เป้าหมายที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นเฉลี่ยไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสในปี 2015 ส่อเค้าล้มเหลว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งความเชื่อมั่นต่อการออกนโยบายที่เหมาะสม เพียงพอและตอบโจทย์ของภาครัฐ ต่อความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จตามความตกลงปารีส
การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน โดย SCB EIC วิเคราะห์จากการประชุม COP28 และการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกปี 2024 พบ 3 แนวทาง เพื่อช่วยเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน ได้แก่
1. Move faster : เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วและแรงขึ้น เช่น การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนโลกขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 หรือภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี
2. More inclusive : ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การผลักดันการลงทุนไปยังประเทศ ภูมิภาคหรือชุมชน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด
3. Beyond net zero : ต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย เช่น การเร่งผลักดันการเกษตรรูปแบบใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านไร่ภายในปี 2030
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่น จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งกลุ่มที่อาจได้รับอานิสสงส์ให้เติบโตได้มากขึ้น เช่น 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานหมุนเวียน 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า 4. กลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสีย 5. กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุฐานชีวภาพ และ 6. กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ
ขณะที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่มากขึ้น ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น น้ำมันและก๊าซ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูง อาทิ เกษตร เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ และ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน
เร่งเปลี่ยนผ่านสู่ Decarbonization
ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ จึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ทั้งจากการที่บริษัทหรือประเทศต่างๆ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero) ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ของคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ จะเข้ามาเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อวัตถุดิบและบริการมากขึ้น โดยข้อมูลของกลุ่มความร่วมมือด้านการติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (Net zero tracker) พบว่า ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ก.ค. 2024) มีประเทศที่ต้ังเป้าหมาย Net Zero แล้ว 149 ประเทศ ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้ มีสัดส่วน GDP สูงถึง 92% ของ GDP โลก นอกจากนี้ ยังพบว่า จากบรรดาบริษัทจดทะเบียน ที่มีรายได้มากที่สุดของโลก จำนวน 1,978 แห่งนั้น มีสัดส่วนเกินครึ่ง หรือ 59% ที่มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero แล้ว
จึงเป็นหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องมุ่งขับเคลื่อนเรื่อง Decarbonization ในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ตั้งแต่การเริ่มประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (GHG Emission) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction) วางกลยุทธ์หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลด GHG Emission และขับเคลื่อนตามกระบวนการที่วางไว้ รวมทั้งมีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ รวมทั้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสสงส์ในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งทุนกลุ่ม Green Finance ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
ขณะที่การสนับสนุนของภาครัฐ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านของเอกชน อาจทำได้ใน 2 แนวทาง คือ 1. ปรับเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วขึ้นจากปี 2065 เป็น 2050 เพื่อให้สอดคล้องเป็นเป้าหมายเดียวกับแนวทางโลก เพราะหากไม่ปรับจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ช้ากว่า 123 ประเทศ ถึง 15 ปี และมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากวงจรการค้าโลก เพราะประเทศหรือบริษัทต่างๆ ที่มีเป้าหมายจะบรรลุ Net Zero เร็วกว่าปี 2050 ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้าหรือบริการจากประเทศที่ตั้งเป้าหมายไม่ช้าไปกว่าเป้าหมายที่ประเทศหรือบริษัทของตนประกาศไว้
2. เร่งออกมาตรการสนับสนุน ให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งมาตรการจูงใจ สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมแต่ขาดแรงจูงใจ เช่น กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ การมอบเครดิตภาษีให้ผู้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมท้ัง การออกมาตรการช่วยเหลือ สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ขาดทรัพยากรเพื่อปรับตัว เช่น สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที