‘ไทยน้ำทิพย์’ เปิดโรงงานปทุมธานี ชูมาตรฐานการผลิตระดับโลก พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ตอกย้ำ​ผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “โคคา-โคล่า” เพื่อทำตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2502 โดย​รับผิดชอบ​​ 63 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ ฉลองครบ 65 ปี พร้อม​เปิดโรงงานปทุมธานีโชว์มาตรฐานการผลิตระดับโลก บนพื้นที่ 140 ไร่  7 สายการผลิต พร้อมกำลังการผลิตกว่า 180 ล้านยูนิตเคสต่อปี

พร้อมด้วย​กระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน และยังเป็นโรงงานที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย MBR (Membrane Bio Reactor) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและล้ำสมัยที่สุดในเวลานี้ ตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรจุภัณฑ์  เพื่อวางรากฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย

คุณปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน ​ไทยน้ำทิพย์ ​กล่าวว่า บริษัทได้วางโรดแม็พ 2030 เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกมิติธุรกิจ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ และสังคม โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการผลิตและซัพพลายเชนที่จะโฟกัสผ่าน 3 เสาหลัก คือ

Water : การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของทุก​ผลิตภัณฑ์ของไทยน้ำทิพย์ โดยเน้นการขับเคลื่อนผ่านแนวทาง 3R  ทั้งการลดการใช้น้ำ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการบำบัด (Recycle)

Climate : การมีส่วนรับมือกับวิกฤตสภาพ​อากาศ โดยมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนทั้งในกระบวนการผลิต และการขนส่งตลอดทั้งซัพพลายเชน

Packaging : บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ผ่านการจัดการด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ผ่านแนวทางทั้ง Reduce ลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต Redesign การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้นำไปรีไซเคิลได้ง่าย รวมทั้งสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Collection & Recycling) โดยจะขับเคลื่อนให้คล้องไปกับวิสัยทัศน์​​ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ทั่วโลก ทั้งการทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดสามารถรีไซเคิลได้ภายในปีหน้า การใช้ Recycle Content ในบรรจุภัณฑ์ได้ราว 50% รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเก็บกลับผลิตภัณฑ์ได้เท่าที่ขายได้

ด้าน ​คุณเทอดพงษ์ ศิริเจน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ ไทยน้ำทิพย์ กล่าวว่า  ปัจจุบันไทยน้ำทิพย์ มีโรงงานผลิตทั้งหมด 5 แห่ง ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงได้รับการยกย่องในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคใต้ ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยปัจจุบันไทยน้ำทิพย์มีสายการผลิตที่ทันสมัยถึง 21 สาย ​ผ่านกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นกว่า 450 ล้านยูนิตเคสต่อปี

ขณะที่การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนผ่านทั้ง 3 เสาหลัก ที่ ‘ไทยน้ำทิพย์’ ได้ดำเนินการแล้วในปัจจุบัน ประกอบด้วย

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งแนวทาง​ที่ไทยน้ำทิพย์ใช้เพื่อลดการใช้น้ำ (Reduce) ผ่านการพัฒนา​แอปพลิเคชัน “บำรุง” ​แพลตฟอร์มคำนวณการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่พัฒนาโดยบริษัทไทย พร้อมวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด​ (Reuse) โดย​นำน้ำที่ไม่เกี่ยวข้องในการผลิตเครื่องดื่มมาใช้ประโยชน์หลายๆ ทาง รวมทั้งนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วมาบำบัด (Recycle) เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ติดตั้งระบบ Membrane Bio Reactor บำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบ R.O. (Reverse Osmosis) เพื่อนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดจนสะอาดได้มาตรฐานในการกลับมาใช้ใหม่​ในขั้นตอนการผลิต (ไม่ใช่วัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องดื่ม) ซี่งการบริหารจัดการทรัพยากการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้​ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2020 -2023) สามารถลดการใช้น้ำจากทั้ง 5 โรงงานได้กว่า 907 ล้านลิตร หรือเทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 363 สระ

