‘เซ็นทรัลทำ’ เล็งปั้นธุรกิจเพื่อสังคมสู่แบรนด์ระดับโลก พร้อมเปิดตัว ‘good goods x Moo Bangkok’​ สร้างมูลค่าเพิ่ม ‘ผ้าย้อมคราม’ บ้านกุดจิก สกลนคร

“แม้พื้นฐานธุรกิจของเราจะเป็น Social Enterprise (SE) เป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่วิธีคิดในการขับเคลื่อนแบรนด์ให้เติบโต ไม่แตกต่างจากการสร้างแบรนด์ทั่วไป เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องลงแข่งในตลาดที่มีคู่แข่ง มีแบรนด์ต่างๆ ที่หลากหลาย ความแข็งแรงของแบรนด์ ดีไซน์ ฟังก์ชั่น รวมไปถึงการผลักดันให้แบรนด์เติบโตต่อเนื่องในทุกปี  ล้วนมีความสำคัญ เพราะถ้าเราคิดแค่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งตอนนี้เราช่วยได้แล้ว แล้วเราจะพอแค่นี้ จบแค่นี้ ก็ไม่ใช่การช่วยเหลือที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” 

แนวคิดในการบริหารแบรนด์ ‘good goods’ ของ คุณ​พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ​ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ โครงการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อสนับสนุนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำกำไรที่ได้ท้ังหมดกลับไปพัฒนาชุมชน ​ทำให้นอกจากจะช่วยเหลือคุณภาพชีวิตให้ผู้คนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังช่วยรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปด้วย

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ good goods คือ การเติบโตไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือขยับจากการเป็นแบรนด์ไทย หรือแบรนด์เพื่อสังคมไปสู่การเป็น Global Brand  ด้วยการส่งสินค้าภายใต้แบรนด์ good goods ไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างประเทศ โดยจะนำร่องจาก 3 ประเทศ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้าน ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยเฉพาะความนิยมของนักท่องเที่ยวจีนที่มีต่อ​​​ good goods  จนติดอันดับ Top 5 สถานที่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเช็คอินเมื่อมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

“สินค้านำร่องที่เราพยายามพัฒนาเพื่อ​ส่งไปขายต่างประเทศ​ จะเริ่มด้วย​กลุ่มของกิน เช่น ​ขนมขบเคี้ยว หรือซอสปรุงรส​ ซึ่งเริ่มมีตัวแทนจำหน่ายในจีนติดต่อเข้ามาแล้ว แต่เรา​ต้องการ​พัฒนาสินค้ารวมทั้งรสชาติให้มีความพร้อมมากกว่านี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้​​โดยเร็ว ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มโดยเฉพาะกาแฟ และโกโก้ ถือเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพระดับสูงไม่แพ้ต่างประเทศ แต่เรายังขาดเรื่องการตลาด และการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะต้องพยายาม​พัฒนาแบรนดิ้งกาแฟไทย โกโก้ไทย ให้เป็นที่รับรู้เพิ่มมากข้ึน เช่นเดียวกับชาไทย ที่สามารถสร้างแบรนดิ้งได้อย่างชัดเจน โดยตั้งเป้า​ปั้นแบรนด์สู่ระดับ Global​ ได้สำเร็จ​ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้”​

ส่วน​กลุ่มสินค้า​ Fashion ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า จะเน้นทำตลาดในประเทศ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปเป็นของฝาก รวมทั้งจะมุ่งร่วมมือกับกลุ่ม Thai Designers เพื่อเป็นตัวกลางในการต่อยอด​สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่านการเติมดีไซน์ที่​มีความร่วมสมัย สวยงาม และตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ​ผ่านการพัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ๆ ราวปีละ 4-6 คอลเลคชั่น ซึ่งมีความโดดเด่น​ทั้งการสนับสนุนชุมชน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ​ใช้วัสดุจากการรีไซเคิล ตามแนวทาง Circular Economy เป็นต้น

คุณพิชัย มองว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ good goods มีความแข็งแรงคือ การสร้างความแตกต่างให้แบรนด์ ทำให้ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการเพิ่มสินค้าในกลุ่มเครื่องประดับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีแหล่งและกระบวนการผลิตจิวเวลรี่ที่มีคุณภาพทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย รวมทั้งใน กทม. โดยจุดเด่นจะเป็นเครื่องประดับที่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน มีฟังก์ชันใช้งานที่หลากหลายและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้

ต่อยอดผ้าครามไทย สู่คอลเลคชั่น good goods x MOO Bangkok

ล่าสุด good goods  ได้เปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่อย่าง good goods x Moo Bangkok ​ ภายใต้ความร่วมมือของดีไซน์เนอร์ไทยโดย​ คณหมู- พลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป  เพื่อ​​สร้างสรรค์สินค้าใหม่ร่วมกับ 3 ชุมชน จากโครงการเซ็นทรัล ทำ ด้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าครองวิถี และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนางาม ​​ในการผสมผสานเอกลักษณ์​ผ้าย้อมครามแบบดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยในสไตล์ Urban ready to wear ภายใต้คอนเซ็ปต์ Eternal Sunshine สะท้อนความสดใส รอยยิ้ม และพลังบวกจากความสุขที่เรียบง่ายในชีวิต โดยดึง​เอกลักษณ์ความเป็นไทยมาถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้า สื่อถึงบรรยากาศอบอุ่นที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มให้กัน

