloitte.com/global/en/issues/climate/content/deloitte-cxo-sustainability-report.html

Stay Connected
Latest News

“จระเข้” ลุยตลาดสีเมืองไทยมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ชี้ตลาด “สีปลอดภัย” และ “สีสร้างลาย” มาแรง พร้อมเผยโฉม “SEE JORAKAY Flagship Store” จัดแสดงโซลูชันสีทาอาคารแบบครบวงจร เปิดโซนพิเศษที่ชวนคนรักบ้าน มาออกแบบพื้นที่ในสไตล์ของตนเองด้วยสีสัน