หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ขยะพลาสติก Single-use หรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในปริมาณมาก คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่เติบโตขึ้นอย่างมากหลังการแพร่ระบาดของโควิด
ซึ่งที่ผ่านมาเราจะได้เห็นความพยายามของผู้ให้บริการออนดีมานด์เหล่านี้ ในการเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจโดยที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะการพัฒนาฟีเจอร์ในแพลตฟอร์มเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือก ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก‘ หรือการไม่รับเครื่องปรุงต่างๆ รวมทั้งความพยายามริเริ่มโครงการหรือบริการใหม่ๆ เพื่อมีส่วนลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
ล่าสุด มีความร่วมมือระหว่าง WWF Thailand (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย) และแพลตฟอร์ม Food Delivery On Demand อย่าง LINE MAN Wongnai (ไลน์แมน วงใน) และ foodpanda (ฟู้ดแพนด้า) ในการขยายโครงการ PACT หรือ Plastic ACTion ซึ่งเป็นโครงการลดพลาสติกทั่วโลกของ WWF ภายใต้กรอบ ‘No Plastic in Nature‘ เพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่ธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายระดับโลก ในการลดขยะพลาสติกลง 30% ภายในปี 2030 โดยมุ่งเน้นการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นทั้งหมด พร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้ รวมทั้งลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) ให้น้อยลง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และกำจัดปัญหาขยะพลาสติกในธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มในสิงคโปร์ ก่อนจะขยายผลไปในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งฮ่องกง เกาหลี เอกวาดอร์ เปรู และไทย
ขยายผล Plastic ACTion ในประเทศไทย
สำหรับการขยายโครงการ PACT ในประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคีนำร่องเพื่อดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงการ Plastic Smart Cities ที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น 38 ราย ในอุตสาหกรรมเป้าหมายท้ังอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจบริการ ของ 4 เมืองภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย สงขลา และหาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการลดขยะพลาสติกในพื้นที่ ผ่านการร่วมมือกับเทศบาลนคร โรงเรียน และชุมชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรม เช่น โรงเรียนปลอดพลาสติก ธนาคารขยะชุมชน ศูนย์คัดแยกขยะ และจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งผู้บริโภคที่สนับสนุนแนวทางในการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
ขณะที่การขยายความร่วมมือออกมานอกพื้นที่ ผ่านกลุ่ม Food Delivery นำร่อง 2 แพลตฟอร์ม อย่างไลน์แมน วงใน และฟู้ดแพนด้า ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้าง Single-use Plastic ปริมาณมาก เพื่อร่วมมือกันสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับประเทศ และเปลี่ยนผ่านสู่แนวทางการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการให้คำปรึกษา สนับสนุนเครื่องมือและทักษะในการวัดและประเมินผลข้อมูล รวมทั้งสนับสนุนด้านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างเครือข่ายให้แก่ธุรกิจตลอดห่วงโซ่ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย
1. ลด: สนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระบบการจัดส่งอาหาร
2. เพิ่ม: ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
3. แลกเปลี่ยน: แบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานตามนโยบาย กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
คุณรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย เปิดเผยว่า ขยะพลาสติกเป็นประเด็นปัญหาระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทุกคน ทุกปีมีการผลิตพลาสติก 430 ล้านตันทั่วโลก โดยประเทศไทยมีขยะพลาสติก 75% หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว และไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เสี่ยงต่อการรั่วไหลสู่ธรรมชาติและสามารถตกค้างอยู่ในมหาสมุทรได้เป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์
“การแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกเป็นภารกิจที่ WWF ให้ความสำคัญ และมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและบริโภค รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของพลาสติก ซึ่งการขับเคลื่อน PACT ระดับโลก เช่น ในสิงคโปร์ WWF ได้จับมือกับองค์กรธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2019 ริเริ่มฟีเจอร์ ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติ’ บนแอปพลิเคชัน และสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ ส่วนในประเทศไทยเชื่อว่าการได้ ไลน์แมน วงใน และฟู้ดแพนด้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Plastic ACTion จะสามารถขยายผลของในการลดปริมาณขยะพลาสติก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมต่อไป รวมทั้งขยายให้เกิดอิมแพ็กในระดับประเทศได้ต่อไป”
ดึงบริการแพลตฟอร์ม ร่วมสร้าง Impact
ดร.บุญชนิต ว่องประพิณกุล ผู้จัดการโครงการ Plastic Smart Cities WWF ประเทศไทย กล่าวถึงศักยภาพในการร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เนื่องจาก เป็นตัวกลางที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้บริโภค ทำให้สามารถรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การบริโภคที่ยั่งยืนทั้งจากฟากของดีมานด์และซัพพลาย ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มเองยังทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อนทั้งการด้านตระหนักรู้ และให้ความรู้แก่ลูกค้าและร้านค้าเรื่องการบริโภคที่ยั่งยืน การจัดการขยะ หรือการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การขยายผลในอนาคตตั้งเป้าให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในทุกแพลตฟอร์ม กลุ่มธุรกิจบริการ อีคอมเมอร์ซและโลจิสติกส์ รวมทั้งกลุ่มธรกิจค้าปลีก เป็นต้น
ดร. มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะ และรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า ไลน์แมน วงในให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อมีส่วนช่วยลดขยะพลาสติก โดยเฉพาะการพัฒนา UX UI บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะการมีฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ที่พัฒนามาในปี 2021 ซึ่งช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา สามารถลดขยะพลาสติกได้กว่า 3,286 ตัน พร้อมทั้งพยายามเพิ่มให้ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วยการปรับการวางปุ่มเพื่อให้ลูกค้าสังเกตุง่ายขึ้นและมีส่วนร่วมบ่อยๆ จนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าให้รับได้เฉพาะในช่วงที่จำเป็นได้ในที่สุด
“ทางแพลตฟอร์มยังได้ต่อยอดมาสู่การเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในส่วนอื่นๆ เช่น การไม่รับเครื่องปรุง ที่นำร่องมาได้ราว 2 เดือน ซึ่งสามารถช่วยลดขยะจากซองเครื่องปรุงลงได้กว่า 20 ล้านซอง รวมทั้งการจูงใจร้านค้าในแพลตฟอร์มให้ปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่แพลตฟอร์มก็จะสนับสนุนให้ร้านค้ากลุ่มนี้ที่มีกว่า 1,400 ราย ให้มีอัตราการมองเห็นจากลูกค้าได้ดีมากขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันยอดขายให้สามารถชดเชยต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ขณะที่การมาเข้าร่วม PACT กับทาง WWF และได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาโครงการ Plastic Smart Cities ในพื้นที่นำร่อง ทำให้สามารถนำมาต่อยอดไอเดีย รวมท้ังการเข้าถึงความรู้ ข้อมูล เพื่อนำมาต่อยอดให้ธุรกิจสามรถสร้างอิมแพ็กได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”
ด้าน คุณจุฑารัตน์ มณิปันตี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและรรัฐกิจสัมพันธ์ foodpanda ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟู้ดแพนด้าริเริ่มพัฒนาฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมใน 11 ตลาด ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาต้ังแต่ปี 2018 โดยในประเทศไทยมีลูกค้าถึง 85% ที่เลือกไม่รับช้อนส้อม โดยมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-30% และส่วนใหญ่คนที่เคยกดแล้วมักจะกดซ้ำนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการสร้างขยะได้ในที่สุด โดยในปี 2023 ที่ผ่าน สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 246 ตัน หรือตลอด 6 ปี สามารถลดลงได้มากกว่า 2,500 ตัน รวมทั้งการสนับสนุนให้ร้านค้าหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ด้วยการจับมือกับแบรนด์เกรซ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนบรรจุภัณฑ์กว่า 1.5 ล้านกล่อง เพื่อมอบให้ร้านค้าในแพลตฟอร์มกว่า 4,500 ร้านค้า นำไปใช้บรรจุอาหารให้ลูกค้า ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดขยะไปได้ 1.5 ล้านชิ้นเช่นกัน
“ขณะที่การผลักดันเพื่อให้ลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ลงได้มากขึ้น จากการต่อยอดความร่วมมือในโครงการ PACT เพื่อนำข้อมูล หรืออินไซต์ที่ได้ไปขยายผลต่อผ่านการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นทั้งด้าน Awareness และการเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า ส่วนแผนในการผลักดันให้ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนให้มากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อเสนอเงื่อนไขพิเศษให้กับทางร้านค้า เพื่อมีส่วนดึงดูดร้านค้าอื่นๆ ที่อยู่ภายในแพลตฟอร์มให้หันมาใช้บริการจากทางแบรนด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อสามารถขยายผลเชิงบวกได้เป็นวงกว้างได้มากขึ้น”