มธ.SMART CITY “ล้ำ” จัดพี่วินใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์บริการ นศ.

ต่อยอดความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และผลักดันให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นสมาร์ทซิตี้นำร่อง (SMART CITY) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ

มหาวิทยาลัยธธรมศาสตร์ วางเป้าหมายมุ่งมั่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และเพื่อต่อยอดทางความคิดล่าสุดได้นำโครงการโซลาร์ไรด์ (SOLARYDE) เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริษัท STAR 8 (THAILAND) โดยเป็นโครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างพลังงานสะอาด และประหยัดแบบครบวงจร ตัวมอเตอร์ไซค์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี ที่มาพร้อมสถานีชาร์จไฟ ซึ่งใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไปก่อนหน้านี้ พร้อมให้บริการนักศึกษา ใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารับจ้างในอัตราค่าบริการเท่าเดิม แต่มีโอกาสช่วยลดมลพิษให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นการประหยัดการใช้พลังงานให้กับประเทศชาติ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกจำกัดความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. กล่าวถึงการดำเนินการว่า

“ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ให้บริการภายในมหาวิทยาลัย ให้เป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจำนวน 25 คัน พร้อมให้บริการในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเพิ่มจำนวนเป็น 50 คันในเดือนเมษายน และ 150 คัน ภายในสิ้นปี 2561 นี้ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขปริมาณยานพาหนะทุกประเภทที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีสูงถึงประมาณ 22,000 คันต่อวัน คิดเป็นคาร์บอนที่ปล่อยประมาณ 3,700 เมตริกตันต่อปี ทั้งนี้ การนำร่องใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครั้งนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในศูนย์รังสิตได้มากกว่า 500 เมตริกตันต่อปี และมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนจากบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (Zero Carbon Transportation) ให้เป็นศูนย์ ภายในเวลา 5 ปี”

 

“โซลาร์ไรด์” โครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และสถานีชาร์จไฟจากพลังงานโซลาร์เซลล์

 

โครงการโซล่าร์ไรด์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนจะสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการมากเพียงใด รัญชิดา สิทธิสาร ชั้นปีการศึกษาที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. นักศึกษาผู้ใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากทางด้านนอกประตูเชียงราก 1 กล่าวว่า

“ โครงการมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า เป็นโครงการที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นโครงการที่เข้าถึงอินไซต์ของนักศึกษาพร้อมๆ กับปลูกจิตสำนึกเรื่องความประหยัดพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยปกติ ต้องใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเกือบทุกวัน ประกอบกับพบว่า บางครั้งควันไอเสียจากรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็น ทำให้ต้องปิดปาก ปิดจมูกบ่อยครั้ง อีกทั้งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างบางคันมีเสียงดัง และวิ่งเข้า-ออกมหาวิทยาลัย วันละหลายๆรอบ ซึ่งเป็นการส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นตลอดทั้งวัน หากมีรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาให้บริการภายในมหาวิทยาลัย จะถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง และตนเองก็จะเป็นผู้หนึ่งที่จะใช้บริการแน่นอน เพราะต้องการสนับสนุนแนวความคิดที่ดีของมหาวิทยาลัย และอยากให้โครงการดีๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่อง”

รัญชิดา สิทธิสาร ใช้บริการของ”พี่มอไซต์” ของโครงการโวล่าร์ไรด์

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน จากการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเน้นที่การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน การเพิ่มและรักษาต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดขยะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ความร่วมมือกับบริษัทโซลาร์ตรอนในการติดตั้งแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 5 เมกะวัตต์ การใช้รถรางไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้นำร่องติดตั้งไปแล้วจำนวน 6 คัน รวมไปถึงการสร้างอาคารที่ได้รับการออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน  เป็นต้น

Stay Connected
Latest News