SCGP ​เพิ่มบริการ Private Label ระบุ Emission บน​ผลิตภัณฑ์​ ​พร้อมใช้ ‘ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ ช่วยลูกค้าคำนวณสโคป 3

SCGP ชูกลยุทธ์ด้าน ESG เร่งลด​ก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพิ่มบริการ​ ‘Private declaration Label’  ระบุ CFP หรือปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ไว้บน​​ผลิตภัณฑ์ พร้อมพัฒนา ‘ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ ช่วยคำนวณการปลดปล่อยได้เร็วขึ้น เพิ่มศักยภาพการจัดการ​ Scope 3 ของลูกค้า ตั้งเป้าได้​รับรอง CFP ​สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยทั้ง 100% ภายในปี 2027 

คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP เร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจ​ทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ​เพื่อ​สร้างความยืดหยุ่น และการเติบโตของธุรกิจอย่างมีคุณภาพ ผ่าน 4 แกนสำคัญ ทั้ง Business Model Transformation, People Transformation, Digital Transformation รวมทั้ง Sustainability Transformation ซึ่งถือเป็นแนวทาง​ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด Inclusive Green Growth ​เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์คุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผ่านการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้  SCGP ​กำหนดเป้าหมาย​ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยตั้งเป้าหมายเบื้องต้น​ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction) ลดลง 25% ภายในปี  2030 ​จากฐานในปี 2020 ที่มีการปลดปล่อย (Emission) ราว 4.99 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ส่วนในสิ้นปีนี้คาดว่าจะลด GHG ในสโคป 1 และ 2 ให้เหลือราว 4.19 -4.2 ล้านต้น CO2e หรือในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สามารถลดการปลดปล่อยลงได้​กว่า  15.9% หรือประมาณ 1 ล้านตัน CO2e  ขณะ GHG ​ในสโคป 3 ​มีสัดส่วน 34% หรือราว 2 ล้านตัน CO2e

 

“การขับเคลื่อน GHG Reduction ของ SCGP ​ทำผ่าน​ 2 มิติ คือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตมากขึ้น เช่น พลังงานโซลาร์ ไบโอแมส แทนเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนสูง รวมท้ังการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อ​เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนการสนับสนุนคู่ค้าและลูกค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”​

นอกจากนี้ SCGP  ตั้งเป้าให้สินค้า​​​ในกลุ่ม​บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ผลิตในประเทศไทยสามารถได้รับการรับรอง CFP ทั้งหมด โดย ล่าสุด  ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) จาก​องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์พลาสติก จำนวน 128 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ในกลุ่ม B2B (จากวัตถุดิบจนผลิตภัณฑ์ออกจากโรงงาน) จำนวน 109 รายการ และกลุ่ม B2C ที่รับรองตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์  19 รายการ  รวมทั้งการรับรองจากกระบวนการ​พิมพ์และการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม 16 กระบวนการ ซึ่งการได้รับรองด้าน Process จะช่วยย่นระยะเวลาในการขอรับรอง CFP ในอนาคตให้ลดลงได้กว่า 50% หรือจะใช้ระยะเวลาในการ​​ขอรับรองคาร์บอนของผลิตภัณฑ์แต่ละรายการประมาณ 3 เดือน จากเดิมที่ต้อง​ใช้เวลาราว 6 เดือน 

“ในฐานะที่บรรจุภัณฑ์เป็นสโคป 3 ของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ SCGP ได้ต่อยอด ​พัฒนา​ ‘ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์’ (Private Declaration Label) เพื่อแสดงการปลดปล่อยคาร์บอนของบรรจุภัณฑ์ ​รวมทั้งการใช้ ‘ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ เพื่อช่วยคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอน​ที่แม่นยำ ง่าย และรวดเร็ว สำหรับเป็นโซลูชันให้​ลูกค้า ​พร้อมเอกสารรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิง ซึ่งลูกค้าสามารถนำค่า CF (Carbon Footprint) จาก​ SCGP ไปบวกต่อจากกระบวนการอื่นๆ เพื่อทราบการปลดปล่อยสุทธิของตัวเองได้ หรือควบคุมการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐที่มีการบังคับใช้มากขึ้นในหลายประเทศ สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการขาย การเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ให้ลูกค้าส่งออกกลุ่มต่างๆ อีกทั้งยัง​ต่อยอดไปสู่การพัฒนาและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นับเป็นการช่วยเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย”

SCGP ตั้งเป้าหมายพัฒนาจุดแข็งด้านดีไซน์และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทุกรายการมีความสามารถในการลด Emission ได้​มากขึ้นไม่ต่ำกว่า 2% ​​เพื่อยกระดับจากการรับรองฉลาก CFP หรือ ฉลากเขียว ไปสู่การรับรอง CFR (Carbon Footprint Reduction) หรือฉลากทอง ในการรับรองครั้งใหม่​ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ​ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบ​บรรจุภัณฑ์กลุ่มโพลีเมอร์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม​เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาพลาสติกหลายชั้นมาเป็น Mono Material หรือใช้วัสดุเดียว และสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ รวมทั้งการ​ส่งเสริมกระบวนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่เป็นกลุ่ม Recycle Content ให้มีสัดส่วนเพิ่มเข้ามาในระบบให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในซัพพลายเชน​ โดยเฉพาะ​ SME เพื่อปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน​เข้ากับบริบทใหม่ของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

 

“SCGP เดินหน้าการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Inclusive Green Growth) รวมถึงการศึกษาและติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับกับมาตรการใหม่ (New Regulations) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่จะมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” 

Stay Connected
Latest News