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานครบทั้ง 5 แห่ง คือ โรงงานรังสิต โรงงานปทุมธานี โรงงานนครราชสีมา โรงงานขอนแก่น และโรงงานลำปาง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดรวม 12.6242 MWp หรือประมาณ 10% ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดได้สูงสุดราว 15-30% ผ่านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ว่างภายในโรงงาน หรือการลงทุนโซลาร์แบบลอยน้ำเพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากนี้ ยังนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในรถยกสินค้า (EV Forklift) ในคลังสินค้า และรถขนส่งสินค้า (EV Truck) อีกด้วย พร้อมนำระบบ Telematics มาใช้บริหารจัดการการขนส่ง ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกล้อง AI ช่วยมอนิเตอร์ความเสี่ยงของพฤติกรรมการขับขี่ เพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถ ในปีพ.ศ. 2566 สามารถลดการใช้พลังงานได้ 34.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

การขับเคลื่อนบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 

​บรรจุภัณฑ์ของไทยน้ำทิพย์ในปัจจุบัน มีการลดปริมาณพลาสติก (Reduce)ในบรรจุภัณฑ์ผ่านการ lightweight โดยยังคงรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ ​ทำให้ไทยน้ำทิพย์สามารถลดการใช้เม็ดพลาสติกลงได้กว่า 7,645 ตัน นับจากปี 2009 ทั้งการลดพลาสติก PET ในบรรจุภัณฑ์โค้ก 1.25 ลิตร จาก 38 กรัม เหลือเพียง 34 กรัม และจากขวดน้ำทิพย์ จาก 16.5 กรัม เหบือเพียง 10.7 กรัม

รวมทั้งการ Redesign ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการเริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ rPET ในโค้กลิตร เมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งขยายมาสู่แพกเกจ 300 และ 51o มิลลิลิตร โดยมีแผนจะเพิ่มการใช้ rPET ในบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ World Without Waste รวมทั้งการเปลี่ยนขวดสไปรท์จากขวดสีเขียวให้เป็นขวดใส เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มของไทยน้ำทิพย์ไม่มีขวดที่เป็น PET สี อยู่ในพอร์ตสินค้าแล้ว ขณะที่การขับเคลื่อนด้าน Collection & Recycling ในขวดพลาสติกและกระป๋องบรรจภัณฑ์​ เพื่อ​สร้างวงจรปิดของบรรจุภัณฑ์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทย และกระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันอัตราการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มขวด PET ที่สามารถเก็บกลับได้มากกว่า 50% ที่จำหน่าย ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 40%

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ได้​ลงทุนเพื่อวางรากฐานด้านความยั่งยืนให้ธุรกิจไปกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการนำ​พลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในระบบการผลิต รวมทั้งการนำร่องเปลี่ยนผ่านการกระจายสินค้าด้วย EV Truck และการนำ ​EV Forklift มาใช้ภายในโรงงาน ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายลงทุนเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนตามโรดแม็พด้านความยั่งยืน รวมทั้งแนวทางในการขับเคลื่อน Decarbonization​ เพิ่มเติมภายในสโคปที่ 3 เช่น การพัฒนาตู้แช่สินค้า แบบ Non-CFC ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น เพื่อนำไปทดแทนตู้เดิมที่มีการกระจายไปยังร้านตัวแทนจำหน่ายที่มีกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ​ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนสำหรับการขับเคลื่อ​นเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net  Zero พร้อมทิศทางในการเคลื่อน เพื่อการประกาศเป็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องไปกับภาพใหญ่ของ Coca-Cola ที่ประกาศไว้ในระดับโลก”​  คุณปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์  และ ​คุณเทอดพงษ์ ศิริเจน กล่าวทิ้งท้าย​ร่วมกัน

Stay Connected
Latest News