อีกหนึ่งความพิเศษของคอลเลกชันนี้ คือ การสนับสนุนงานฝีมือไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทุกเทคนิคที่ใช้มาจากกระบวนการธรรมชาติ ทั้งการย้อมสี การเข็นฝ้ายด้วยมือ และการมัดย้อมเส้นใย และได้​นำผ้า zero waste หรือเศษผ้าที่ถูกทอมาใช้เป็นดีเทลในชุดต่างๆ ซึ่งปรากฏในแฟชั่นไอเทมที่สวมใส่ง่าย เช่น เสื้อฮาวาย กางเกงขาสั้น และแจ็กเกต พร้อมสอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปในดีไซน์ ผ่านลวดลายเพสลีย์ที่พิมพ์บนผ้าช้าง ซึ่งเป็นคีย์ลุคหลักของคอลเลกชัน รวมถึงเสื้อยืดจากผ้ามัดย้อมที่มีการแต่งแต้มสีสันให้เข้ากับความสนุกสนานแบบไทยๆ เพื่อยกระดับดีไซน์สินค้าไทยให้มีความงามร่วมสมัย  ผ่านการออกแบบเป็น unisex  สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย พร้อมสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ทั้งยังสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสู่ระดับสากล รายได้ทั้งหมดจากคอลเลกชันนี้จะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการ เซ็นทรัล ทำ ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ

 

“เซ็นทรัลทำ ร่วมพัฒนา​ศูนย์​เรียนรู้ทอผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร เพื่อเป็นโครงการนำร่องสืบสานต่อยอดแฟชั่นวิถีไทย สร้างคุณค่าผ่านดีไซน์ให้​งานฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ผ่านการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 1. โครงการป่าให้สี ปรับปรุงผืนป่า สู่ผืนผ้า เพื่อปรับปรุงป่าชุมชนให้เป็นพื้นที่รวมพันธุ์ไม้ให้สีย้อมผ้าของชุมชน พื้นที่ 18 ไร่ เพื่อ​รวบรวมข้อมูลพันธุ์ไม้ทางพฤกษศาสตร์เป็นฐานข้อมูล ทำให้ชุมชนรู้จักพันธุ์ไม้ของตัวเอง​และยังเชื่อมโยงสู่การอนุรักษ์ป่าชุมชนและการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบของชุมชนด้วย 2. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดพันธุ์ไม้จากพื้นที่ป่าให้สี มาทดสอบการให้สีย้อมผ้า จนสามารถพัฒนาได้ถึง 8 เฉดสี เช่น สีเหลืองจากเพกา สีชมพูจากมะหาด ​สีแดงจากฝาง ​สีเขียวจากไผ่กิมซุง ​สีส้มจากยอปา สีม่วงจากสัก สีน้ำตาลจากโคลงเคลงป่า และสีนำเงินจากคราม รวมทั้ง​ต่อยอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้สีที่มีความสม่ำเสมอและผลิตได้จำนวนมาก จนสามารถต่อยอดให้เกิดโปรเจ็กต์​  ​ good goods x Moo Bangkok ได้จริง และ ​ 3.ด้านการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ชุมชนต่างๆ ในการเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเเพื่อมาเรียนรู้การทอผ้าย้อมครามหรือท่องเที่ยวในชุมชน  ผ่านการจัดอาหารสำรับภูไทบ้านกุดจิก ขนมและเครื่องดื่มจากข้าวฮาง การต้อนรับดูแลนักท่องเที่ยว กิจกรรม workshop ย้อมผ้าสีธรรมชาติจากป่าให้สี การจัดแพ็กเกจและแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการขยะในชุมชนด้วย” คุณพิชัย กล่าว

ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มแฟชั่น ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่ทำรายได้ให้ good goods ด้วยสัดส่วนราว 50% ตามมาด้วยกลุ่มของกิน และกาแฟ ด้วยสัดส่วน 30% ที่เหลืออีก 20% เป็นสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เช่น เครื่องประดับ เครื่องหอม รวมทั้งกำลังจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มจิวเวลรี่มาทำตลาดในช่วงปลายปี ขณะที่ยอดขายหลักราว 70% มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 30% มาจากกลุ่มคนไทย โดยในสิ้นปีที่ผ่านมาทำรายได้รวม 200 ล้านบาท และตั้งเป้าเติบโตเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 400 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ รวมท้ังการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเติมในพอร์ตโฟลิโอทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

Stay Connected
Latest News

CPAC ร่วมกับ SUPALAI ขึ้นแท่น No.1 ผู้นำนวัตกรรมก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม ด้วยคอนกรีตกำลังอัดสูง CPAC แข็งแรง-ทนทาน ลดคาร์บอนฯ สูงสุด สู่มาตรฐานใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน