เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็น Influencer เป็น Content Creators ซึ่งเป็นอาชีพที่ติดอยู่ใน Top10 อาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ โดยครีเอเตอร์ในยุคปัจจุบันไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ต้องสามารถ Integrated คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นไปในหลากหลายช่องทาง เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุด รวมทั้งต่อยอดไปสู่โอกาสสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การเป็น Influencer สามารถยึดถือเป็นอาชีพในอนาคตได้
เซเว่น อีเลฟเว่น โดย CP ALL ผู้สนับสนุนการเติบโตของ Community Influencer มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัด CP ALL Influencer Trend 2024 มาแล้ว 4 ครั้ง ในกรุงเทพฯ รวมท้ังการ Roadshow ครั้งล่าสุดกับ CP ALL Influencer Trend 2024 ครั้งที่ 5 On Tour เชียงใหที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อชวนอัพสกิล รับเทรนด์ ‘อินฟลูจะปัง ต้อง ‘หาเงิน’ ให้เป็น!’
พร้อมนำผู้ประสบความสำเร็จจากการเป็น Content Creators อย่าง คุณแอ๊ม ศรันย์ แบ่งกุศลจิต จากช่อง ‘การตลาดการเตลิด’ มาฉายภาพให้เห็น Landscape ของวงการอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน ทั้งโมเดลในการต่อยอดสร้างรายได้ พร้อมชี้แนะแนวทางเพื่อสามารถต่อยอดการทำอินฟลูให้กลายเป็นอาชีพได้ รวมทั้งกรณีศึกษาจาก 3 Big Influencers มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจ ทั้ง ‘หยาดพิรุณ’ โดย คุณหยาดพิรุณ ปู่หลุน, polorstory โดยคุณพอลอ – ภูมิฤกษ์ พรหมมินทร์ และ Best Living Chiangmai โดยคุณอาชิ – อาชิรญาณ์ มหาเกียรติคุณ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จให้แก่ผู้สนใจเดินบนเส้นทางการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในคร้ังนี้ด้วย
5 โมเดล สร้างรายได้ของ Influencers
คุณแอ๊ม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ Full-time หรือกลุ่มที่ยึดเป็นอาชีพราวๆ 3 ล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่นิยมใช้ช่องทางโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ มาต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โมเดลในการนำมาซึ่งรายได้ของอินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีอยู่ 5 โมเดลหลัก ประกอบด้วย Affiliate (การหาของมาขายในช่อง), Sponsors (รอคนมาจ้าง), Product (ทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง, สร้างแบรนด์เอง), View (รายได้จากยอดคนที่เข้ามาดูคอนเทนต์) และ Fanclub (การที่มีผู้ชมประจำจนกลายเป็นแฟนคลับและตามมาสนับสนุนสินค้าหรือบริการ)
– Affiliate : การนำลิงก์ขายสินค้าต่างๆ มาแปะไว้ในคอนเทนต์ เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อสินค้า และได้รับส่วนแบ่งเมื่อมีลูกค้าซื้อสินค้าชิ้นนั้นผ่านลิงก์ เช่นเดียวกับการขายตรง ซึ่งเป็นลักษณะของการทำ Push Marketing ที่สามารถพุ่งไปหางานได้เองทันที แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การที่เราจะนำสินค้าอะไรมาแปะ ต้องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ หรือตัวตนที่เราเป็น เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือว่าเรามีประสบการณ์ในการใช้งานสินค้านั้นจริงๆ ซึ่งอาจสร้างรายได้สูงถึงหลักหมื่นหรือหลักแสน และสามารถทำ Affiliate ได้เกือบทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
สำหรับการเลือกสินค้ามาทำ Affiliate เพื่อให้มีโอกาสสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ให้มองหาสินค้าที่ให้ส่วนแบ่งที่ดี, เลือกสินค้าให้เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้าเราชื่นชอบอาหาร ให้ขายของกิน, สินค้านั้นสามารถนำเสนอเป็นคอนเทนต์ที่ดีได้ หรือการเลือกสินค้าที่กำลังเป็นกระแสก็จะเพิ่มโอกาสในการตอบรับที่ดีได้มากขึ้น รวมทั้งการการขายสินค้าที่เป็นสิ่งใกล้ตัว หรือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
– Sponsors : การที่แบรนด์หรือเจ้าของสินค้ามาจ้างให้ประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งมีทั้งแบบปักตระกร้า ที่เน้นการขายของ และแบบไม่ได้ปักตระกร้า ที่อาจจะเน้นการรีวิว หรืองานบริการ ซึ่งข้อดีของงานสปอนเซอร์คือ การได้รับเงินที่ก้อนใหญ่มากขึ้น โดยโอกาสที่จะได้งานสปอนเซอร์ คือ การมีหลากหลายแพลตฟอร์ม เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะแต่ละแพลตฟอร์มอาจจะเข้าถึงผู้ติดตามได้แตกต่างกัน หรือการทำตัวตนของช่องให้ชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์หรือเอเยนซีต่างๆ สามารถค้นพบเราได้ในที่สุด
ขณะที่การตัดสินใจที่แบรนด์หรือเอเยนซีจะเลือก Influencer มาเป็นตัวแทนจะมองจาก คนที่มีเอกลักษณ์หรือตัวตนที่โดดเด่นชัดเจน , มีคอนเทนต์ที่รู้ว่าสปอนเซอร์สามารถเข้าได้ , ทำช่องให้น่าเชื่อถือ มีคุณภาพทั้งภาพ เสียง และต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทำให้คลิปมีคุณภาพมากขึ้น เพราะคนดูส่วนใหญ่มีความคาดหวังในเรื่องของคุณภาพด้วย, มีเรทราคาที่โอเค ชัดเจน น่าจัดจ้าง รวมทั้งมีช่องทางติดต่อได้ง่าย และการตอบกลับที่รวดเร็ว และมีความเป็นมืออาชีพ
– Product : การต่อยอดจากภาพจำหรือแบรนดิ้งมาพัฒนาเป็นสินค้าของตัวเอง แต่ต้องออกสินค้าให้เชื่อมโยงตัวตนของเรา เพื่อทำให้คนเชื่อ เพราะอินฟลูเอนเซอร์หลายคนที่พอเริ่มมีชื่อเสียงและต่อยอดมาสู่การสร้างแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับตัวตนที่เป็น แต่เลือกออกสินค้าที่ผลิตง่าย หรือออกตามกระแสตลาดนิยม ซึ่งไม่มีความแตกต่าง และไม่เชื่อมโยงกับตัวตน สุดท้ายก็จะไม่มีคนซื้อ เพราะยุคนี้ คนซื้อของจะเลือกจากสิ่งที่จำได้จากสิ่งที่เจ้าของแบรนด์เป็น ดังนั้น ถ้าเราชอบกินให้ออกของกิน ถ้าเราชอบแต่งหน้าให้ออกเครื่องสำอาง หรือกลุ่ม Beauty แต่สินค้าอาจไม่จำเป็นต้องจับต้องได้ อาจเป็นการให้บริการจากความเชี่ยวชาญ หรือความสนใจของเรา เช่น การต่อยอดจากภาพจำ ด้านลายเส้น เพื่อรับจ้างเขียนป้ายต่างๆ หรือ การรับสอนการบ้าน หรือการเป็นติวเตอร์ เป็นต้น
หลักการในการออกสินค้า คือ ‘ถ้าเราเป็นใครให้ออกสินค้าแบบนั้น‘ เพื่อให้สินค้าสามารถสะท้อนตัวตนเราได้ ซึ่งหนึ่งในพัฒนาการก่อนการออกสินค้าของตัวเอง ให้เริ่มจากการทำ Affiliate สินค้าที่เชื่อมโยงกับคอนเทนต์ เพื่อสร้างภาพจำให้คนมองว่าเราใช้สินค้านั้นจริงๆ หรือมีความรู้ ความสนใจในเรื่องนั้นจริงๆ ก่อนมาออกสินค้าของตัวเอง เพื่อทำให้คนเชื่อว่าเราเป็นสิ่งนั้นจริงๆ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ การพัฒนาโปรดักต์ของตัวเองได้ จะสามารถสร้างรายได้ที่สูงมากให้เจ้าของแบรนด์ แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมความเสี่ยงที่สูง เพราะต้องใช้ต้นทุนการดำเนินงานมาก และมีโอกาสล้มเหลวได้สูงมากเช่นกัน
– View : รายได้ที่เกิดจากยอดคนดู ซึ่งเป็นโมเดลของบางแพลตฟอร์ม เช่น Youtube TikTok และ Reels ใน Facebook หรือ IG ที่จ่ายค่าตอบแทนให้คนทำคอนเทนต์ตาม Pay Per View แต่มีข้อจำกัดจากต้นทุนที่สูง ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมามี Youtuber หลายช่องที่เลิกทำ และคาดว่าในอนาคตจะมีการเลิกทำเพิ่มขึ้นอีก เพราะต้องลงทุนสูง รวมทั้งเทรนด์คอนเทนต์ที่เปลี่ยนจากรูปแบบ Long Form มาเป็น Short VDO เพื่อสามารถกระจายไปในช่องทางแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งการตัดเป็นหลายๆ คลิปเพื่อเพิ่มจำนวนคลิปและยอดวิวได้มากขึ้น
ปัจจุบันครีเอเตอร์ Long Form ต้องขยายไอเดียการพัฒนาคอนเทนต์ที่เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้ติดตามกลุ่มใหม่ๆ ได้มากขึ้น โดยใช้ Long Form เป็นจุดตั้งต้น และกระจายคอนเทนต์เพื่อไม่ให้จมอยู่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง โดยเลือกคอนเทนต์ในแต่ละแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มยอดวิวให้สูงมากขึ้น
– Fanclub : การชูจุดเด่นทั้งคน สัตว์เลี้ยง หรือสินค้าที่อยู่ในช่อง เพื่อสร้างฐานแฟนคลับและนำมาซึ่งการสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่ช่องขาย ซึ่งเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผ่าน Emotional จากตัวตน ความแตกต่าง หรือ Story เรื่องราวของเจ้าของช่อง ที่ทำให้คนดูแล้วอยากสนับสนุน ทั้งการซื้อสินค้าในช่อง หรือการส่งสติกเกอร์ หรือของขวัญให้
ซึ่งจากทั้ง 5 โมเดลนี้ การสร้างให้เกิดแฟนคลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าสามารถทำได้สำเร็จแล้วจะสามารถต่อยอดจากฐานแฟนคลับที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ในที่สุด
10 เช็คลิสต์เป็นอินฟลูได้อย่างยั่งยืน
คุณแอ๊ม ยังให้เช็คลิสต์ สำหรับผู้ที่อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จและสามารถยึดเป็นอาชีพในอนาคตได้ ต้องมีองค์ประกอบ 10 ข้อต่อไปนี้ ประกอบด้วย
Personality : การมีบุคลิกภาพที่ดี มีเสน่ห์ น่ามองน่าติดตาม
Uniqueness : มีตัวตนที่ชัดเจนโดดเด่น ไม่ซ้ำกับคนอื่น
Expert : มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เล่า รู้ลึก มีข้อมูลชัดเจน
Storytelling : เล่าเรื่องเก่ง การเลือกใช้คำพูด และนำ้เสียงที่ดี ชวนให้ติดตาม
Variety : ไม่ทำคอนเทนต์ที่เน้นแต่ขายของ หรือรีวิวอย่างเดียว พยายามสร้างเนื้อหาที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้คนดูเบื่อ
Original Content : การสร้างเนื้อหาให้มีความน่าสนใจ ในรูปแบบหรือสไตล์ของตัวเอง ไม่เน้นทำตามกระแส หรือลอกเลียนช่องอื่นๆ การมีออริจินัลคอนเทนต์จะทำให้ช่องมีความโดดเด่น และถูกนึกถึงได้เป็นอันดับแรกๆ แต่ถ้าไม่มีก็จะเป็นได้แค่ทางเลือก
Fanclub / Community : การสร้างฐานลูกค้าที่คอยช่วยสนับสนุน ผ่านคอนเทนต์ที่ต่อเนื่อง และต่อยอดสู่กิจกรรม หรือสร้างการมีส่วนร่วม เพิ่มความใกล้ชิดได้มากขึ้น รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อพัฒนาคอนเทนต์ได้มากขึ้น
Consistency : มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ และทำคลิปที่มีคุณภาพ
Equipment : ความพร้อมของอุปกรณ์ในการถ่ายทำ เช่น กล้อง ไฟ ฉากสำหรับ Live หรือถ่ายทำคอนเทนต์
Professional : การทำงานอย่างมืออาชีพกับแบรนด์ รับผิดชอบต่องาน ตรงต่อเวลา มีวินัย และมีอัตราการจ้างที่ชัดเจน
“ปัญหาส่วนใหญ่ของอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ มักมาจากการหาตัวตนไม่เจอ รวมท้ังปัญหาจากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่อาจจะเล่าเรื่องไม่สนุก ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่มีออริจินัลคอนเทนต์ภายในช่อง ทำให้กลายเป็นแค่ทางเลือก ซึ่งการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ สามารถหารายได้จากทุกโมเดล ไม่จำเป็นต้องเลือกโมเดลใดโมเดลหนึ่ง แต่ให้เลือกรูปแบบคอนเทนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อสามารถทำได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่ม Short VDO ที่กำลังได้รับความนิยมและมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น รวมทั้งต้องทำอย่างมีระบบ และมีแบบแผน เพื่อสามารถรักษาการตอบรับที่ดีไว้ได้ในระยะยาว ที่สำคัญต้องไม่ติดกับสำคัญจากการโฟกัสแค่ยอดวิว แต่ต้องสามารถต่อยอดมาสู่การสร้างรายได้ด้วย การมีชื่อเสียงจากยอดวิวหลักแสนหรือหลักล้าน แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ สุดท้ายก็จะไม่ยั่งยืน และต้องเลิกทำไปในที่สุด”